จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น จะมีการวิเคราะห์ด้วยกัน 2 แบบ คือ การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ โดยการวิเคราะห์เชิงปริมาณนี้ ก็หนีไม่พ้นต้องวิเคราะห์จากงบการเงิน โดยวิเคราะห์งบการเงินย้อนหลังให้มากที่สุด เท่าที่ข้อมูลเราจะหาได้

ในงบการเงินนั้นจะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงินที่สำคัญๆ คือ งบดุล(Balance Sheet) งบกำไรขาดทุน (Income Statement) งบกระแสเงินสด(Cash Flow Statement) และหมายเหตุประกอบงบการเงิน (Note to Financial Statement) ข้อมูลทั้งหมดนี้จะต้องใช้ร่วมกัน ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

งบดุล จะให้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆบริษัทมีสินทรัพย์ หนี้สินและทุน มากน้อยเท่าไร มีความมั่นคงเพียงใด

สังเกตง่ายๆว่า หากหนี้สินมากกว่าทุน แสดงว่า บริษัทนี้กู้เงินมาลงทุนเป็นส่วนใหญ่ และมักจะมีภาระที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นมากมายและยาวนานหลายปี สินทรัพย์ที่มีเกือบทั้งหมดจะเป็นสิทธิของเจ้าหนี้ รายได้ที่ทำมาหาได้จากการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่จะเป็นของเจ้าหนี้ ส่วนที่เหลือถึงจะตกมาถึงผู้ถือหุ้น บริษัทนี้หากเกิดวิกฤติขึ้นมา มักจะเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน

ในทางกลับกัน หากบริษัทมีหนี้น้อย รายได้ส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ถือหุ้น สินทรัพย์ที่บริษัทมีจะเป็นสิทธิของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่

บริษัทที่ Value Investor ชอบ ก็คือ บริษัทที่ไม่มีหนี้สิน หรือมีน้อยมาก เพราะปลอดภัยและรายได้ที่หาได้เป็นของผู้ถือหุ้น

“งบกำไรขาดทุน” จะให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ดำเนินกิจการในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆ มีรายได้จากการดำเนินงานมาจากอะไรบ้าง มีต้นทุนเกิดขึ้นเท่าไรบ้าง ในงบกำไรขาดทุนนี้จะมีการบันทึกบัญชีการได้ค่าใช้จ่ายแบบคงค้าง คือได้ขายสินค้าให้แก่ลูกค้าไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน เมื่อส่งสินค้าแล้วถือว่า ได้ขายออกไปแล้ว

ดังนั้น เวลาวิเคราะห์งบการเงินต้องทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการบันทึกบัญชีให้ละเอียดว่า บริษัทมีนโยบายในการบันทึกบัญชีอย่างไร..?

“งบกระแสเงินสด” จะประกอบไปด้วยข้อมูลทางการเงิน 3 ส่วน คือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากการลงทุน และกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ให้ข้อมูลที่ปรับจากเกณฑ์คงค้างในงบกำไรขาดทุนมาเป็นเกณฑ์เงินสด เราจะได้ข้อมูลว่า ในช่วงเวลางวดบัญชีหนึ่งๆนั้น บริษัทขายสินค้าแล้วสามารถเก็บเป็นเงินสดได้มากน้อยเท่าไร ทั้งนี้ จะมีการปรับรายการที่ไม่ใช่เงินสดออกจนหมด เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร อุปกรณ์ สินค้าคงเหลือต่างๆ และข้อมูลอีกมาก

ส่วนกระแสเงินสดจากการลงทุน จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทว่า ในเวลางวดนั้น บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปในเรื่องใดบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าใด

กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน ให้ข้อมูลว่า บริษัทจัดหาเงินมาใช้ลงทุนและดำเนินกิจการจากแหล่งใด กู้มาหรือใช้ทุนเดิมหรือเพิ่มทุน

ผมอยากจะยกตัวอย่างง่ายๆ กับการสังเกตงบการเงินเพื่อการลงทุนที่ปลอดภัย หลายท่านคงจะจำกรณี “หุ้น ROYNET” กันได้ดี หรือหากเป็นนักลงทุนใหม่คงจะต้องกลับไปค้นกันหน่อยครับ เพราะกรณีนี้โด่งดังมากและทำให้นักลงทุนกลายร่าง ปีกงอกเป็นแมงเม่ากันมากมาย จน ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต้องลงมาจัดการกันจนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต จนทุกวันนี้ยังไม่จบเรื่องเลยครับ

รายการนี้นักลงทุนหลายคนเจออาการที่เรียกว่า ผีหลอกกลางวัน ครับ กำไรอยู่ดีๆตั้งสองไตรมาส 10.2 ล้านบาท ก้าวกระโดดจากขาดทุนสุทธิ 11.19 ล้านบาทในปีก่อน แล้วกลับมาเป็นขาดทุนสุทธิ 36.7 ล้านบาทในไตรมาส 3 ขาดทุนสะสมแล้ว 71ล้านบาท

