คนรวย VS คนชั้นกลาง : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

think

ผมได้อ่านหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่ง เขียนโดย Keith Cameron Smith เรื่อง ความแตกต่างที่โดดเด่น 10 ข้อ ระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลาง และเห็นว่ามันมีความเป็นจริงอยู่พอสมควรจากการสังเกตของผม ดังนั้น จึงขอนำมาเผยแพร่ เพื่อที่ว่าเราจะได้รู้ว่าเราอยู่ในด้านไหนของสังคม และจะต้องทำอย่างไร เพื่อที่ว่าเราจะได้ย้ายจากการมีแนวโน้มที่จะเป็นคนชั้นกลางสู่การเป็นคนรวย

ความแตกต่างข้อแรก ก็คือ เศรษฐีคิดยาว แต่คนชั้นกลางคิดสั้น ว่าที่จริงคนที่คิดสั้นที่สุดก็คือ คนจน พวกเขามักจะคิดอะไรแบบวันต่อวันทำนองหาเช้ากินค่ำ คนชั้นกลางนั้นมักจะคิดเป็นเดือนต่อเดือน นั่นคือ คิดถึงวันเงินเดือนออก แต่คนรวยจะต้องคิดยาวเป็นปีๆ หรือเป็นสิบๆปี

ในใจของคนจน เขามักคิดแต่เฉพาะเรื่องของความอยู่รอดเป็นหลัก ในขณะที่คนชั้นกลางคิดถึงเรื่องความสุขสบายจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้า ส่วนคนรวย เป้าหมายของพวกเขาชัดเจน เขาต้องการความเป็นอิสระทางการเงิน การคิดยาวนั้นมีพลังมหาศาล เพราะมันจะทำให้เขาอดออม และลงทุนระยะยาวซึ่งจะทำให้เงินงอกเงยแบบทบต้นเป็นเวลานาน และนี่คือสูตรสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้คนมั่งคั่ง

ข้อสอง คนรวยพูดเกี่ยวกับเรื่องไอเดีย คนชั้นกลางพูดเกี่ยวกับสิ่งของ และคนจนพูดถึงเรื่องของคนอื่น นี่คงไม่ได้หมายถึง ว่าคนรวยไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องของสิ่งของหรือคนอื่น แต่หมายถึงว่า คนรวยจะพูดถึงเรื่องของคนอื่นน้อยกว่าคนจน และมักจะเป็นคนที่มีแนวความคิดดีๆ หรือมีมุมมองต่างๆ มากกว่าคนชั้นกลางและคนจน เบื้องหลังของนิสัยในเรื่องนี้คงอยู่ที่ว่า คนรวยนั้นมักจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนจนซึ่งมักจะชอบ “ซุบซิบนินทา” เป็นนิจสิน ในขณะที่คนชั้นกลางอาจจะเน้นการทำงานประจำ ชอบพูดถึงเรื่องรถยนต์ ดนตรี การพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น

ข้อสาม คนรวยยอมรับการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางต่อต้านการเปลี่ยนแปลง คนชั้นกลางรู้สึกว่า การเปลี่ยนแปลงจะคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ที่ตนเองเคยชิน ในขณะที่คนรวย คิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาซึ่งชีวิตที่ดีกว่า เขาคิดว่าในการเปลี่ยนแปลงมักมีโอกาสที่เขาอาจจะฉกฉวยได้ เบื้องหลังนิสัยนี้ อาจจะมาจากการที่คนรวย มีความมั่นใจสูงกว่าคนชั้นกลาง ที่มักจะกลัวว่าตนเองจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งใหม่ๆได้

ข้อสี่ คนรวยกล้ารับความเสี่ยงที่ได้มีการพิจารณาและไตร่ตรองดีแล้ว คนชั้นกลางกลัวที่จะรับความเสี่ยง นี่เป็นนิสัยที่เป็นจุดอ่อนมากที่สุดของคนชั้นกลางในความเห็นของผม คนที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงเลย จะพลาดที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีโดยสิ้นเชิง ขณะคนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่างที่ได้มีการศึกษามาเป็นอย่างดี จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ โดยที่ความเสี่ยงจริงๆจะมีน้อยมาก

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ คนชั้นกลางส่วนใหญ่ มักจะกลัวการลงทุนในหุ้น หรือตราสารการเงินที่มีความผันผวนของราคา โดยที่เขาไม่พยายามศึกษาว่าในระยะยาวแล้ว มันอาจจะมีความคุ้มค่ากว่าการฝากเงินในธนาคารมาก ในอีกมุมหนึ่ง คนที่กล้ารับความเสี่ยงอย่าง “บ้าบิ่น” เช่นคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันเองก็ไม่ใช่นิสัยของคนรวย คนรวยต้องรับความเสี่ยงเฉพาะที่มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว

