ครุกแมนและสติกลิตซ์ กับเศรษฐกิจกระแสหลัก : ดร.ไสว บุญมา

.

พอล ครุกแมน และ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ซึ่งมีรางวัลโนเบลเป็นตัวบ่งชี้ความศักดาทางวิชาการ ออกมาวิจารณ์วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำ ทั้งในรูปของบทความตามหน้าหนังสือพิมพ์และในรูปของหนังสือ ครุกแมน นำหนังสือเก่าของเขาเล่มหนึ่งออกมาพิมพ์ใหม่โดยเขียนบทนำอธิบายมุมมองของเขาเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดซึ่งเริ่มเมื่อปี 2550 หนังสือนั้นชื่อ The Return of Depression Economics and the Crisis of 2008 (พิมพ์เดือนกันยายน 2552 โดย W. W. Norton & Co., จำนวน 224 หน้า) ส่วน สติกลิตซ์ เขียนหนังสือใหม่ออกมาชื่อ Freefall : America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy (พิมพ์เดือนมกราคม 2553 โดย W. W. Norton & Co., จำนวน 361 หน้า)

.
ในหนังสือซึ่งพิมพ์ครั้งแรกก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดนี้ ครุกแมน พูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในส่วนต่างๆของโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา รวมทั้งในละตินอเมริกาและในเอเชียเมื่อปี 2540 ด้วย วิกฤตเหล่านั้นมักเกิดขึ้นในบางประเทศแล้วแพร่ขยายออกไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปัจจุบัน ส่วนต่างๆ ของโลกได้เชื่อมต่อกันจนเป็นหนึ่งเดียว โดยเฉพาะภาคการเงินซึ่งเงินจำนวนมหาศาลอาจเคลื่อนย้ายไปทั่วโลกได้ภายในพริบตา
.
สำหรับวิกฤตใหญ่ที่เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด ครุกแมนมองว่า ปัญหาไม่ได้มาจากการเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนของภาคการเงิน หากมาจากฟองสบู่อันเกิดจากภาคการเงินของอเมริกาถูกปล่อยให้ทำอะไรได้ตามใจชอบในกรอบแนวคิดตลาดเสรีตกขอบของพวกอนุรักษนิยม แนวคิดตลาดเสรีที่ไม่ต้องการให้มีการควบคุมดูแลภาคการเงินแบบเข้มงวดนี้ มีความเข้มข้นจนกลายเป็นแนวคิดเศรษฐกิจกระแสหลักในสมัยที่ โรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และ มาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ วิกฤตครั้งนี้มีส่วนคล้ายกับวิกฤตเมื่อปี 2450 ซึ่งสถาบันการเงินส่วนหนึ่งอยู่ในรูปกึ่งธนาคาร และไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด
.
เมื่อเป็นเช่นนั้น ครุกแมน มองว่า การแก้ปัญหาต้องมาจากการควบคุมดูแล ภาคการเงินให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพวกสถาบันกึ่งธนาคารซึ่งแทบไม่มีการควบคุมเลย เช่น กองทุนเพื่อเก็งกำไรในรูปแบบต่างๆ นอกจากนั้น เขายังเสนอให้รัฐบาลอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย ในตอนที่เขาเขียนบทนำใหม่ให้หนังสือเล่มนี้ รัฐมนตรีคลังในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เสนอให้รัฐบาลอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ 7 แสนล้านดอลลาร์ ครุกแมนบอกว่านั่นยังไม่พอ จะต้องฉีดเพิ่มเข้าไปอีก 6 แสนล้านดอลลาร์ จะเห็นว่าตัวเลขเหล่านี้ใกล้เคียงกับจำนวนที่รัฐบาลอเมริกันอัดฉีดเข้าไปในระบบตั้งแต่วันที่วิกฤตเกิดขึ้น มองจากมุมนี้ ครุกแมนมีอิทธิพลมากแม้จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแนวอนุรักษนิยมก็ตาม
.
