จีนบนเส้นทางมหาอำนาจ รถไฟความเร็วสูง : Posttoday

วันนี้จีนไม่เพียงสยายปีกธุรกิจการค้าไปทั่วโลกเท่านั้น แต่ในธุรกิจด้านการขนส่ง ยังไม่รอดพ้นจากการเข้ามามีส่วนร่วมของพญามังกร

ในบรรดาการขนส่งทุกประเภทนั้น รถไฟถือเป็นจุดแข็งของจีนที่สุด และเป็นอุตสาหกรรมขนส่งที่มีอนาคตที่สุด จากความสำเร็จในการวางเครือข่ายและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างจริงจัง จนได้รับโอกาสให้ก้าวเข้ามาชิงส่วนแบ่งของรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศ

พื้นฐานความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถไฟของจีนเกิดขึ้นมีมูลเหตุที่สำคัญ 2 ประการ

หนึ่ง อุตสาหกรรมรถไฟโอนกิจการเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์นับตั้งแต่ครั้งสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2492 ยังผลให้มีความเป็นเอกภาพและต่อเนื่องในการพัฒนารถไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟทุกสายกับกรุงปักกิ่ง ไม่ว่าเมืองหลักเมืองนั้นจะอยู่ห่างไกลเพียงใด ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของการเชื่อมทางรถไฟสายปักกิ่งลาซา เมื่อปี 2549

สอง สืบเนื่องมาจากประการแรก เมื่อจีนมีระบบขนส่งพื้นฐานที่ก้าวหน้าและรวดเร็ว การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย และเมื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างคึกคัก ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งรถไฟเพื่อรองรับก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น และก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

ขณะนี้เครือข่ายรถไฟในจีนมีความยาวรวมกันถึง 8.6 หมื่นกิโลเมตร และคาดว่าจะขยายเส้นทางเพิ่มอีกถึง 1.1 แสนกิโลเมตรภายในปี 2555 ทั้งยังตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มถึง 1.2 แสนกิโลเมตรภายในปี 2563 ยังผลให้การรถไฟจีนต้องจ้างงานเพิ่มอีกถึง 2 ล้านคน ซึ่งหมายถึงการจ้างงานโดยรวมภายในประเทศจะพลอยคึกคักตามไปด้วย

อาจกล่าวได้ว่า วันนี้จีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีเครือข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองเพียงอินเดีย โดยที่ฝ่ายหลังแทบไม่มีพัฒนาการที่โดดเด่นในด้านขนส่งมวลชนและโลจิสติกส์ด้วยซ้ำ

แต่จีนมิได้หยุดอยู่เพียงแค่เส้นทางรถไฟธรรมดาๆ และเครือข่ายรถไฟภายในประเทศเท่านั้น

วันนี้ จีนได้ก้าวสู่โฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง ด้วยการมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงอย่างจริงจัง อีกทั้งยังขยายธุรกิจด้านนี้ออกไปยังต่างแดน จนสามารถสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมด้านนี้

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว จีนไม่มีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงแม้แต่เซนติเมตรเดียว แต่ในวันนี้จีนมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงยาวกว่ายุโรปทั้งทวีปรวมกัน และภายในปี 2555 จีนจะมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมากกว่าโลกทั้งโลกรวมกัน ด้วยความยาวรวมกันทั้งสิ้นถึง 1.28 หมื่นกิโลเมตร!

แต่ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องในด้านระบบขนส่งรถไฟ เช่น การเป็นประเทศแรกที่มีรถไฟความเร็วสูงเพื่อการพาณิชย์ที่สามารถทำความเร็วที่สุดในโลกบนรางแบบธรรมดา โดยมีความเร็วสูงสุดถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนเส้นทางฮ่องกงเสิ่นจิ้นกว่างโจวอู่ฮั่น

เมื่อปีที่แล้ว เครือข่ายรถไฟของจีนได้รับการจัดอันดับให้ติดท็อป 10 ของเครือข่ายเส้นทางรถไฟประเภทนี้ที่ดีที่สุดในโลก จากเว็บไซต์ infrastructurist.com

การจัดอันดับดังกล่าวและการทำลายสถิติครั้งแล้วครั้งเล่า รวมถึงความสำเร็จด้านวิศวกรรมรถไฟ อาจมีส่วนช่วยโหมกระพือความน่าเชื่อถือของจีนในอุตสาหกรรมด้านนี้ จนสามารถก้าวสู่การเป็นผู้รับเหมาสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของอุตสาหกรรมรถไฟจีนในต่างแดน

แม้ในเวลาต่อมาบริษัท ซีเอสอาร์ซี ของจีนจะถอนตัว เนื่องจากปัญหาทางเทคนิค แต่จีนยังยืนยันที่จะตะลุยตลาดรถไฟโลกด้วยความมุ่งมั่นต่อไป เพื่อทำให้จีนสามารถเปลี่ยนฐานะจากประเทศนำเข้าเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง เป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีในด้านนี้ในที่สุด

มูลเหตุของความสำเร็จของจีนไม่ใช่เพียงเพราะพื้นฐานที่แข็งแกร่งดังที่ว่าไว้เท่านั้น แต่ยังมาจากกลเม็ดเด็ดพรายในเชิงธุรกิจของรัฐบาลจีน

ดังที่ระบุไว้ข้างต้นว่า จีนใช้เวลาเพียง 5 ปี ในการก้าวกระโดดจากประเทศที่ไม่มีรถไฟความเร็วสูง จนกลายเป็นประเทศที่ติดอันดับต้นๆของโลกในเทคโนโลยีรถไฟ

