คาถาลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

คนสมัยก่อนเวลาสอนหรือส่งผ่านความรู้หรือเทคนิควิธีในการใช้ชีวิตให้กับคนอื่นจำนวนมากนั้น เนื่องจากการบันทึกข้อมูลยังทำได้ยากเพราะยังไม่มีกระดาษหรือวิธีการทันสมัยอื่น ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีการบอกให้ท่องจำคำพูดทุกคำและให้กล่าวทุกวัน เพื่อไม่ให้ลืมหรือข้อมูลความรู้นั้นเพี้ยนไปเวลาที่มีการส่งต่อให้ผู้คนรุ่นต่อๆไป ข้อมูลความรู้นั้นบางทีเราเรียกว่า “คาถา”

คาถาเป็นเรื่องที่สำคัญ หรือเป็นหัวใจในการที่จะทำให้คนท่องบ่นสามารถดำรงชีวิตได้ดีหรือต่อสู้กับสิ่งที่จะทำให้ชีวิตมีปัญหาได้ ในเรื่องของการลงทุน ผมคิดว่าเราควรจะมีคาถาเช่นเดียวกัน แม้ว่าเราจะมีความก้าวหน้ามากมายในการส่งต่อและเก็บเทคนิคและข้อมูลเป็นอย่างดีแล้วในปัจจุบัน เหตุเพราะว่า บ่อยครั้ง เวลาอยู่ในสถานการณ์ของการลงทุนซื้อขายหุ้น ความคิดความอ่านของเราอาจจะเกิดความสับสนได้ง่าย “คาถาลงทุน” จะช่วยป้องกันไม่ให้เราผิดพลาดและเกิดความเสียหายได้

คาถาลงทุนต่อไปนี้ เป็นบางส่วนที่ผมคิดว่าเราควรที่จะจำไว้ให้ขึ้นใจ เพราะผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับ Value Investor ที่มุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อความมั่นคงของชีวิต

คาถาข้อหนึ่ง : การซื้อหุ้นคือการลงทุนทำธุรกิจ
นี่คือสิ่งที่จะต้องท่องไว้ในใจตลอดเวลา ดังนั้น เวลาคิดที่จะซื้อหุ้นลงทุน เราจะต้องคิดเสมอว่า เราอยากเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นหรือเปล่า และมันก็ไม่ต่างไปจากการที่เราคิดที่จะทำธุรกิจอื่นๆ เช่น การเข้าหุ้นเปิดร้านอาหารกับเพื่อน หรือลงทุนเปิดบริษัทรับจ้างเขียนซอฟแวร์ หรือสำนักงานบัญชี อย่าคิดว่าหุ้นเป็นสินค้าที่ซื้อมาขายไปเพื่อหวังกำไรในเวลาสั้นๆ ผมคิดว่าถ้าเราปฏิบัติตามคาถาข้อนี้ได้ เราก็เป็น Value Investor ไปแล้วกว่าครึ่ง

คาถาข้อสอง :  มีเหตุผล อย่าลำเอียง นี่คือคาถาที่ต้องท่องเวลาจะวิเคราะห์กิจการและหุ้นที่เราสนใจจะซื้อหรือขาย การมีเหตุผล คือการพิจารณาไตร่ตรองโดยอิงกับความรู้และข้อมูลที่มีหลักฐานที่ถูกต้อง ไม่ใช่คิดหรือรู้สึกเอง เราจะต้องคิดว่าเรากำลังมีความลำเอียงซึ่งมักจะเป็นธรรมชาติของคนหรือไม่ ความลำเอียงนั้นมีมากมาย ถ้าเราเป็นเจ้าของหุ้นอยู่ เราก็มักจะมีแนวโน้มที่จะรักหุ้นหรือกิจการของเรามากกว่าปกติ ดังนั้น เราจึงมักจะดูว่ากิจการของเราดีกว่าที่คนอื่นคิด ถ้าเราใช้สินค้าหรือบริการหนึ่งแล้วเราชอบ เราก็อาจจะมีความรู้สึกว่ากิจการนั้นดีกว่ากิจการอีกแห่งหนึ่งที่เราไม่ชอบ และอาจจะมองข้ามข้อดีอื่นๆของกิจการนั้นไป พูดถึงความลำเอียง ผมคิดว่าเราอาจจะเขียนได้เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เพราะมันมีมากและเกิดขึ้นตลอดเวลา เราเองคงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลำเอียงได้ทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่คิดวิเคราะห์อะไรก็ตาม ท่องคาถาไว้ : อย่าลำเอียง

