แก้จน ทำได้แค่ “สงเคราะห์” : บุญลาภ ภูสุวรรณ

รัฐบาลประกาศยืดมาตรการ “ฟรี” ออกไปอีก 6 เดือน ทั้งรถไฟ รถเมล์ น้ำ ไฟ ฟรี รวมทั้งตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ก๊าซเอ็นจีวี รวมเบ็ดเสร็จต้องใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่รัฐบาลให้ข่าวว่า เศรษฐกิจปีนี้โต 6%

ก็ไม่รู้ว่ารัฐต้องเยียวยากันทุกเรื่องหรืออย่างไร บางเรื่องก็เหมาะสม แต่บางเรื่องไม่ต้องฟรีไปทุกเรื่องก็ได้ อย่าให้คนรับเขารู้สึกว่าชีวิตนี้เขาไม่ต้องทำอะไรเลย รอรัฐบาลหยิบยื่นให้เท่านั้น

ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ก็ยืดอายุมาตรการ “ฟรี” ต่อ โดยอ้างว่าเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดี ต้อง “อุ้ม” ให้ประชาชนมีกำลังซื้อ แต่ลึกๆแล้วข่าววงในพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า นายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รู้ดีตั้งแต่เข้ามาบริหารว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ต้องออกมาพูดว่าไม่ดี ลึกๆต้องการออก “แพ็กเกจประชานิยม” เพื่อซื้อใจประชาชน

รัฐมัวแต่กังวลเรื่อง “ซื้อใจคนด้วยของฟรี” แต่ไม่ได้ดูว่า วันนี้การลงทุนของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงไปเรื่อยๆอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ หาไม่แล้วระยะยาวไทยเดือดร้อนแน่

ดังนั้น งบประมาณแทนที่จะเอาไป “สงเคราะห์” เขา เอาไปสร้างเสริมขีดความสามารถและสุขภาวะให้ประชาชนที่เขาขาดแคลนจริงๆ หรือให้เพื่อต่อยอดคนที่เขาคิดเป็น ทำเป็น อย่างคุณลุงคนหนึ่ง ที่โฆษณาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เขาบอกว่าเขาไม่รอให้ใครมาช่วยหรอก เขามีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกผัก ผลไม้กินเอง ทำปุ๋ยชีวภาพเอง ใช้ภูมิปัญญาตัวเอง ขอให้เขามีที่ดินทำกิน พวกเขาก็อยู่อย่างมีความสุขแล้ว

ลองนึกดูว่า ถ้าหากทุกคนมีแต่ร้องขอให้รัฐบาลช่วย ตั้งแต่ผู้มั่งคั่งระดับบนจนถึงรากหญ้า อย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้มั่งคั่ง 10% ของประเทศที่รวยที่สุด พอค่าเงินแข็งก็โวยวาย ขอให้รัฐตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตรึงค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อไหร่ที่จะขึ้นค่าแรงก็โวยวายทุกครั้ง ถามว่าถ้าประชาชนไม่พอกิน พอใช้ แล้วสังคมจะอยู่ดี กินดี มีสุขได้อย่างไร

เช่นเดียวกับรากหญ้า เขาก็ขอให้ช่วยปลดหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะอาชีพทำนา ทำสวน มีต้นทุนสูงมาก มีปัญหาการตลาด รัฐจะมีเครื่องมือหรือกลไกอะไรช่วยเหลือให้เขายืนได้ด้วยตัวเองไหม เพราะเรามีตัวอย่างชาวนา ชาวสวนที่ร่ำรวย ผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ ก็มีให้เห็นมากมายแล้ว

นี่คือประเด็นว่า รัฐบาลมีเงิน มีอำนาจ รู้ปัญหา แต่แก้ความจนไม่ได้เสียที ซึ่งไม่ต้องแก้ให้หมด แต่ทำอย่างไรให้น้อยลงเรื่อยๆ

เราพูดเรื่องความยากจนในหัวข้อซ้ำๆ และให้การ “สงเคราะห์” มายาวนาน … นั่นใช่ทางออกของไทยหรือเปล่า !

ถ้าหากกลไกส่วนไหนเป็นง่อย ขอให้ทำแค่เบื้องต้น บอกตัวเองว่าจะไม่โกง รับผิดชอบต่อสังคมตามอำนาจหน้าที่ที่ตนเองมี ก็ช่วยยกระดับการกินดี อยู่ดี ให้คนรอบข้างได้แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรที่ใหญ่โตเกินกำลังตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่มีเครือข่ายพันธมิตรมากมายเพียงพอที่จะขับเคลื่อนได้ ก็เป็นพลังที่ใหญ่ขึ้น

แค่มีความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจังและจริงใจก็ช่วยได้แล้ว

ในห้วงวิกฤตความแตกแยก เราเรียกร้องให้คนไทยรักสามัคคี ช่วยเหลือ มีน้ำใจให้กัน แต่ทุกครั้งที่อยู่บนถนนในกรุงเทพฯ จะรู้สึกบ่อยครั้งว่า หาสิ่งเหล่านี้ยากมาก แค่เปิดไฟเลี้ยวขอทางยังไม่ให้ทาง จะปรี่เข้ามาทันที คนจะข้ามถนน มีน้อยคันที่ใจดีหยุดรถให้คนข้ามด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ที่หยุดเพราะคนข้ามมาครึ่งถนน ถ้าไม่หยุดก็ชน เช่นเดียวกับการหยุดรถเพื่อให้รถยูเทิร์นกลับได้ ต้องใช้ความสามารถพิเศษเขยิบออกไปเรื่อยๆ จนกว่ารถทางตรงจะไปไม่ได้ นั่นแหละถึงจะหยุดรถให้เขากลับรถได้ นี่คือคนไทยที่รักกัน!

หากเราไม่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม สำนึกในหน้าที่พลเมืองที่ต้องเคารพกฎกติกาแล้ว เราจะพูดจากันด้วยเหตุด้วยผลได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันทุกวันก็ว่าได้

ดังนั้น ภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง แต่คนจนยังต้อง “สงเคราะห์” กันอยู่ เราจะปล่อยให้นายทุนและเจ้าของที่ดินได้ประโยชน์กันไปอีกนานแค่ไหน

ทั้งๆที่เรามีจุดแข็งมากมาย ทั้งเรื่องท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ รวมทั้งงานเอาต์ซอร์ซต่างๆ อาทิ การตัดต่อภาพยนตร์ การเป็นโรงพยาบาลสัตว์พิเศษเฉพาะทางที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น

แต่การทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี มีสุข ทำไมจึงเป็นเรื่องที่ยากเข็นขนาดนี้!

แก้จน ทำได้แค่ “สงเคราะห์”

บุญลาภ ภูสุวรรณ

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปีที่ 34 ฉบับที่ 4223  ประชาชาติธุรกิจ

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.