‘ดูไบ’ เหยื่อฟองสบู่อสังหาฯ / วิกฤตดูไบถล่มตลาดทุนโลกยับ / ผ่าขุมทรัพย์ และเจ้าหนี้ ‘ดูไบ’

24862

การเคลื่อนไหวอันน่าประหลาดใจของ ดูไบ ในการปรับโครงสร้างบริษัทที่เป็นดั่งเพชรเม็ดงาม พร้อมประกาศขยายเวลาชำระหนี้ของบริษัท ดูไบ เวิลด์ สร้างความตื่นตะลึงแก่ผู้คนในแวดวงธนาคารและผู้บริหารในดูไบ ซึ่งดูเหมือนเพิ่งหายจากอาการอกสั่นขวัญแขวน สืบเนื่องจากวิกฤติการเงินโลก

คำประกาศดังกล่าว ทำให้บรรยากาศใน ดูไบ สะดุดลง หลังจากช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีเครื่องชี้หลายประการว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง จากภาวะตกต่ำเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้ดูไบไม่ได้ผลิตน้ำมันในปริมาณมากนักก็ตาม แต่รายได้จากการขายน้ำมันก็หล่อเลี้ยงรัฐแห่งนี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดูไบ เป็นศูนย์กลางของความเฟื่องฟูอันน่าละลานตาในอ่าวเปอร์เซีย โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนปี 2551 เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทะยานแตะระดับ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลต่อเนื่องให้มีการลงทุนเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และการใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลินในนครรัฐแห่งนี้

ในช่วงที่ ดูไบ เรียกทั้งเสียงวิจารณ์และชื่นชมครั้งใหญ่ เมื่อเปิดตัวโรงแรมมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ (660 ล้านบาท) บนเกาะรูปต้นปาล์มที่รังสรรค์โดยฝีมือมนุษย์เมื่อปลายปี 2551 นั้น วิกฤตการเงินโลกก็เริ่มส่งผลกระทบมาถึง ดูไบ ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์เริ่มดิ่งลง ความวุ่นวายที่ตามมาอยู่ในรูปของการที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และเอกชน พากันชะลอหรือยกเลิกโครงการ ลดคนงาน และหยุดชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ

เมื่อไม่มีแหล่งรายได้จากน้ำมันเข้ามามากนัก ดูไบจึงต้องพึ่งพาตลาดตราสารหนี้ เพื่อระดมทุนไปใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และชำระหนี้ที่กู้ยืมมาก่อนหน้านี้ อันเป็นเงินก้อนที่นำไปอุดหนุนการเติบโตจนพุ่งลิ่วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ประเมินว่าดูไบและบริษัทของรัฐบาลมีหนี้ที่ต้องชำระในช่วง 3 ปีหน้า เกือบ 50,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถชำระหนี้ระหว่างประเทศได้ครบจำนวนตามกำหนด พร้อมยื่นมือเข้าช่วยเหลือทางการเงินสำหรับบริษัทของรัฐบางแห่ง

กระนั้น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่เป็นของรัฐ ยังค้างชำระผู้รับเหมาระหว่างประเทศเป็นเงินก้อนใหญ่ โฆษกสมาคมที่ปรึกษาและวิศวกรรมในกรุงลอนดอนเผยว่า บริษัทดูไบยังค้างชำระเงินถึง 200 ล้านปอนด์ (11,000 ล้านบาท) เฉพาะกับผู้รับเหมาะอังกฤษชาติเดียว ซึ่งตัวเลขนี้นับว่าลดลงแล้วจาก 400 ล้านดอลลาร์ เมื่อตอนต้นปี

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ และแม้แต่ผู้บริหารในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับของ เมื่อปี 2551 เพราะซัพพลายที่ยังเหลือค้างอยู่ตั้งแต่ช่วงเฟื่องฟู

บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ คอลลิเออร์ อินเตอร์เนชันแนล ชี้ว่าแม้มีการชะลอหรือยกเลิกโครงการไปหลายร้อยในปีนี้ แต่ก็คาดว่าการก่อสร้างใหม่ๆ จะทำให้พื้นที่อาคารสำนักงานของดูไบเพิ่ม ขึ้น 2 เท่าภายในปี 2554 ขณะที่การศึกษาพบว่าอัตราการครอบครองอาคารสำนักงานในตึกที่สร้างเสร็จเมื่อเร็วๆนี้ อยู่ที่ระดับเพียง 41% พร้อมประเมินว่าเมื่อช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ราคาพื้นที่สำนักงานและที่อยู่อาศัยลดลง 58% และ 43% ตามลำดับ

