Blog 28 : กลยุทธ์พีระมิด สำหรับช่วงตลาดผันผวนสูงหรือไร้แนวโน้ม

บทความนี้เขียนโดย Gil Morales และ Chris Kacher ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ Trade Like an O’Neil Disciple ผมเห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาแปลลงเวบ

จริงๆแล้วกลยุทธ์นี้สามารถใช้ได้ในทุกสถานการณ์ แต่ในช่วงที่ตลาดผันผวนรุนแรงหรือไร้แนวโน้มที่ชัดเจน มันจะช่วยให้เราเสียหายน้อยลงมาก ในขณะที่ยังมีโอกาสทำกำไรได้ดีอยู่ครับ

ถ้าตรงไหนแปลไม่ดีต้องขออภัยด้วยนะครับ

####

A Pyramid Strategy in Frustrating, Trendless

by Gil Morales and Chris Kacher

ถ้าคุณเป็นนักลงทุนประเภท trend-follower ความผันผวนและการปรับตัวขึ้นๆลงๆอย่างรวดเร็วของตลาดในปี 2011 ได้ก่อให้เกิดสภาวะที่ยากลำบากสำหรับการทำกำไรตามแนวโน้ม (catching profitable trends) เพราะในช่วงที่ตลาดเป็นแบบนี้ Trend ที่เกิดขึ้น มักจะอยู่ได้ไม่นานนัก

(เสริม : การที่เกิด Trend ได้ไม่นานพอ มักจะทำให้กำไรที่เราเคยมีนั้นหายไป และบางครั้งอาจกลับกลายเป็นต้องตัดขาดทุนอีกด้วย)

ดังนั้น พวกเราคิดว่า นักลงทุนสามารถหลบเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากการตัดขาดทุนหลายๆครั้งติดกัน ( death of a thousand cuts ความหมายจาก investopedia ) โดยการใช้วิธีพีระมิดอย่างช้าๆในการซื้อหุ้น เพื่อที่ว่าหาก Trend นั้นกลับตัว หรือเป็น False Signal เราก็จะเสียหายน้อยมาก เพราะได้จำกัดความเสี่ยงเอาไว้แล้ว

ตัวอย่างการใช้กลยุทธ์พีระมิด

– ให้เลือกหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง รวมไปถึงมี price pattern ที่ดูดีกว่าหุ้นตัวอื่นๆ (Relative Strength สูง) เราอาจจะเข้าซื้อในสัดส่วนครั้งละ 15-20% ของพอร์ต ทุกๆครั้งที่หุ้นเริ่มมีสัญญาณซื้อตามระบบของเรา หรือเมื่อเริ่มถูกทาง

สำหรับนักลงทุนที่ conservative หรืออยาก take risk ให้น้อยลงในช่วงตลาดผันผวน ก็อาจจะเริ่มซื้อครั้งละ 10% ของพอร์ตแทนก็ได้

หรือสำหรับผู้ที่ conservative กว่านี้ ก็อาจจะซื้อเพียงครั้งละ 3-5% ของพอร์ต ทุกๆครั้งที่หุ้นเริ่มมีสัญญาณแทนก็ได้

– สิ่งสำคัญคือ เมื่อซื้อแล้ว คุณควรตั้งจุดตัดขาดทุนแบบ trailing stop ซึ่งก็คือการขยับจุด stop loss ตามทุกครั้งที่ราคาหุ้นขึ้น เพื่อเป็นการรักษาผลตอบแทนสำหรับการเทรดที่มีกำไร และจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุดถ้าการเทรดนั้นขาดทุน 

ซึ่งการทยอยซื้อเพิ่มเช่นนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้หุ้นตัวนั้นได้พิสูจน์ตัวเอง ก่อนที่คุณจะใส่เงินลงทุนเพิ่มเข้าไปอีก