หนังสือของ โจเซฟ สติกลิตซ์ เขียนใหม่และเนื้อหาส่วนใหญ่เขียนขึ้นในระหว่างที่วิกฤตกำลังเข้มข้น จากด้านหนึ่ง มุมมองของสติกลิตซ์ไม่ต่างกับของ ครุกแมน เพราะเขาโยนความผิดส่วนใหญ่ไปที่ระบบการเงินซึ่งขาดการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดเพราะพวกหัวอนุรักษนิยมหลงใหลในความสามารถของระบบตลาดเสรีที่จะควบคุมตัวเองได้ ในขณะที่ครุกแมนเสนอแนวคิดเพียงคร่าวๆในรูปของบทนำใหม่ ในหนังสือเล่มเก่า สติกลิตซ์สาธยายรายละเอียด ด้านต่างๆอย่างครบถ้วนกระบวนความ ยิ่งกว่านั้น เขายังมองออกไปนอกกรอบของวิชาเศรษฐศาสตร์เพื่อค้นหาที่มาของสาเหตุพื้นฐานของเหตุการณ์ครั้งนี้อีกด้วย
.
การมองออกนอกกรอบของเขานี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเขามองว่าสาเหตุพื้นฐานเป็นวิกฤตทางศีลธรรมจรรยาซึ่งเขาเรียกว่า “การขาดดุลคุณธรรม” (moral deficit) เราทราบดีว่า การขาดดุลคุณธรรมนำไปสู่การกระทำสารพัดอย่างที่บางครั้งผิดทั้งกฎหมาย ศีลธรรม และจรรยาบรรณ พร้อมกันนั้นก็อาจไม่เหมาะสมกับสภาพของสังคมด้วย
.
น่าสังเกตว่า ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ยุคนี้ดูจะมีเขาเท่านั้นที่พูดถึงเรื่องคุณธรรม จากมุมมองนี้ สติกลิตซ์ ไม่ต่างกับ อดัม สมิท นัก เป็นที่ทราบกันดีว่านักเศรษฐศาสตร์แนวตลาดเสรีนับ อดัม สมิท เป็นบรมครู แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกว่า 17 ปีก่อนที่เขาจะเขียนตำราอันโด่งดังปานพลุแตกเรื่อง The Wealth of Nations เมื่อปี 2319 นั้น เขาเขียนตำราด้านคุณธรรม ออกมาชื่อว่า The Theory of Moral Sentiments นอกจากนั้น คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยตระหนักด้วยว่า ระบบเศรษฐกิจแนวตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้จะมีประสิทธิภาพสูงก็ต่อเมื่อสังคมที่นำมาใช้มีฐานด้านคุณธรรมแข็งแกร่ง มิฉะนั้น มันจะเป็นเพียงเครื่องมือของโจร
.
สำหรับในด้านการมองวิกฤตในกรอบของเศรษฐศาสตร์ เนื้อหาของหนังสือ อาจแยกออกได้เป็นสองส่วนหลักๆด้วยกันคือ ส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดระบบตลาดเสรีและส่วนที่เกี่ยวกับภาคการเงิน ซึ่งเป็นหัวจักรใหญ่ในการก่อวิกฤต
.
ในส่วนที่เกี่ยวกับแนวคิดระบบตลาดเสรี มองได้ว่า หนังสือเล่มนี้ไม่มีอะไรใหม่เนื่องจากเป็นที่ทราบกันมาเป็นเวลานานแล้วว่า สติกลิตซ์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าระบบตลาดมีจุดอ่อนที่จะต้องแก้ไขด้วยการให้รัฐเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมอย่างเข้มข้น และเข้าร่วมโดยตรงในบางกรณี ความเชื่อนี้ขัดกับของกลุ่มอนุรักษนิยมที่เชื่อว่า ระบบตลาดสามารถควบคุมตัวเองได้ ฉะนั้น ภาครัฐต้องจำกัดบทบาทของตนให้เหลือน้อยที่สุด กลุ่มนี้สนับสนุนนโยบายในแนว “ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน” ซึ่งมีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เป็นกระบอกเสียงและหัวจักรใหญ่ ในสมัยที่ สติกลิตซ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานของธนาคารโลก เขาจึงต้องรบราฆ่าฟันทางด้านความคิดกับนักเศรษฐศาสตร์ในไอเอ็มเอฟตลอดเวลา
.