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้เรื่องยุ่งเหยิงเข้าไปอีก เพราะ ชีคโมฮัมเหม็ด เจ้าผู้ครองนครดูไบ ได้ปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ โดยดูเหมือนได้มีการกันผู้บริหาร 3 คน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆออกไป จากนั้นก็ปลดผู้บริหารดาวรุ่งที่เพิ่งถูกดึงตัวเข้าไปดูแลหน่วยงานด้านการ เงินของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หากถามความเห็นของชาวดูไบ เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเผชิญหลังจากเศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วมา 6 ปี ชาวดูไบบางคนกลับไม่รู้สึกประหลาดใจ อย่างนักธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอรายหนึ่งที่กล่าวว่า แม้รัฐบาลไม่ปริปากเรื่องนี้และผู้คนก็ไม่ได้พูดถึง แต่ข่าวเกี่ยวกับปัญหาของดูไบไม่ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับคนที่นี่เลย เพราะผู้คนวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมยกตัวอย่างค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นมา 2 ครั้ง นับจากเดือนกรกฎาคม แม้นักธุรกิจรายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ก็ทราบมาว่าหลายคนในธุรกิจดังกล่าวหายตัวไปในชั่วข้ามคืน โดยหากไปที่สนามบินจะพบว่ามีรถยนต์ถูกจอดทิ้งไว้มากมาย

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารจากอีกบริษัทหนึ่งกล่าวว่า ดูไบ ก็เหมือนหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเงินโลก แต่ข่าวลือที่ว่ามีรถยนต์ 5,000 คัน ถูกจอดทิ้งไว้ที่สนามบิน ซึ่งมีที่จอดรถแค่ 1,950 คัน เป็นเรื่องไม่จริง

ดูไบ เหยื่อฟองสบู่อสังหาฯ
ปรียา เทศนอก
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2552

http://www.bangkokbiznews.com

####

วิกฤตดูไบถล่มตลาดทุนโลกยับ

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โพสต์ทูเดย์

ตลาดทุนโลกสะเทือนหนัก ทอง-น้ำมัน-หุ้น จูงมือดิ่งเหว หลัง ดูไบ เวิลด์ กองทุนมหาเศรษฐียูเออี ผิดชำระหนี้ นักวิเคราะห์ชี้วิกฤตสินเชื่อยังไม่หนีไปไหน

ตลาดทองยันตลาด น้ำมันผวาหนักเมื่อวานนี้ จากข่าวร้ายการผิดชำระหนี้ของ ดูไบ เวิลด์ กองทุนมหาเศรษฐีของดูไบ หลังจากที่ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ดูไบแตกกระจุย อันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ดิ่งเหวลงมากกว่า 50%

นอกจากนี้ นักลงทุนได้เทขายทิ้งทองคำอย่างรุนแรงวานนี้ โดยราคาดิ่งเหวไปกว่า 40 เหรียญสหรัฐ ในวันเดียว ปิดตลาดฮ่องกงที่ระดับ 1,145-1,146 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ จากราคาเปิดที่ 1,186-1,180 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ทั้งที่เพียงก่อนหน้านั้น 1 วัน ราคาทองเพิ่งจะพุ่งไปทำสถิติที่ 1,195.13 เหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ในส่วนราคาน้ำมันโลกในการซื้อขายที่ตลาดเอเชียเมื่อวานนี้ ราคาก็ลดลงไปมากกว่า 3.77 เหรียญสหรัฐ ลงไปอยู่ที่ 74.18 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ด้านตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความวิตกกังวลต่อวิกฤตสินเชื่อรอบใหม่ โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นดัชนี นิกเกอิหล่นลงไปถึง 3.22% ไปอยู่ที่ 9,081.52 จุด ส่วนดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงหล่นลงไปถึง 4.84% ไปอยู่ที่ 21,134.50 จุดแล้ว

ชี ค อาห์เหม็ด บิน ซาอีด อัล มัคทูม ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายสูงสุดของรัฐดูไบ ได้ออกแถลงการณ์ให้ความเชื่อมั่นต่อบรรดาเจ้าหนี้ว่า การประกาศขอเลื่อนชำระหนี้บางส่วนจากทั้งหมด 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ของ ดูไบ เวิลด์ ออกไป 6 เดือนนั้น ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว

ทางด้าน โรเบิร์ต เรนนี นักวางยุทธศาสตร์การลงทุน ให้ความเห็นว่า การประกาศเลื่อนชำระหนี้ของดูไบในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าวิกฤตการเงินนั้นยังไม่สิ้นสุด และเป็นสิ่งที่เตือนว่า วิกฤตสินเชื่อนั้นแค่ถูกทำให้ลืมไปเท่านั้น แต่จริงๆแล้วปัญหานี้ไม่ได้หายไปไหน