จำไว้ว่า นักลงทุนในตำนาน อย่าง William O’Neil, Jesse Livermore, Gerald Loeb และ Bernard Baruch ต่างก็ใช้กลยุทธ์พีระมิดในการซื้อหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง (Winning Stocks หรือ Leading stocks) เพราะแนวโน้มของหุ้นชั้นนำพวกนี้สามารถเกิดขึ้นและคงอยู่ได้นานหลายเดือน หรืออย่างน้อยก็หลายสัปดาห์

‘กำไรก้อนโตเกิดจากการมองหาหุ้นที่ดีที่สุด และใช้วิธีพีระมิดในการซื้อหุ้นตัวนั้นๆ’

“The big money is made by finding the best then pyramiding into the best.”

สำหรับข้อดีของกลยุทธ์นี้ แบ่งได้เป็น 3 ข้อคือ

1. หุ้น Leading stocks มักจะสามารถขึ้นได้ในหลัก 100% ในช่วงที่ตลาดกระทิง ซึ่งกำไรก้อนโตก็จะมาจากการถือหุ้นเหล่านี้ในระยะเวลาที่นานพอ แต่อย่างที่ Jesse Livermore เคยกล่าวไว้ว่า มันเป็นการยากที่เราจะสามารถ “be right and sit tight.” ได้ตลอด

และเราก็ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่า หุ้นตัวไหนบ้างที่จะเป็น Big Winners ในอนาคต ดังนั้น การใช้วิธีพีระมิดนี้ ก็จะทำให้นักลงทุนเปิดโอกาสให้หุ้นได้พิสูจน์ตัวเองก่อนที่จะเข้าซื้อ โดยใช้การสังเกตจากราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลง

2. เราจะเสียหายน้อยลงหากการเทรดครั้งนั้นเกิดผลขาดทุน เพราะถ้าหุ้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เราก็จะไม่ได้เพิ่มสัดส่วน ดังนั้น position size ในการเทรดที่ขาดทุน ก็จะน้อยกว่า position size ในการเทรดที่ทำกำไรให้เรา

3. การที่หุ้นเกิด Trend ยาวนาน ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง trailing stop ด้วย ในกรณีนี้ Position Size ก็จะใหญ่ขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น เพราะเราใช้วิธีซื้อเพิ่มเมื่อราคาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนเฉลี่ยก็ควรที่จะต่ำกว่าราคาตลาดเสมอ แม้จะถึงเวลาที่หุ้นตกจนถึงจุด Stop ของเราก็ตาม

การที่เราทยอยเพิ่มสัดส่วน จะทำให้ Position Size ในหุ้น Winning Stocks มีขนาดใหญ่พอที่จะส่งผลต่อผลตอบแทนรวมของพอร์ตอย่างมีนัยยะ William O’Neil สามารถเป็นเศรษฐีพันล้านได้ ก็ด้วยการใช้วิธีพีระมิดในลักษณะนี้มาตั้งแต่ ปี 1963

นอกจากนี้ กลยุทธ์นี้ก็ยังช่วยในเรื่องจิตวิทยาอีกด้วย เพราะมันจะช่วยให้นักลงทุนสามารถมีสมาธิในการวิเคราะห์ภาวะตลาดรวมถึงหุ้นรายตัว โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวดกับการสูญเสียเงินลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมูลค่าของการขาดทุนมักจะน้อยมาก

และเมื่อแนวโน้มครั้งใหม่ได้เกิดขึ้น ก็จะทำสามารถทำการเข้าซื้อ โดยใช้วิธีพีระมิด ใน Trend ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้อย่างมั่นใจ…

‘Blog 28 : กลยุทธ์พีระมิด สำหรับช่วงตลาดผันผวนสูงหรือไร้แนวโน้ม’

www.sarut-homesite.net

แปลจากบทความ “A Pyramid Strategy in Frustrating, Trendless” โดย Gil Morales และ Chris Kacher

28 กันยายน 2012

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.