รู้ไหมว่ามหาวิทยาลัยระดับโลก เขาสร้างกันอย่างไร : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

travel-oxford-university-26

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในโลกของมหาวิทยาลัย Shanghai Jiao Tong ซึ่งถือว่าระบบการจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับกันในระดับนานาชาติว่าดีที่สุดระบบหนึ่ง ปรากฏว่าไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในประเทศไทยติดอันดับกับเขาเลย ทั้งที่มีคนไทยจำนวนไม่น้อยมีโอกาสไปเรียนต่อและสามารถจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเองก็มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าคนชาติอื่นเลย แสดงว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถ แต่เป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการและโครงสร้างแรงจูงใจ จึงทำให้เพชรเม็ดงามในวงการวิชาการของเราไม่สามารถเปล่งประกายในระดับโลกได้

คำถามคือ ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเราจำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยระดับโลกหรือไม่

คำตอบคือ จำเป็น

มหาวิทยาลัยเป็นภาพสะท้อนของภูมิปัญญาของประเทศในระดับนานาชาติ ซึ่งมีผลทางบวกกับประเทศในหลายๆ ด้านด้วยกัน ผลที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ กว่าจะได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยจะต้องมีการผลิตผลงานทางวิชาการระดับมาตรฐานโลกได้มากพอในระดับหนึ่ง นั่นหมายถึง การสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้วิจัย มหาวิทยาลัย และส่งทอดไปยังลูกศิษย์ลูกหา ประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

การสั่งสมและเผยแพร่องค์ความรู้เหล่านี้ คือ พื้นฐานของการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ อุตสาหกรรม และประเทศในระยะยาว

มาตรฐานทางวิชาการของมหาวิทยาลัยระดับโลก จะกลายเป็นมาตรฐานอ้างอิง เพื่อให้มหาวิทยาลัยอื่นในประเทศได้ทำตามอย่าง ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยโดยรวมให้สูงขึ้นในระยะยาว

ผลประการต่อมา คือ มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ย่อมสามารถดึงดูดนักศึกษาเก่งๆ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศให้เข้ามาศึกษาต่อ การมีคนเก่งมาเรียน โดยเฉพาะการเรียนในระดับปริญญาโทและเอกที่มีการวิจัยอย่างเข้มข้นนั้น ก็เท่ากับว่า คนเก่งเหล่านี้เข้ามาช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยด้วยอีกแรงหนึ่ง เพราะงานวิจัยของนักศึกษามักจะมีส่วนเสริมงานวิจัยที่อาจารย์กำลังทำอยู่ จึงสามารถผลิตผลงานวิชาการออกมาได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว การมีนักศึกษาจากต่างชาติมาเรียน ยังหมายถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ แถมยังเป็นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาว เพราะการจะเรียนให้จบหลักสูตรได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ ระหว่างที่เรียนอยู่ก็ต้องจับจ่ายใช้สอย หากวัดกันแล้ว รายจ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีจากนักศึกษาต่างชาติคนหนึ่ง น่าจะมากกว่ารายจ่ายเฉลี่ยต่อคนของนักท่องเที่ยวเสียอีก

ผลพลอยได้ต่อมา ก็คือ การได้มาใช้ชีวิตในประเทศไทย ย่อมทำให้เขารู้สึกคุ้นเคยกับสินค้าและวัฒนธรรมของเรา เมื่อกลับไป เขาก็จะกลายเป็นลูกค้าของประเทศต่อไปอีก

การมีนักศึกษาต่างชาติมาเรียน ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความคิดความอ่านของชาติอื่น และความสัมพันธ์ระหว่างที่เรียนอยู่ด้วยกัน ยังสามารถพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ ช่วยให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ในอนาคต

งานวิจัยด้านปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัย และงานวิจัยของธนาคารโลกสรุปไว้ว่า องค์ประกอบหลักที่จะทำให้การสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลกประสบความสำเร็จนั้นมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ 1. การรวมอาจารย์เก่งๆ นักวิจัยเก่งๆ และนักศึกษาเก่งๆ ไว้ด้วยกัน 2. การมีกฎระเบียบที่เหมาะสม โปร่งใส มีระบบการประเมินผลงานที่เป็นธรรม เอื้อต่อการสร้างคนเก่ง และเปิดโอกาสให้คนเก่งสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ และ 3. การมีทรัพยากรจำนวนมาก สามารถให้ผลตอบแทนสูงพอที่จะดึงดูดให้คนเก่งๆ เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย สามารถให้ทุนกับนักศึกษาที่มีศักยภาพ และสามารถส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณภาพได้

