ยุคทองของเอเชีย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

กลางสัปดาห์ที่แล้วมีการประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่องของภูมิภาคเอเชีย ชื่อ “เอเชียในทศวรรษหน้า” (Asia in the Next Decade) จัดโดย IGLP Program คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์  และหน่วยงานอื่นๆอีกหลายแห่ง

งานนี้ถือว่าเป็นงานระดับประเทศที่มีวิทยากรระดับอดีตประธานาธิบดีและอดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีของหลายประเทศ มาร่วมให้ความเห็นและข้อคิด ซึ่งแน่นอนว่า ท่านเหล่านี้ย่อมมีความคิดและมุมมองที่น่าสนใจ

ดิฉันไม่สามารถจะรวบรวมมาเขียนได้ทั้งหมด เพราะการประชุมใช้เวลา 2 วัน และมีหัวข้อหลากหลาย แต่จะขอรวบรวมข้อคิดเด่นๆของงานมาให้ท่านรับทราบเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการวางแนวทางของธุรกิจของท่าน หรือแนวทางในการวางนโยบายของประเทศต่อไป

วิทยากรเกือบทุกท่าน จะกล่าวถึงเอเชียในฐานะทวีปที่จะทรงอิทธิพลในทศวรรษต่อไป โดยนอกจากจะมีอิทธิพลในฐานะแหล่งผลิตสินค้าแล้ว คนเอเชียยังจะเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดของโลกด้วย

อดีตผู้นำของหลายประเทศกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า หลังการเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในซีกโลกตะวันตกที่ผ่านมานั้น จะเกิดศูนย์กลางใหม่ คือ เอเชีย แต่เป็นเพียงศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ ในความหมายจริงๆโลกในอนาคตจะไม่มีศูนย์กลางอีกต่อไป เมื่อโลกมีพลวัตสูง อยากเดินทางไปไหน เรียนที่ไหน หาข้อมูลจากไหน ก็สามารถทำได้ตลอดเวลา คนรุ่นใหม่ที่เห็นและเรียนรู้จากที่อื่นๆในโลก ก็มีความคาดหวังมากขึ้น เรียกร้องมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาในทางปกครองในหลายประเทศในเอเชีย

อย่างไรก็ดี ในการจัดระเบียบของโลกใหม่ที่ตะวันตกอ่อนแรงนั้น จีนไม่ได้ทำบทบาทอย่างที่สหรัฐอเมริกาได้ทำมาตลอด 60 ปีที่ผ่านมา คือการเป็นศูนย์กลางของอำนาจ และดูแลระเบียบของโลก เมื่อสหรัฐอเมริกาอ่อนกำลังลง ยังไม่เห็นว่าจะมีประเทศใดที่สามารถจะมาเป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคงและความสงบของโลกแทนในระยะเวลาอันใกล้นี้

ประเด็นหนึ่งที่มีความเป็นห่วงกันมาก คือ เรื่องของ การกระจายรายได้ ในทุกๆประเทศที่กำลังพัฒนา ช่องว่างของรายได้ระหว่างผู้มีรายได้สูงกับผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผลพวงของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลที่จะต้องทำการลดช่องว่างนี้ต่อไป ซึ่งทำให้มีการย้อนกลับการ privatize กิจการที่เกี่ยวกับความจำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น น้ำประปา และไฟฟ้า ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นิยมแปลงกิจการเหล่านี้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชน ในตอนนี้มีแนวโน้มที่จะซื้อกลับมาเป็นของรัฐแล้ว เพื่อจะได้จัดสรรให้ทั่วถึงมากขึ้น ในราคาที่ถูก หรือมีการอุดหนุน

นอกจากนี้ การที่คนรุ่นใหม่ในเอเชีย โดยเฉพาะในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ได้รับการศึกษามากขึ้น เห็นโลกที่กว้างขึ้นผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “การตื่นตัวทางการเมือง” หรือ Political Awakening มีการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยกันอย่างกว้างขวาง การเรียกร้องนี้ หากควบคุมไม่ได้ ก็อาจนำไปสู่ความไม่สงบ ดังที่เกิดขึ้นมามากมายในหลายประเทศ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

