‘ROE’ สำคัญกับการลงทุนอย่างไร? : วิบูลย์ พึงประเสริฐ

การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีหลักการในการลงทุนหลายอย่าง บางท่านอาจจะให้ความสำคัญกับปริมาณการซื้อขายและราคาหุ้นเป็นหลัก โดยใช้หลักการทางเทคนิคเป็นจุดสำคัญ หรือ บางท่านอาจจะชอบลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ซื้อขายวันต่อวัน

การลงทุนในลักษณะดังกล่าว อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องรู้ซึ้งถึงตื้นลึกหนาบางของบริษัทที่จะลงทุนมากนัก สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในระยะสั้นมากกว่า

แต่ “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” ที่เน้นการถือหุ้นที่มีศักยภาพในระยะยาว สิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับนักลงทุนก็คือ การที่นักลงทุนควรจะเข้าใจในพื้นฐานของธุรกิจที่จะลงทุนนั้นเป็นอย่างดี

คราวนี้ เราจะมาเจาะลึกถึงหัวข้อของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญค่าหนึ่ง ก็คือ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity Ratio หรือ ROE)

ROE คือ การหาความสัมพันธ์ระหว่าง ความสามารถในการทำกำไรกับเงินลงทุนของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ สูตรที่ใช้กันทั่วไปก็คือ

ROE = Net Profit/Equity หรือ กำไรสุทธิ หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น

สมมติ บริษัท ก. มีงบกำไรขาดทุนและงบดุล ณ ปลายปี คร่าวๆดังนี้

งบกำไรขาดทุนบริษัท ก. (หน่วย: ล้านบาท)

ยอดขาย 12,000

ต้นทุนรวมภาษี 10,800

กำไรสุทธิ 1,200

งบดุลบริษัท ก.(หน่วย: ล้านบาท)

ทรัพย์สินหมุนเวียน 2,000 หนี้สินหมุนเวียน 2,000

ทรัพย์สินถาวร 8,000 หนี้สินระยะยาว 0

ส่วนของผู้ถือหุ้น 8,000

รวมทรัพย์สิน 10,000 รวมหนี้สินและส่วนผู้ถือหุ้น 10,000

ดังนั้น ROE ของบริษัท ก. คำนวณจาก กำไรสุทธิหารด้วยส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเท่ากับ 1,200/8,000 = 15%

ในทางปฏิบัติ ควรจะนำส่วนผู้ถือหุ้นของต้นปีและปลายปีมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อความถูกต้องมากขึ้น ROEที่คำนวณได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถนำเงินของผู้ถือหุ้นไปลงทุนได้ผลตอบแทนเท่ากับ 15% จากการดำเนินงานของบริษัทตามปกติ

นักลงทุนสามารถนำ ROE ไปเปรียบเทียบระหว่างบริษัทต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อตรวจสอบความสามารถของผู้บริหารในการบริหารเงินลงทุนของบริษัท

สมมติอีกบริษัทหนึ่ง คือ บริษัท ข. มี ROE เท่ากับ 5% เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ก. ข้างต้นที่มี ROE 15% แล้ว นักลงทุนจะพบว่า บริษัท ก. มีความสามารถในการทำกำไรมากกว่าในจำนวนเงินลงทุนที่เท่ากัน

สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว บริษัทที่มี ROE สูงกว่าจะน่าสนใจมากกว่า เพราะบริษัทที่มี ROE สูง สามารถที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่าบริษัทที่มี ROE ต่ำกว่า

แต่ในขณะเดียวกัน การรักษา ROEให้สูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายนัก
เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี ถ้าบริษัทดำเนินกิจการอย่างมีกำไรและเก็บบางส่วนไว้เป็นกำไรสะสม จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรักษา ROE ให้อยู่ในระดับเดิม บริษัทจำเป็นต้องทำกำไรให้มากขึ้นให้เพียงพอต่อการเติบโตของส่วนผู้ถือหุ้น

ตัวอย่างเช่น ถ้าส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นปีละ 10% บริษัทที่ต้องการรักษา ROE ให้เท่าเดิมในปีถัดไป จำเป็นจะต้องมีผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 10% ด้วยเช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริง ธุรกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ได้ ต้องเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างสูงมากทีเดียว