ในส่วนที่เกี่ยวกับภาคการเงิน สติกลิตซ์ มองว่า ต้นตอของปัญหามาจากการลดการควบคุมดูแลภาคนี้จากในสมัยที่พวกหัวตลาดเสรีตกขอบครองอำนาจ ประกอบกับการขาดดุลคุณธรรม ภาคการเงินทำหน้าที่เพียงเป็นผีโม่แป้งโดยเล่นแร่แปรธาตุทางการเงินกันอย่างแพร่หลายจนทำให้ภาคนี้มีบทบาทสูงมากถึงขนาดทำกำไรได้เป็นสัดส่วน 41% ของผลกำไรทั้งหมดของภาคธุรกิจในปี 2550 ผู้บริหารของภาคนี้ได้รับค่าตอบแทนสูงมากจากการยืมเงินผู้อื่นมาแล้วนำไปให้ยืมต่อในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ หากได้กำไร พวกเขาได้โบนัสมหาศาล หากสถาบันการเงินของพวกเขาล้มละลาย ประชาชนต้องจ่ายในรูปของภาษีที่รัฐบาลใช้ในการเข้าไปอุ้มสถาบัน การเงินเหล่านั้นในขณะที่พวกเขายังได้ค่าตอบแทนสูงเช่นเดิม
.
ตัวอย่างที่ดีของผีโม่แป้งได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่สถาบันการเงินนำสัญญาซื้อบ้านไปยำรวมกันขายต่อไปให้สถาบันการเงินอื่น โดยผู้ซื้อไม่ใส่ใจในความเสี่ยงแม้แต่น้อย ส่วนผู้ขายก็นำเงินที่ได้นั้นกลับไปให้ผู้ซื้อบ้านกู้อีกรอบหนึ่ง กระบวนการนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายรอบ อันเป็นการนำไปสู่การปั่นราคาบ้านให้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสถาบันการเงินให้กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ต่ำมากและปราศจากการประเมินศักยภาพทางการเงินของผู้กู้ เพราะสามารถนำสัญญากู้เงินนั้นไปยำขายต่อได้ทันที เมื่อผู้กู้เงินซื้อบ้านจำนวนมากเริ่มมีรายได้ ไม่พอชำระหนี้ที่เกินศักยภาพของตน ฟองสบู่ก็แตกและจุดชนวนให้เกิดวิกฤต
.
เช่นเดียวกับ ครุกแมน นอกจากจะต้องการให้รัฐบาลควบคุมดูแลภาคการเงินอย่างเข้มงวดขึ้นแล้ว สติกลิตซ์ ต้องการให้รัฐบาลอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบเพื่อกระตุ้นการซื้อซึ่งจะต้องเป็นหัวจักรขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจหลุดพ้นจากภาวะวิกฤต สติกลิตซ์ มีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาจากการทำงานกับธนาคารโลก ฉะนั้น เขามักมองด้านวิวัฒนาการระยะยาวมากกว่านักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั้งหลาย แต่หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าเขาคิดอย่างไรในระยะยาว เล่มต่อไปของเขาน่าจะมีคำตอบ
.
ครุกแมนและสติกลิตซ์ กับเศรษฐกิจกระแสหลัก
.
ดร.ไสว บุญมา [email protected]
.
25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
.
ประชาชาติธุรกิ ปีที่ 34 ฉบับที่ 4265
Author: admin

1 thought on “ครุกแมนและสติกลิตซ์ กับเศรษฐกิจกระแสหลัก : ดร.ไสว บุญมา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.