ก่อนหน้านั้นบริษัทรายงานว่า บริษัทพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้อย่างมากมาย จัดว่า “ก้าวกระโดด” เลยก็ว่าได้ ที่มาของอาการผีหรอกก็ไม่มีอะไรมากครับ ผู้บริหารแกล้งทำเป็นไร้เดียงสาบันทึกรายได้เร็ว(เกิน)ไป(ไม่)หน่อยครับ แต่แล้วก่อนประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 3 พวกท่านก็เกิดรู้เดียงสาขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ โดยนำหุ้นของพวกในตระกูลท่านที่มีอยู่ 60% ของทุนจดทะเบียน เข้าไปขายให้แมงเม่าทั้งหลายจนหมดสิ้น

พอ…งบออกเท่านั้นแหละครับ ซากแมงเม่าก็กองเกลื่อนไปทั่วตลาดหลักทรัพย์

ผมลองเข้าไปดูงบย้อนหลังดูพบว่า บริษัทฯขายชั่วโมง Internet แบบฝากขาย บริษัทย่อยให้บริการอี-คอมเมิร์ซและเป็นที่ปรึกษาเรื่องการออกแบบ website และการรับรู้รายได้ก็เปิดเผยอย่างชัดเจนในหมายเหตุประกอบงบการเงินในข้อที่ 3 สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ หัวข้อย่อยที่ 3.1 บริษัทรับรู้รายได้ดังนี้

3.1.1 รายได้จากการขายบันทึกรับรู้ เมื่อส่งมอบสินค้า

3.1.2 รายได้จากการฝากขายบันทึกรับรู้ เมื่อได้รับการชำระเงิน

แต่ในงบกำไรขาดทุนมีหัวข้อ รายได้จากการขาย รายได้จากการให้บริการ รายได้ดอกเบี้ย รายได้อื่นๆ ไม่มีหัวข้อรายได้จากการฝากขาย จึงเป็นช่องทางให้ผู้บริหารเล่นแร่แปรธาตุได้อย่างง่ายดาย โดยผู้สอบบัญชีเองก็ไม่อาจตรวจพบได้ (อันนี้ไม่รับรองนะครับ)

เรื่องของเรื่อง คือ บริษัทเร่งรับรู้รายได้จากการฝากขาย ทั้งๆที่ยังไม่ได้รับชำระเงินเป็นจำนวนมากทั้ง 2 ไตรมาส จนไตรมาส 3 ผู้สอบบัญชีทนไม่ได้ จึงทำการปรับงบการเงินให้สะท้อนภาพความเป็นจริง ซึ่งเป็นเหตุให้แมงเม่าวงแตกกระเจิง

โดยไตรมาส 1 รับรู้รายได้ 24 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 6.9 ล้านบาท ไตรมาส 2 รับรู้รายได้ 23.4 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 3.24 ล้านบาท

ทีนี้ มาดูที่งบกระแสเงินสด ผมพบตัวเลขในหัวข้อ ลูกหนี้การค้าและตั๋วเงินรับ ในไตรมาสแรกประมาณ 22 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่ประมาณ 34,738 บาท ในไตรมาส 2 งวด 6 เดือนประมาณ 42.25 ล้านบาท เทียบกับงวด 6 เดือนของปีก่อนหน้าที่ประมาณ 504,143 บาท พอมาในงวด 9 เดือน ตัวเลขเหล่านี้ถูกปรับใหม่จนมีสภาพดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่างที่ยกตัวอย่างมานี่แหละครับ แค่เรื่องการรับรู้รายได้แค่นี้ ก็ทำร้อนไปตามๆกัน เหตุการณ์นี้บอกให้รู้ว่า งบการเงินนั้น หากเราวิเคราะห์และสังเกตให้ดีๆ มันคือแหล่งข้อมูลที่จะบอกพิรุธได้อย่างมาก แต่ก็น้อยคนจริงๆที่จะใส่ใจดูกัน

สำหรับผมและเพื่อน Value Investor อีกหลายท่านมุ่งเน้นว่า ต้องรู้เรื่องธุรกิจให้ชัดเจนทุกขุมขนเลย มีความรู้เรื่องบัญชีเล็กน้อยแต่ให้สังเกตและตั้งข้อสงสัยให้มากไว้ แล้วหาคำตอบให้ได้ก่อนการลงทุน จะปลอดภัยครับ

จุดสังเกต ‘งบการเงิน’

Value Way

มนตรี นิพิฐวิทยา

Author: admin

2 thoughts on “จุดสังเกต ‘งบการเงิน’ : มนตรี นิพิฐวิทยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.