Blog 10 : เนื้อหาที่น่าสนใจจาก Fortune Retirement Guide 2011 – “Take Control and Win”

นานๆมาเขียน blog ซักทีครับ พอดีวันก่อนไปอ่านนิตยสาร Fortune ที่ม. เป็นฉบับพิเศษสำหรับนักลงทุน คือ Retirement Guide 2011 เห็นมีประเด็นเนื้อหาที่น่าสนใจ เลยหยิบมาเขียนให้อ่านกัน (ผมแปลสรุปเอาเอง อาจจะผิดๆถูกๆนะครับ ฮ่าๆ)

หลังจากอ่านแล้ว คิดว่าหัวข้อที่เหมาะสมน่าจะเป็น ‘Successful investing isn’t about intelligence’ ครับ

บทความยกให้เห็นตัวอย่างการลงทุนของ Isaac Newton ที่เคยเก็งกำไรในหุ้น South Sea Co. โดยเมื่อเขาอายุ 77 ปี ได้ทำการซื้อหุ้น South Sea เอาไว้ และขายเมื่อมันขึ้นไปกว่า 100% ซึ่งจุดนี้ถือได้ว่าเป็นความฉลาดตามแบบของ Newton (Typical Newtonian genius) เพียงแต่ว่าหลังจากนั้น 2 เดือน เขาดันกลับไปซื้อหุ้นตัวนี้อีก (ทั้งๆที่ราคามันสูงขึ้นกว่าตอนที่ขายไปอีก) หลังจากนั้นฟองสบู่ก็แตก Newton ก็สูญเงินลงทุนเพื่อการเกษียณไปมากมาย

ประเด็นนี้ต้องการจะสื่อว่า การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและสติปัญญาเพียงอย่างเดียว (ไม่งั้นคนฉลาดอย่าง Newton ก็คงไม่ขาดทุนย่อยยับ) หรือไม่งั้นเราก็คงไม่ได้เห็นคนฉลาด-คนเรียนเก่งๆมากมายในตลาดหุ้น ขาดทุนกันเป็นประจำ

ความผิดพลาดส่วนใหญ่ในการลงทุน ไม่ได้เกิดจากการเลือกหุ้นหรือเลือกกองทุนผิดพลาด ความผิดพลาดส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องพื้นๆ (The investing blunders that most damage our retirement prospects aren’t errors of picking the wrong stock or fund. They’re much more basic…)

โดยหลักๆจะมาจาก 2 ปัญหาหลักคือ

– เราควรจะเริ่มลงทุนเพื่อการเกษียณของเราตั้งแต่เนิ่นๆ แต่คนเราส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น ส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงเรื่องลงทุน เรามักจะผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะยังไม่เห็นความสำคัญของการออมเงิน

– เมื่อเราได้เริ่มมีการลงทุน แทนที่เราจะให้เวลากับมันอย่างใจเย็น ไม่ต้องไปยุ่งอะไรมันมากโดยไม่จำเป็น แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะอดใจไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนการลงทุนตลอดเวลา โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนในเวลาที่ผิดพลาด (อยู่เฉยๆในเวลาที่ควรปรับ แต่ไปปรับในเวลาที่ควรอยู่เฉยๆ) – Sitting still when we should act, and acting when we should sit still –

ถ้าหากเราสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดใน 2 ประเด็นใหญ่นี้ได้ (avoid those two mammoth mistakes) การประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อการเกษียณก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วละครับ

โชคดีที่คุณไม่จำเป็นต้องฉลาดสุดๆในการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดพวกนี้ ขอแค่คุณเข้าใจมันก็พอ (Fortunately, you don’t have to be brilliant to avoid them. You just have to understand them.)

สำหรับประเด็นเรื่อง การเริ่มต้นลงทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ได้ค้นพบว่า ความรู้สึกแย่หรือการกลัวขาดทุนเงิน 100$ จะมีมากกว่าความรู้สึกยินดีจากการได้กำไร 100$ ทำให้คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงเรื่องการลงทุน (เพราะกลัวเสียใจเมื่อขาดทุน)

แต่ประเด็นนี้ได้มีการวิจัยเพื่อแก้ปัญหา โดยพบว่า เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างลองดูภาพจำลองที่ทำให้เขาดูมีอายุมากขึ้น – ประมาณ 70 ปี – ความรู้สึกอยากลงทุน(ออมเงิน)เพื่อการเกษียณจะมีมากตามไปด้วย (ในบทความบอกให้คุณลองนึกภาพตัวคุณเองตอนอายุ 70 แล้วคิดถึงการใช้ชีวิตยามเกษียณดู หรือเอาแค่คิดไปอีก 10 ปีข้างหน้า ความรู้สึกเรื่องการออมเงิน-การลงทุนเพื่อการเกษียณก็น่าจะเพิ่มขึ้นเอง)

สำหรับประเด็น พฤติกรรมในการลงทุน – ‘acting when we should do nothing’ หรือ ‘Sitting still when we should act, and acting when we should sit still’ – ซึ่งปัญหานี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของคนส่วนใหญ่นั้น ผิดพลาดหรือผิดคาดเป็นอย่างมาก และทำให้อนาคตของคนส่วนใหญ่ต้องหลุดลอยไป ลองมาดูกันครับ