คาถาข้อสาม : อย่าเก็งกำไร เวลาอยู่ในตลาดหุ้น เรามักจะพบหุ้นที่มีราคาหวือหวาตลอดเวลา ในบางครั้งเราอาจจะรู้สึกหรือมี “ลางสังหรณ์” ว่า เราจะสามารถทำกำไรอย่างง่ายๆในหุ้นบางตัว เราคิดว่าเรารู้อะไรบางอย่างและน่าจะสามารถซื้อขายหุ้นบางตัวที่จะทำกำไรให้เราได้งดงามในเวลาอันสั้น เราทำและเราก็เคยได้กำไร บางครั้งเราก็พลาด แต่ทุกครั้งเราไม่ได้คิดอย่างละเอียดรอบคอบ เราเพียงแต่คิดว่าโอกาสกำไรน่าจะสูง โอกาสขาดทุนน่าจะต่ำกว่า แต่บางทีเราก็อาจจะไม่รู้ว่า เวลากำไร เราได้กำไรน้อย แต่เวลาขาดทุน เราอาจจะขาดทุนมาก ที่เราไม่รู้ก็อาจจะเพราะว่ามันไม่เกิดบ่อย แต่เวลามันเกิดขึ้น มันทำให้เราเสียหายหนัก วิธีแก้ก็คือ : อย่าเก็งกำไร

คาถาข้อที่สี่ : อย่าตกใจ การตกใจทำให้เราขาดเหตุผลและตัดสินใจผิดพลาด เหตุการณ์ร้อยละกว่าเก้าสิบมักมีผลกระทบต่อกิจการที่เราถือหุ้นอยู่น้อย เรื่องของซับไพร์มในสหรัฐทำให้ตลาดหุ้นไทยปั่นป่วน แต่จริงๆแล้วมันเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทจดทะเบียนน้อยมาก แม้แต่วิกฤติการเมือง เช่น การปฏิวัติรัฐประหาร ก็มักมีผลกระทบระยะยาวต่อหุ้นน้อยมาก ดังนั้น เรื่องอะไรที่ดูน่ากลัวมากและทำให้หุ้นตกรุนแรง เราต้องไม่ตกใจและเทขายหุ้นในขณะที่ทุกคนกำลังสั่งขาย รอดูและตรึกตรองต่อไปสักสองสามวัน หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจ โอกาสเป็นไปได้สูงว่า ถ้าเราตัดสินใจขายก็จะขายได้ราคามากกว่าวันแรก แต่ส่วนใหญ่แล้ว พอผ่านไปสองสามวัน เราก็เลิกคิดที่จะขาย

คาถาข้อที่ห้า : ต้องเผื่อ Margin Of Safety เสมอ หรือก็คือ ทุกครั้งและตลอดเวลาที่ลงทุน ต้องคิดเสมอว่าถ้าสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้น เราจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเวลาลงทุน ถ้าเรากู้เงินหรือใช้มาร์จินซื้อหุ้น เราต้องรู้ว่าเราจะรับได้แค่ไหนถ้าเกิดวิกฤติหุ้นตัวนั้นมีค่าลดลงมาก หรือพอร์ตหุ้นทั้งหมดมีค่าลดลงมาก แน่นอน  โอกาสที่สิ่งเลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นนั้นมีน้อยมาก แต่เราจะเสี่ยงไปทำไม หลายๆคนที่ทำมักมาจากการที่เล็งผลเลิศ อยากทำกำไรมากและเร็วและคิดว่าโอกาสสำเร็จมีสูง แต่ความเป็นจริงก็อาจจะไม่ใช่ สิ่งที่เลวร้ายที่สุดอาจจะไม่เกิด แต่สิ่งที่เลวร้ายพอประมาณก็เกิดขึ้นได้ และมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า พูดอย่างเปรียบเปรยอาจจะบอกว่า “ไม่ตายแต่ก็พิการ” ดังนั้น การคิดเผื่อความปลอดภัยนั้น หมายความว่า เวลาลงทุนซื้อขายหุ้น ต้องเผื่อว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายพอประมาณ เราจะไม่เสียหายมากเกินไป เราไม่ “พิการ”

คาถาลงทุนทั้งห้าข้อนั้น ก็เป็นเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่เราควรจำจนขึ้นใจถ้าเราคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี หลายคนอาจจะมีคาถาสำคัญมากกว่าและแตกต่างจากที่ผมเขียน นี่ก็เหมือนกับคาถาของอาจารย์แต่ละคน เซียนหุ้นหลายคนอาจจะบอกว่า คาถาของเขาก็คือ “จงเก็งกำไร” นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับบางคน ผมคงไม่พูดว่าคาถาของใครใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ คาถาของผมนั้น เหมาะกับ Value Investor ที่รักความปลอดภัยและต้องการผลตอบแทนที่สมเหตุผล เทียบประมาณก็คล้ายๆกับศีลห้าที่ใช้สำหรับคนทั่วๆไป ไม่ใช่สำหรับพระหรือนักบวช

คาถาลงทุน

โลกในมุมมอง Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

18 กันยายน 2550

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.