ความเครียดกับการลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

disappointed

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่พูดถึงและยอมรับกันทั่วไปว่าการเล่นหุ้นหรือลงทุนนั้น ทำให้เกิดความเครียดแก่ผู้ปฏิบัติค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในยามที่หุ้นตก ความคิดหรือความเชื่อนี้ ผมคิดว่ามีส่วนจริงอยู่มากเพราะผมเคยพบคนที่มาปรึกษาผมเกี่ยวกับการลงทุนของตนเอง คนๆนี้เพิ่ง เออรี่รีไทร์ หรือเกษียณอายุก่อนกำหนดจากธนาคารแห่งหนึ่ง เขามีเงินเก็บก้อนหนึ่งรวมแล้วประมาณ 6-7 ล้านบาท ถ้าจำไม่ผิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ “ลงทุน” ในหุ้นในช่วงที่บูมมากของปี 2546 อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินเก็บและเงินชดเชยที่ได้รับจากการเกษียณอายุก่อนกำหนด เขาคิดว่าด้วยเงินก้อนนี้ เขาน่าจะสามารถนำมาลงทุนในตลาดหุ้นและทำรายได้ให้เขาอยู่ได้อย่างสบายโดยไม่ต้องทำงานอื่น

เขาลงทุนเงินส่วนใหญ่ในหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ยอดนิยมตัวหนึ่ง แต่พอตลาดหุ้นเริ่มซบเซาในปี 2547 หุ้นที่เขาถืออยู่และยังไม่ได้ขายตัดขาดทุนดังกล่าวก็เริ่มตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนที่เขาถืออยู่ที่ราคาค่อนข้างสูงอาจจะประมาณ 10 บาท แต่ขณะที่มาปรึกษาผมราคาลงมาเหลือประมาณ 7 บาท เขาเครียดมากเนื่องจากไม่แน่ใจว่าอนาคตของเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะเขาคงจะหางานทำใหม่ได้ยากเนื่องจากอายุที่มากแล้ว ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ เขากำลังมีปัญหาครอบครัวอีกหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาถามผมก็คือ เขายังควรเก็บหุ้นตัวนั้นต่อไปหรือไม่?

ผมตอบไปว่าเขาควรขายหุ้นตัวนั้นทิ้งเสียเพราะผมคิดว่า หุ้นบริษัทหลักทรัพย์นั้นมีความเสี่ยงสูงมาก ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยอย่างเขา เขาควรลืมเรื่องต้นทุนเสีย ขายหุ้นทิ้ง แล้วหาหุ้นที่มีความปลอดภัยสูงหน่อย ที่สำคัญควรลงทุนในหุ้นหลายๆ ตัว ทำเป็นพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงได้ และอย่างน้อยจะได้มีปันผลเก็บกินได้ถ้าหุ้นไม่ขึ้น

ดูเหมือนว่าเขาจะเชื่อผมในระดับหนึ่ง หรือไม่ก็เป็นเพราะที่จริงแล้วเขาอาจจะมีคำตอบคร่าวๆอยู่ในใจแต่ต้องการคนมาช่วยสนับสนุน เขาขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์นั้นทิ้งหมดและดูเหมือนจะหยุดลงทุนในหุ้น อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง ผมตามดูหุ้นตัวดังกล่าวก็พบว่าราคาไหลลงเรื่อยๆ และเคยลงมาถึงประมาณ 4 บาท ผมนึกในใจว่าเขาโชคดีที่ขายไปก่อน ผมยังพบเขาบ้างเป็นบางครั้ง ดูเหมือนว่าเขาจะปรับตัวโดยการลดการใช้จ่ายต่างๆ ลง และเก็บเงินในที่ๆ ปลอดภัยในลักษณะของเงินฝากธนาคาร สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนไปมากก็คือ เขาไม่เครียดอย่างที่พบกับผมครั้งแรก

นักลงทุนอีกคนหนึ่ง ผมสมมุติว่าชื่อนายเจ๋ง เขาเป็น Value Investor ที่มุ่งมั่นและลงทุนแบบ Value Investment มานานและประสบความสำเร็จอย่างสูง วันหนึ่ง เขาไปได้ข้อมูลจาก Insider หรือผู้ที่รู้ข้อมูลภายในว่าบริษัท ก. จะมีผลการดำเนินงานในไตรมาสที่จะถึงโดดเด่นมาก เขาคำนวณดูพบว่า ด้วยกำไรที่จะประกาศ ราคาหุ้นของบริษัท ก. น่าจะกระโดดขึ้นไปคิดแล้วน่าจะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปได้ถึง 20% แต่แทนที่เขาจะซื้อหุ้น เขาคิดว่าราคาของวอแรนต์ของหุ้นบริษัท ก. น่าจะขึ้นไปเป็นเท่าตัวเนื่องจากวอแรนต์มีราคาต่ำมากซึ่งเป็นผลจากการที่มันเหลืออายุในการแปลงสภาพไม่นาน ดังนั้น เขาตัดสินใจซื้อวอแรนต์ของบริษัท ก. จำนวนหนึ่งซึ่งคิดเป็นเงินแล้วก็ไม่มากเมื่อเทียบกับพอร์ตโดยรวมของเขา