ดัชนี S&P 500 ผลตอบแทนเฉลี่ย 20 ปี อยู่ที่ 9.1% แต่ผลการสำรวจกลับพบว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยของนักลงทุนหุ้นใน US ตลอด 20 ปี ทำได้เพียง 3.8% (research firm Dalbar )

นี่หมายความว่า หากนักลงทุนทำเพียงแค่ซื้อดัชนี S&P 500 แล้วนั่งนิ่งๆ ถอดปลั๊กคอมฯกับสายโทรศัพท์ทิ้งไปซะ พอ 20 ปีผ่านไป พวกเค้าก็คงจะได้ผลตอบแทนที่ไม่เลวเลย

แต่ว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักจะซื้อหุ้นตอนยอดดอย และขายตอนเกือบจุดต่ำสุด ซึ่งพฤติกรรมพวกนี้เป็นการทำลายผลตอบแทนของพวกเขาในระยะยาวโดยไม่รู้ตัว (But because investors are constantly buying near the top and selling near the bottom, they wreck their performance.)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นแบบนี้มาจาก

– recency bias – ความเชื่อที่ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และคิดว่าหุ้นก็คงจะปรับตัวตามสิ่งที่นักลงทุนเพิ่งทำลงไป (เช่น หุ้นตกลงมาเรื่อยๆ ก็ขายทิ้งเพราะคิดว่าเดี๋ยวมันต้องลงต่อ หรือ ซื้อเพราะเห็นมันขึ้นมาเรื่อยๆ มันก็น่าจะขึ้นต่อไป อันนี้ถ้าเราอ่านบทวิเคราะห์พวกเดา set จะเห็นได้ชัดครับ เวลาพอลงหนักๆเค้าก็จะเขียนว่าแนวโน้มจะลงต่อ พอกลับมาขึ้นใหม่ ก็มาเขียนว่าแนวโน้มน่าจะขึ้นต่อ เพราะเหตุผลต่างๆนาๆ)

– regret avoidance – การไม่สามารถต้านทานกระแสของคนส่วนใหญ่ได้ (ไม่รู้แปลถูกหรือเปล่านะครับ) ทำให้นักลงทุนก็จะมีพฤติกรรมทำตามๆกัน (Herd behavior) เพราะเรามักจะรู้สึกดีเมื่อเห็นว่าเราได้ทำตามคนส่วนใหญ่และคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ฉลาดแล้วละ (สบายใจ) ดีกว่าการที่จะไปสวนกระแสฝูงชน (เพราะมันอึดอัด)

(อ่านๆไปรู้สึกว่าเนื้อหาของบทความนี้ส่วนใหญ่จะตรงกับแนวคิดหลักๆของ VI ละครับ)

หลังจากรู้ปัญหาและสาเหตุที่ทำให้การเกษียณไม่เป็นไปตามที่ฝันแล้ว บทความนี้ยังกล่าวถึงความแตกต่างที่น่าสนใจระหว่างอดีตกับปัจจุบันไว้ว่า

“โชคดีที่ในปัจจุบัน คุณมีทั้งข้อมูล และมีบริการของบริษัทต่างๆที่จะมาช่วยคุณในเรื่องการออมและการลงทุนเพื่อเการกษียณเป็นจำนวนมาก รวมถึงแผนการเกษียณของบริษัทต่างๆ ก็ทำให้คุณมีตัวช่วยให้ประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ง่ายกว่าในอดีตมาก”

เมื่อย้อนกลับไปดูประโยคไว้อาลัยการลงทุนในหุ้นของ Newton คือ “I can calculate the motions of the heavenly bodies but not the madness of men”

เราจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้เราสามารถทำสิ่งต่างๆที่ Newton นั้นทำไม่ได้ เรามีบทเรียนความผิดพลาดมากมายที่ทำให้การเกษียณไม่เป็นไปตามฝัน เรารู้ถึงสาเหตุและวิธีการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดนั้นๆ

ถึงแม้คุณจะไม่ได้เป็นคนประดิษฐ์สมการแคลคูลัส แต่ขอแค่ให้คุณมีทัศนคติ แนวคิด และการกระทำที่ถูกต้องไม่กี่อย่าง เพียงแค่นี้ คุณก็สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเพื่อการเกษียณได้เหมือนกันครับ

(Maybe you couldn’t invent calculus. But by getting a few big things right, you can look like a retirement genius.)

อันนี้จบบทความเกริ่นนำของ Retirement Guide 2011 ครับ ส่วนต่อไปเค้าพูดถึง 5 trend ของโลกที่น่าสนใจ เอาไว้จะขึ้นเป็น blog ใหม่ละกันครับ (เพราะมันยาว) หรือจะเข้าไปอ่านจาก link ต้นฉบับ ก่อนเลยก็ได้ครับ

4 ก.ค. 2554

Blog 10 : สรุปเนื้อหาจาก Fortune Retirement Guide 2011 – “Take Control and Win”

แปลและสรุปจาก ‘Retirement Guide 2011: Take control and win โดย Geoff Colvin’

www.sarut-homesite.net

Author: admin

1 thought on “Blog 10 : เนื้อหาที่น่าสนใจจาก Fortune Retirement Guide 2011 – “Take Control and Win”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.