สาเหตุก็เพราะจีนมีเงื่อนไขบังคับให้ประเทศที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟในจีน จะต้องร่วมทุน และต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทในความควบคุมของรัฐบาลจีน

เงื่อนไขที่ว่านี้ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องหวงแหนเทคโนโลยี เพราะหมายถึงการมอบสูตรลับของการทำเงินทำทอง และอาจกระทบต่อศักยภาพด้านการแข่งขันของบริษัทนั้นๆในอนาคต

อย่างไรก็ตาม บริษัทด้านวิศวกรรมขนส่งชั้นนำของโลกกลับไม่ลังเลใจที่จะร่วมแบ่งปันเทคโนโลยีกับจีน อีกทั้งยังเห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างยิ่งในทางธุรกิจ

บริษัทที่ยอมรับเงื่อนไขของจีนมาจากเกือบทุกประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ซีเมนส์ จากเยอรมนี บริษัท คาวาซากิ จากญี่ปุ่น บริษัท บอมบาร์เดียร์ จากแคนาดา อัลสตอม และยูโรสตาร์ จากฝรั่งเศส

สิ่งที่จีนได้จากการร่วมทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยี คือสามารถผลิตรถไฟความเร็วสูงของตนเองภายในเวลาเพียงแค่ 3 ปี และยังผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในเทคโนโลยีด้านนี้นับหมื่นคน ต่อยอดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงได้อย่างรวดเร็ว

คาดว่าในปีหน้า รถไฟของจีนจะสามารถทำความเร็วได้ถึง 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง…!

ขณะเดียวกันก็มิใช่ว่าบริษัทต่างชาติจะกลายเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบที่ต้องถูกจีนดึงเทคโนโลยีที่เฝ้าอุตส่าห์วิจัยศึกษามาอย่างชุบมือเปิบ และที่บริษัทเหล่านี้ยอมรับเงื่อนไขของจีนก็เพราะเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก ต้องการช่องทางเข้าถึงตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคมากที่สุดในโลก และบางบริษัทมิได้มีแค่ธุรกิจด้านวิศวกรรมรถไฟเท่านั้น นี่จึงเป็นโอกาสทองที่จะ “ผูกมิตร” กับภาครัฐ และเจาะภาคเอกชน

ประการที่สอง การขนส่งรถไฟในจีนมีอนาคตที่สดใสกว่าประเทศใดๆ ไม่เพียงมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 2 แสนคนต่อวันเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายที่รอการวางเส้นทางในอนาคตอีกนับหมื่นกิโลเมตร ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้โดยสารและโครงการพัฒนาอีกนับไม่ถ้วน บริษัทต่างชาติจึงกำลังพบกับขุมทองอย่างไม่ต้องสงสัย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัท บอมบาร์เดียร์ ที่ยอมรับว่ารายได้ทั้งหมดเมื่อปีที่แล้วมากจากจีนทั้งสิ้น ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีรายได้ต่อเดือนถึง 2,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

จีนในฐานะขุมทองอุตสาหกรรมรถไฟโลก จึงเป็นความหวังให้กับหลายๆบริษัทที่กำลังเผชิญกับภาวะขาดทุนจากการเสื่อมความนิยมในการใช้รถไฟ

ตัวอย่างเช่น การเข้ามาลงทุนในจีนของยูโรสตาร์ ซึ่งผูกขาดการเดินรถไฟข้ามช่องแคบอังกฤษฝรั่งเศสมานานถึง 16 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้

การรับเงื่อนไขของรัฐบาลจีนเพื่อที่จะเจาะตลาดที่มีอนาคตสดใสแห่งนี้ จึงเป็นโอกาสทองของยูโรสตาร์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยเทคโนโลยีของตนให้ตายซาก ในช่วงเวลาที่การขนส่งรถไฟในยุโรปไม่ก้าวหน้าเร็วเท่ากับจีน

ผลจากความร่วมมือที่ “ได้” ทั้ง 2 ฝ่ายทั้งจีนและนานาประเทศ ยังหมายถึงการกระตุ้นอุตสาหกรรมรถไฟโลกให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่ต้องถอยให้กับอุตสาหกรรมขนส่งด้านอื่นๆมานานหลายสิบปี อีกทั้งยังต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนย่อยยับ

ก้าวต่อไปของจีน คือการขยายเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงจากจีนถึงยุโรป เชื่อมโยงปักกิ่งกับลอนดอน ด้วยความเร็วในการเดินทางระหว่างเมืองหลวงทั้ง 2 ทวีปเพียง 2 วัน จากเดิมที่เคยใช้เวลานานแรมสัปดาห์

หากแผนการนี้สามารถแปลงเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด จะไม่ใช่เพียงการยกฐานะของอุตสาหกรรมรถไฟจีนสู่ระดับแถวหน้าของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการขนส่งด้านนี้ให้คึกคัก เพราะหมายถึงจีนและนานาประเทศจะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในระดับที่เข้มข้นขึ้น

และประเทศเหล่านั้นอาจรวมถึงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสายใต้ ระหว่างมาเลเซีย ไทย เวียดนาม สู่กรุงปักกิ่ง เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงลอนดอน อันเป็นจุดหมายปลายทางฟากตะวันตก

และอย่างน้อยในขณะนี้ ไทยก็เริ่มมีร่างโครงการอุดหนุนรถไฟความเร็วสูงสัญชาติจีน เพื่อเสริมสร้างระบบโลจิสติกส์ขึ้นบ้างแล้ว..!

จีนบนเส้นทางมหาอำนาจ รถไฟความเร็วสูง

ทีมข่าวต่างประเทศ Posttoday

10 สิงหาคม 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.