หลังจากซื้อแล้ว คุณเจ๋งก็เฝ้าจับตาดูราคาหุ้นและวอแรนต์บริษัท ก. อย่างเกาะติด ทั้งที่โดยปกติในฐานะของนักลงทุนแบบ Value เขาไม่ได้ติดตามดูราคาหุ้นมากมายนัก เขาคิดว่าเขาต้องตามดูหุ้นและหาจังหวะในการขายเนื่องจากเขารู้ว่านี่คือการ เก็งกำไร ราคาวอแรนต์มีโอกาสขึ้นลงตามราคาหุ้นแม่ในระดับที่ผันผวนเร็วมาก ถ้าพลาดก็อาจทำให้เสียหายหรือขาดทุนได้

ความหมกมุ่นดูราคาหุ้นเริ่มเปลี่ยนเป็นความกระวนกระวาย เมื่อราคาหุ้นบริษัท ก. เริ่มลดลงและทำให้ราคาวอแรนต์ลดลงทวีคูณตามธรรมชาติของมัน เช่นเดียวกัน เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้ราคาของวอแรนต์ลดลง และเขารู้ว่าเมื่อถึงวันสุดท้าย ถ้าราคาหุ้นยังต่ำกว่าราคาแปลงสภาพ วอแรนต์ก็จะมีค่าเป็นศูนย์ ในที่สุดก็ถึงจุดที่คุณเจ๋งซึ่งไม่เคยมีความเครียดจากการลงทุนแบบ Value ทนไม่ไหว เขาตัดสินใจขายวอแรนต์ทิ้งและทิ้งความเครียดที่เขาก่อขึ้นไว้ข้างหลัง งบการเงินของบริษัท ก. ประกาศออกมาดีตามที่ทราบมา ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับราคาวอแรนต์ แม้ว่าจะไม่สูงอย่างที่คุณเจ๋งคิด แต่ถ้าเขาถือจนถึงวันนั้นเขาก็ยังคงได้กำไร แทนที่จะต้องขายขาดทุนไปเกือบ 30%

ความเครียดจากการลงทุนนั้น ผมคิดว่าก็คงมีต้นเหตุแบบเดียวกับความเครียดจากเรื่องอื่นๆ นั่นคือเป็นไปตามที่ หมอบัณฑิต ศรไพศาล ผู้เชี่ยวชาญสุขภาพจิต พูดว่าความเครียดเกิดขึ้นจากการที่ความต้องการหรือความคาดหวังของเรานั้นสูงกว่าความสามารถ นั่นคือ ถ้าเป็นนักลงทุน การที่จะไม่ให้เกิดความเครียด ผมคิดว่าเราจะต้องไม่ตั้งความหวังสูงเกินไป นั่นคืออย่าหวังผลตอบแทนเกินปีละ 10-15% ในขณะเดียวกันเราต้องสร้างความสามารถในการลงทุนให้สูงซึ่งจะทำให้เราสามารถ บรรลุเป้าหมายนั้นได้ไม่ยาก และนี่คือเคล็ดในการที่จะลงทุนอย่างไม่มีความเครียดได้

กรณีตัวอย่างแรก นั้นเกิดจากการตั้งความหวังว่าจะทำผลตอบแทนได้มากอย่างที่เคยทำได้ในช่วง ตลาดหุ้นบูม เขาคิดว่าผลตอบแทนจากเงิน 6-7 ล้านบาทจะมีมากพอสำหรับเขา เมื่อทำไม่ได้จึงเครียด โดยเฉพาะเขาไม่สามารถย้อนหลังกลับไปได้ กรณีที่สองเป็นเรื่องของการที่คุณเจ๋งซึ่งไม่ได้เครียดจากการลงทุนแบบ Value เพราะมีความสามารถสูงแต่ตั้งความหวังต่ำ แต่พอคิดจะเก็งกำไรหวังได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้นแต่ลืมไปว่าตนเองไม่ได้ มีความสามารถในการเก็งกำไรจึงเกิดความเครียด และนี่ควรจะเป็นบทเรียนสำหรับ Value Investor ทั้งหลายว่า อย่าหาความเครียดใส่ตัวโดยไม่จำเป็น

ความเครียดกับการลงทุน

โลกในมุมมอง Value Investor

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.