กำไร…จากความเท่าเทียมกัน : จุมพฏ สายหยุด

สังคมประชาธิปไตย เอื้อต่อความเท่าเทียม เอื้อต่อการปลดปล่อยศักยภาพของพลเมืองทุกคน เมื่อรวมกันก็กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มาก

“ความน้อยเนื้อต่ำใจ เป็นราคาที่สูงมาก”

คือข้อความของ ปีเตอร์ ครัคเกอร์ ที่ผมอ้างในบทความเมื่อ 2 เดือนก่อน “ราคาแห่งความน้อยเนื้อต่ำใจ” ที่เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า

“ครัคเกอร์บอกว่า “ความน้อยเนื้อต่ำใจเป็นราคาที่สูงมาก” และการที่ท่านไม่ยอมบอกว่ามันสูงแค่ไหน ก็อาจจะหมายถึงว่า มันสูงจนในที่สุดสังคมไม่มีพอจะจ่ายนั่นเอง”

ผ่านมาสองเดือน คิดว่าเข้าใจกับไอเดียนี้เพิ่มมากขึ้น

เรื่องนี้สัมพันธ์กับอีกหลักการ หรือความรู้สึกหนึ่งคือ เรื่องความเท่าเทียมกัน

ซีอีโอ ต่อรอง ผลตอบแทนของตนให้สูงขึ้นกับบอร์ด โดยเสนอจะควบคุมต้นทุนพนักงาน ไม่มีการปรับค่าจ้าง ย่อมแสดงถึงการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน และทำให้พนักงานน้อยใจ

คุ้นๆไหมครับ ที่เวลามีการหยิบยกเรื่องการเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมกันขึ้นมา จะต้องมีข้อโต้แย้งทำนองที่ว่า ความเท่าเทียมกันไม่ได้มีอยู่จริง เพราะแม้แต่ นิ้วทั้งห้ายังยาวไม่เท่ากัน

ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ตลกดี เพราะไปเอาเรื่อง “ความแตกต่าง” มาสับสนปนเป กับความ “เท่าเทียม”

มีใครเคยล้างมือ แล้วล้างนิ้วชี้ สะอาดกว่านิ้วอื่นๆ เพราะต่อให้นิ้วยาวไม่เท่ากัน ก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หาไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ควรจะเชื่อว่า การที่คนเราตัวสูงไม่เท่ากัน ก็แสดงว่าต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันอย่างนั้นหรือ

จริงอยู่ “ความเท่าเทียมกัน” ดูจะเป็นเรื่องอุดมคติมากๆ ในขณะที่ความเป็นจริงในโลกนี้ รวมทั้งประเทศของเรา ยังมีการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม อันเนื่องมาจากความแตกต่างอยู่มาก เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากความไม่เท่าเทียมกัน อาทิ ผู้ปกครอง นักผูกขาดการค้า

เชื้อชาติ ชาติตระกูล การศึกษา ฐานะ ระบบเส้นสาย  เหล่านี้เป็นตัวอย่างของ “ข้อแตกต่าง” ที่นำไปสู่ การปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่นั่นเป็นเรื่องของสังคมก่อนยุคประชาธิปไตย

สังคมประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่ เอื้อต่อความเท่าเทียมกัน แต่ต้องการความเท่าเทียมกันอย่างยิ่งยวด เพราะนั่นเป็นหนทางที่จะปลดปล่อยศักยภาพของพลเมืองแต่ละคนออกมาอย่างเต็มกำลัง เมื่อนำมารวมกันก็กลายเป็นพลังการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่มาก

ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่เด็กทุกคน สามารถใฝ่ฝันที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีในวันข้างหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็น เด็กบ้านแตกอย่าง บิลล์ คลินตัน, ลูกไฮโซ อย่าง จอร์จ บุช, เด็กที่มีพ่อเป็นนิโกรแอฟริกัน อย่าง บารัก โอบามา

ประเทศแบบนี้  ใครที่เกิดมาแม้ยากจน แต่ก็ตั้งใจเล่าเรียนเต็มที่ เวลาทำงานก็ทุ่มเท เพราะเชื่อมั่นว่า เขาจะสามารถไปได้ไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ ไม่ใช่แป๊กอยู่แค่ตำแหน่งเล็กๆ เพราะมีแต้มต่อที่น้อยกว่าในด้านที่ชีวิตเขาเลือกไม่ได้

ในแวดวงธุรกิจ เราไม่พูดถึงประชาธิปไตยแบบตรงไปตรงมามากนัก หรือแม้กระทั่งเรื่อง ความเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติธุรกิจยุคใหม่มีการเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม การเสริมสร้างความร่วมมือมากกว่าการสั่งการ ซึ่งก็เป็นนัยของระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว เพราะนั่นเป็นหลักประกันสำคัญว่า ความคิดสร้างสรรค์ดีๆ การทุ่มเทความรู้ความสามารถกันอย่างเต็มที่

ความเท่าเทียมกัน หรือ การได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม จึงหาใช่เป็นเพียงอุดมคติในระบอบประชาธิปไตย แต่มีฐานะเป็นพลังเพื่อการขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าของสังคม และเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย

น่าเสียดายเรื่องนี้มีการศึกษากันน้อย เพราะนักรัฐศาสตร์ไทย ย่อมไม่สนใจกรณีศึกษาทางธุรกิจ ส่วนภาคธุรกิจไทย ก็ไม่สนใจองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์

ตรงกันข้ามกับประเทศ หรือองค์กร ที่ไม่พยายามให้คนเท่าเทียมกัน หรือเลือกปฏิบัติ ผลที่ตามมาก็คือ ผู้คนจะไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ ทำให้ระบบโดยรวมอ่อนแอกว่า และไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น หรือองค์กรอื่นได้

ประเทศและองค์กรแบบนี้ก็มีไม่น้อย ซึ่งชนชั้นนำอาจจะเห็นว่าไม่เป็นไร เพราะยังรู้สึกมั่นคงกับสถานภาพแบบนี้มากกว่า กล่าวคือ แม้กระทั่งในองค์กรที่ล้าหลัง และแข่งขันไม่ได้ แต่มันก็มีผลผลิตระดับหนึ่งให้พออยู่กันได้ คือรักษาเสถียรภาพไปวันๆ และถดถอยไปเรื่อยๆ เพราะส่วนแบ่งการตลาดถูกแย่งไปอย่างต่อเนื่อง

ความคิดรักษาเสถียรภาพแบบนี้พอไปกันได้ในอดีต แต่ในยุคนี้เริ่มใช้ไม่ได้ เพราะคนที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากพลังของพวกเขาจะถูกกีดกันไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์พัฒนา คนเหล่านี้เริ่มใช้พลังที่มีอยู่มาใช้ในการต่อต้าน หรือสร้างความขัดแย้งภายในทำให้ระบบที่เดิมอ่อนแออยู่แล้ว อ่อนแอลงไปอีก แถมยังไปกระทบต่อเสถียรภาพการดำรงอยู่ของชนชั้นนำ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อยู่กันไปแบบลำบากๆครับ

กำไร…จากความเท่าเทียมกัน

ทุนมนุษย์ 2020

จุมพฏ สายหยุด

กรุงเทพธุรกิจ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.