คำเตือนและข้อควรระวังเกี่ยวกับการผงาดขึ้นมาของเอเชีย คือ ตามปกติเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ มักจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น แต่ในครั้งนี้ถือว่าไม่มี หรือมีก็น้อยมาก เนื่องจากผู้นำของจีน มีความสุขุมรอบคอบอย่างยิ่ง ด้วยการพยายามถ่อมตัว และทำตัวเงียบ แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แรงๆออกมา ซึ่งทำให้โลกไม่เกิดความสั่นสะเทือนเหมือนการเปลี่ยนขั้วอำนาจในอดีตที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในน่านน้ำที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซอยู่ ก็จะเป็นประเด็นต่อไปในอนาคต ซึ่งน่าจะมีทางออกในลักษณะที่มีร่วมกันในทะเลเหนือ คือ สองประเทศต่อท่อรับน้ำมันไป อีกหนึ่งประเทศต่อท่อรับก๊าซไป

อย่างไรก็ดี วิทยากรได้ให้ข้อคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น ไอเอ็มเอฟ หรือสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะมีตัวแทนจากชาติเอเชียเข้าไปมีบทบาทในการนำมากขึ้น

ประเทศในเอเชีย จะค้าขายกันเอง พึ่งพากันเองมากขึ้น ทั้งภายในประเทศของตนเอง และภายในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ซึ่งจีนได้มีนโยบายชัดเจน ที่จะเน้นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร เพื่อให้ประชากรในประเทศซึ่งมีอยู่มหาศาล เป็นผู้บริโภคที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนในช่วงต่อไป เมื่อเศรษฐกิจของโลกอ่อนแอ

สิ่งที่รู้สึกและสัมผัสได้ชัดเจน คือ คนเอเชียมีความมั่นใจในอนาคตของเอเชียมากขึ้น

วิทยากรหลายท่านไม่ได้กล่าวออกมาโดยตรง แต่ในการให้ความเห็นก็มีนัยแฝงว่า การที่ประเทศจีน มีระบบที่ไม่ได้เปิดเสรี มีการควบคุมจากส่วนกลาง ทำให้การบริหารจัดการสิ่งต่างๆทำได้ง่ายขึ้น  มีความมั่นคงขึ้น ต่างจากการเปิดประเทศอย่างเสรีของสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวาย แตกแยก และมีปัญหาตามมาอีกมากมาย

ที่ดิฉันชอบมากเป็นเรื่องที่วิทยากรตอบคำถามเรื่องการคอร์รัปชันในประเทศกำลังพัฒนา โดยกล่าวถึงการเมืองว่า การเมืองเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สามารถถูกแก้ได้ด้วยกลไกทางตลาด ในประเทศกำลังพัฒนานั้น เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด การเมืองจึงหมายถึง การจัดสรรสิ่งที่อยู่นอกงบประมาณ หรือสิ่งที่ไม่ได้มีกฎกติกากำหนดไว้ ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นการโยกย้ายการจัดสรร (redistribute) ไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือหลายๆกลุ่ม

ที่ชอบเพราะว่า กำลังรอให้ประเทศเราเจริญไปถึงระดับเดียวกับญี่ปุ่นที่ดิฉันสัมผัสมา เมื่อ 30 ปีก่อนดิฉันได้มีโอกาสไปเรียนภาคฤดูร้อนในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นด้วยทุนของเจแปนแอร์ไลนส์ ได้เรียนรู้ว่าที่ญี่ปุ่นในตอนนั้น ก็มีการซื้อเสียงเช่นกัน นักการเมืองให้รองเท้าชาวบ้าน 1 ข้าง และสัญญาว่าถ้าได้รับเลือกตั้งจะนำมาให้อีกข้างหนึ่ง และจะมาสร้างถนน โรงเรียน ฯลฯ  หลังจากนั้น เมื่อมีกฎหมายทำให้การซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ผิด และเมื่อบ้านเมืองเจริญมาถึงจุดหนึ่ง ทุกหมู่บ้านมีถนนอย่างดีเข้าถึง มีโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน น้ำไหลแรง ไฟฟ้าสว่าง นักการเมืองไม่สามารถสัญญาที่จะให้อะไรได้อีกต่อไป (เพราะมีหมดแล้ว) การซื้อเสียงจึงหมดไป

ยุคทองของเอเชีย

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

29 สิงหาคม 2554

Author: admin

1 thought on “ยุคทองของเอเชีย : วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

  1. Pingback: crai | Pearltrees

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.