ข้อห้า คนรวยเรียนรู้และเติบโตตลอดชีวิต คนชั้นกลางคิดว่าการเรียนรู้จบที่โรงเรียน นิสัยการเรียนรู้ไปเรื่อยๆนี้ ผมคิดว่าเป็นหัวใจเศรษฐีจริงๆ เพราะในความรู้สึกของผม การเรียนรู้จากโรงเรียนเป็นเพียงพื้นฐาน ที่เรานำมาศึกษาต่อด้วยตนเองได้ และเวลาหลังจากการเรียนในโรงเรียนยาวมากเป็นหลายสิบปี ดังนั้น ความรู้ส่วนใหญ่จึงควรที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่เราเรียนจบจากโรงเรียน โดยนัยของข้อนี้ คนรวยจึงน่าจะมีนิสัยรักการอ่านหรือการหาความรู้ต่อไปเรื่อยๆ ในขณะที่คนชั้นกลาง พอเรียนจบก็มักจะไม่สนใจอ่านหนังสือหรือหาความรู้ใหม่ๆ

ความรู้ที่ผมคิดว่าคนชั้นกลางพลาดไป เพราะไม่มีการสอนในโรงเรียนก็คือ ความรู้ทางด้านการเงิน ที่คนรวยมักจะศึกษาต่อเพราะเห็นถึงความสำคัญและอาจนำไปสู่ความร่ำรวยได้

ข้อหก คนรวยทำงานเพื่อหากำไร คนชั้นกลางทำงานเพื่อจะได้ค่าจ้าง คนรวยมองว่านี่คือ หนทางที่จะทำให้รวยได้มากกว่า แม้จะมีความเสี่ยง ในขณะที่คนชั้นกลาง มักจะไม่กล้าเสี่ยง และอาจจะมีความคิดสร้างสรรค์น้อยกว่า จึงมุ่งไปที่การหางานที่จะมีรายได้แน่นอน แต่รายได้จากการใช้แรงงานของตนเอง มีน้อยคนที่จะทำให้ตนเองรวยได้

ข้อเจ็ด คนรวยเชื่อว่าพวกเขาต้องใจบุญสุนทาน คนชั้นกลางคิดว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะทำบุญ ข้อนี้ผมเองคงไม่มีคอมเมนท์อะไร ส่วนหนึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจเนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละคน ที่ไม่ค่อยบอก หรือรู้กันยกเว้นกรณีที่เป็นการบริจาคใหญ่ๆ อย่างกรณีของบัฟเฟตต์หรือบิล เกตส์

ข้อแปด คนรวยมีแหล่งรายได้หลากหลาย คนชั้นกลางมีเพียงหนึ่งหรือสองแหล่ง ข้อนี้ก็เช่นกัน ผมเองไม่แน่ใจว่าคนรวยมีรายได้จากหลายแหล่ง เพราะรวยแล้วจึงไปลงทุนในทรัพย์สินหลายๆอย่าง หรือมีทรัพย์สินหลายอย่างจึงทำให้รวย แต่ที่ผมเห็นชัดเจนก็คือ คนชั้นกลางนั้น มักไม่ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยง ทำให้รายได้มักจะมาจากเงินเดือนเป็นหลัก

ข้อเก้า คนรวยเน้นการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งของตนเอง คนชั้นกลางเน้นการเพิ่มของเงินเดือน เป้าหมายของคนรวยนั้นอยู่ที่ว่าตนเองมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหนโดยมองที่ภาพรวม ดังนั้น ถ้าเขามีหุ้นอยู่ การที่หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเขาก็มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นโดยที่เขาไม่ต้องเสียภาษี แต่คนชั้นกลางพยายามทำงาน เพื่อให้มีเงินเดือนสูงขึ้น แต่เขาอาจจะลืมไปว่าเขาจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นด้วย สรุปก็คือ คนรวยเน้นการลงทุนใช้เงินทำงานแทนตนเอง คนชั้นกลางเน้นการใช้แรงงานของตนเอง

สุดท้ายข้อสิบ คนรวยชอบตั้งคำถามที่เป็นบวกและสร้างกำลังใจ เช่น ฉันจะสร้างรายได้เป็นเท่าตัวในปีนี้ได้อย่างไร? ในขณะที่คนชั้นกลางชอบตั้งคำถามที่เป็นลบ และเสียกำลังใจ เช่น จะหาเงินมาจ่ายหนี้ค่าบัตรเครดิตเดือนนี้ได้อย่างไร?

และนั่นก็คือ ความแตกต่าง 10 ข้อระหว่างคนรวยกับคนชั้นกลางที่มีคนตั้งข้อสังเกตไว้ ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นจริง แน่นอน คนรวยบางคนก็มีคุณสมบัติที่เป็นแบบคนชั้นกลาง และคนชั้นกลางจำนวนมากก็มีนิสัยแบบคนรวย แต่ถ้าเราอยากรวย ผมคิดว่า การยึดนิสัยแบบคนรวยน่าจะทำให้เรามีโอกาสมากกว่า

คนรวย VS คนชั้นกลาง

โลกในมุมมองของ VALUE INVESTOR

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Author: admin

2 thoughts on “คนรวย VS คนชั้นกลาง : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.