องค์ประกอบเรื่องคนเก่งนั้น ประเทศไทยเองมีพร้อมอยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ยังกระจัดกระจายกันอยู่ หากสามารถนำคนเก่งเหล่านั้นมารวมกันได้ และมีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ องค์ประกอบแรกก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่

องค์ประกอบที่สองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะแม้กฎระเบียบบางส่วนของมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จะมีการปรับเปลี่ยนไปในเชิงบวกมากขึ้น แต่บุคลากรภายในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย ยังมีความคิดชินอยู่กับวัฒนธรรมเก่าๆ ค่านิยมเดิมๆ จนบางครั้งกลายเป็นปัญหามากกว่าตัวของกฎระเบียบเองเสียอีก

เรื่องเงินซึ่งเป็นองค์ประกอบสุดท้ายน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมากที่สุด เนื่องจากจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ในสองประเด็น

ประเด็นแรก คือ จะต้องใช้เงินเท่าไรจึงจะพอสำหรับการสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลก

เกือบร้อยปีที่แล้ว ตอนที่มหาเศรษฐีชาวอเมริกันจอห์น ร็อคกีเฟลเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ เขาเคยถามชาร์ลส์ อีเลียท อธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เป็นคนทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ว่า ต้องใช้เงินเท่าไรถึงจะสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ อีเลียท บอกว่า ต้องใช้เงินห้าสิบล้านดอลลาร์ (ในสมัยนั้น) กับเวลาอีกสองร้อยปี

มหาวิทยาลัยชิคาโกใช้เวลาเพียงยี่สิบปีก็ก้าวมาขึ้นมาอยู่ในระดับโลกได้ แต่ต้องใช้เงินถึงร้อยล้านดอลลาร์ ประมาณกันว่า ตอนนี้ถ้าจะสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลกสักแห่งหนึ่ง คงต้องใช้เงินประมาณ ห้าร้อยล้านดอลลาร์ หรือหนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท

ผลการประมาณนี้เป็นการประมาณโดยใช้ต้นทุนของประเทศพัฒนาแล้ว หากเป็นประเทศไทย จะแข่งกับเขา ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน น่าจะใช้เงินน้อยกว่านี้เยอะ ต้นทุนในการยกระดับมหาวิทยาลัยให้ติดระดับท็อป 100 โดยการให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติม (Endowment Fund) อย่างมากที่สุดไม่น่าจะเกิน 5,000-6,000 ล้านบาท ส่วนเวลาน่าจะไม่เกิน 30 ปี

เรื่องที่ต้องคิดกันให้หนัก คือ จะเอาเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับมหาวิทยาลัยไหนดี หากมองกันจริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพพอจริงๆ มีไม่เกินห้าแห่ง แต่การจะเลือกที่ใดที่หนึ่ง จะต้องมีการเก็บข้อมูลและหาเหตุผลมาสนับสนุนให้เพียงพอ อาจจะทำแบบมาเลเซีย ที่ประกาศก่อนว่าให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถเข้าแข่งกันได้ โดยกำหนดเวลาไว้ว่ามีเวลาระยะหนึ่ง ให้มหาวิทยาลัยที่สนใจแข่งกันพัฒนา มหาวิทยาลัยไหนมีผลงานวิชาการออกมาในระดับนานาชาติมากกว่ากัน พัฒนาการเรียนการสอนได้ดี มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการได้เหมาะสมที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะ ได้เงินสนับสนุนไป

แม้จะมีผู้ชนะเพียงแห่งเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ว สังคมไทยโดยรวมมีแต่ได้กับได้ คนไทยเก่ง สอนให้คนไทยเก่งขึ้น การลงทุนแบบนี้ ดูยังไงมีแต่ได้กับได้ แถมยังถูกกว่าโครงการรถเมล์ 4,000 คัน ที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว หรือโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชนเจ้าปัญหาเป็นไหนๆ

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

คณะเศรษฐศาสตร์ กรุงเทพธุรกิจ

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.