ทั้งนี้ เอพีรายงานว่า ดูไบ เวิลด์ ได้ขอให้เจ้าหนี้เลื่อนการชำระหนี้บางส่วนของหนี้ถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ออกไปจนถึงเดือน พ.ค.ปีหน้า ซึ่งรวมถึงหนี้จากพันธบัตรอิสลามมูลค่า 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ของบริษัท นัคฮีล ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือของดูไบ เวิลด์ ที่จะต้องกำหนดชำระคืนในวันที่ 14 ธ.ค.นี้

ด้านบริษัทจัดอันดับเครดิตมูดี้ส์ และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ได้ตัดสินใจลดอันดับเครดิตบริษัทดูไบ เวิลด์ ลงมาที่่ระดับจังก์แล้ว

การประกาศเลื่อนดังกล่าวยังทำให้เกิดความวิตกว่า ภายใน 6 เดือนดังกล่าว ดูไบ เวิลด์ จะมีความสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ และอาจจะมีธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกที่จะต้องพบกับความสูญเสีย ครั้งใหญ่อีกครั้ง

เอพีรายงานว่า เอชเอสบีซีและสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในอังกฤษ อาจจะพบความสูญเสียมหาศาล นอกจากนั้น ก็มีธนาคาร ซูมิโตโม เอ็มเอฟเจ ธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของญี่ปุ่น รวมอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ด้วย

ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ ยืนยันว่า สถาบันการเงินเลือดโสมที่เข้าไปมีธุรกรรมกับดูไบ เวิลด์นั้น มีมูลค่าอยู่ราว 88 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทก่อสร้างจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในดูไบ ก็อาจอยู่ในกลุ่มที่เสียหายด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ดูไบ เวิลด์ ซึ่งเป็นกองทุนความมั่นคงแห่งชาติของรัฐดูไบ ได้เริ่มโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์สะท้านโลกหลายโครงการ ทั้งโครงการก่อสร้างเกาะรูปปาล์มที่เนรมิตขึ้นใหม่ด้วยมือมนุษย์ ไปตลอดจนถึงอาคารบูร์จ อาจี ซึ่งเป็นอาคารสูงที่สุดในโลก ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และต้องถูกพักการก่อสร้างไว้ในขณะนี้

####

ผ่าขุมทรัพย์/เจ้าหนี้ ‘ดูไบ’

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โพสต์ทูเดย์

news_img_88700_1

ดู ไบ รัฐที่เคยได้ชื่อว่ามั่งคั่งที่สุดใน 7 รัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กำลังสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกกับภาวะถังแตก และขอเลื่อนพักชำระหนี้ออกไป 6 เดือน

รายชื่อเหล่านี้คือบรรดาสินทรัพย์มหาศาลส่วนหนึ่งที่มาพร้อมกับภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับ

ขุมทรัพย์

– โครงการอสังหาริมทรัพย์ “ปาล์ม จูไมราห์” บนเกาะที่เนรมิตเป็นรูปต้นปาล์ม โครงการที่สำเร็จไปแล้วขณะนี้มีมูลค่ารวม 1.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.18 แสนล้านบาท)

– เมืองใหม่ “จูไมราห์ การ์ เดนส์” มูลค่า 9.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.23 ล้านล้านบาท)

– โรงแรม 7 ดาว “แอตแลนติส เดอะ ปาล์ม” มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.1 หมื่นล้านบาท)

– แหล่งช็อปปิ้ง “ดาวน์ทาวน์ บูร์จ ดูไบ” กับห้างสรรพสินค้า 1,200 แห่ง รวมมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6.8 แสนล้านบาท)

– ตึกสูงที่สุดในโลก 160 ชั้น “บูร์จ ดูไบ” มีกำหนดจะเปิดตัววันที่ 4 ม.ค. 2553 มูลค่าการก่อสร้าง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) โดยเป็นส่วนหนึ่งของดาวน์ทาวน์ บูร์จ ดูไบ

– สวนสนุกดูไบแลนด์ มูลค่า 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.17 ล้านล้านบาท)

– ตึกระฟ้า นาคีล ทาวเวอร์ และท่าเรือนาคีล ฮาร์เบอร์ มูลค่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 9.52 แสนล้านบาท)

เจ้าหนี้ที่มีการเปิดเผย

– ธนาคารมิซูโฮ ในญี่ปุ่น 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3,400 ล้านบาท)

– ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ในญี่ปุ่น 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,800 ล้านบาท)

– ธนาคารในอังกฤษหลายแห่งรวมกัน 4.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.68 ล้านล้าน บาท) เฉพาะธนาคารเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.87 แสนล้านบาท)

– ธนาคารในฝรั่งเศสหลายแห่งรวมกัน 1.13 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.84 แสนล้านบาท)

– ธนาคารในเยอรมนีหลายแห่งรวมกัน 1.02 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.46 แสนล้านบาท)

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.