อีกกรณีหนึ่ง บางบริษัทอาจจะทำให้ ROE สูงขึ้นได้ โดยใช้ leverage จากการกู้ยืมทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีหนี้สินระยะยาว

ตัวอย่างเช่น บริษัท ก. และ ค. มีงบกำไรสุทธิเหมือนกัน แต่บริษัท ค. มีงบดุลดังต่อไปนี้

งบดุลบริษัท ค. (หน่วย: ล้านบาท)

ทรัพย์สินหมุนเวียน 2,000 หนี้สินหมุนเวียน 500

ทรัพย์สินถาวร 8,000 หนี้สินระยะยาว 4,700

ส่วนของผู้ถือหุ้น 4,800

รวมทรัพย์สิน 10,000 รวมหนี้สินและส่วนผู้ถือหุ้น 10,000

ดังนั้น ROE ของบริษัท ค. เท่ากับ 1,200/4,800 = 25% ซึ่งมากกว่าบริษัท ก. มาก แต่บริษัท ก. ไม่มีหนี้สินเลย ขณะที่บริษัท ข. มีหนี้สินอยู่เกือบเท่าส่วนผู้ถือหุ้น

ในกรณีนี้ เราควรจะใช้อัตราส่วนทางการเงินอีกค่าหนึ่งในการเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจ คือ Return on Total Capital Ratio (ROTC) คำนวณได้จาก

ROTC = Net Profit/(Longterm Liability + Equity) หรือ กำไรสุทธิหารด้วยผลบวกของหนี้สินระยะยาวกับส่วนผู้ถือหุ้น

จากตัวอย่างข้างต้นจะพบว่าบริษัท ก. มี ROTC เท่ากับ 15% (1,200/8,000) ในขณะที่บริษัท ค. มี ROTC ลดลงเหลือเพียง 12% (1,200/(4,700+4,800))

ในกรณีเช่นนี้ บริษัทที่มี ROE สูงกว่า อาจจะมี ROTC ต่ำกว่าได้ การใช้ ROE เพียงอย่างเดียวในการวิเคราะห์ความสามารถในการดำเนินงานของบริษัทที่จะลงทุนอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้

ดังนั้น นักลงทุนนอกจากจะใช้ ROE เปรียบเทียบระหว่างบริษัทแล้ว อาจจะต้องใช้ ROTC ในการเปรียบเทียบเพิ่มขึ้น เพราะ ROTC จะทำให้มองเห็นภาพความสามารถในการลงทุนของบริษัทได้ตรงความเป็นจริงมากขึ้น

นอกเหนือจากนั้น บางบริษัทอาจจะมี ROE เพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งออกจากหมวดฟื้นฟูกิจการ สาเหตุเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยผลการดำเนินงานเปลี่ยนจากการขาดทุนในอดีตมาเป็นทำกำไรได้ในปีปัจจุบัน ทำให้ ROE เพิ่มสูงขึ้นทันทีได้

ลักษณะเช่นนี้ นักลงทุนควรพิจารณานำกำไรขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ออกจากการคำนวณ เพราะจะทำให้ ROE ที่หาได้สูงเกินไป และไม่สะท้อนกับผลการดำเนินงานตามปกติของบริษัท

บางบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นวัฏจักร (Cyclical) เช่น วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี เหล็ก กระดาษ หรือ ผลิตภัณฑ์การเกษตร บางปีบริษัทจะมีผลกำไรตกต่ำ เพราะส่วนใหญ่แล้วราคาและต้นทุนของกิจการเหล่านั้น จะถูกกำหนดจากอุปสงค์และอุปทานของสินค้ามากกว่าที่จะถูกกำหนดโดยบริษัท

ถ้าปีใดราคาสินค้าลดลงก็จะทำให้บริษัทมี ROE ในปีนั้นต่ำไปด้วย แต่บางปีอาจจะเป็นขาขึ้นของอุตสาหกรรมนั้นๆ ทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานดี และมีกำไรสูงขึ้น ผลพลอยได้ก็คือทำให้ ROE ของบริษัทในปีนั้นสูงตามขึ้นไปด้วย

เราสามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทนั้นๆอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักรหรือไม่ง่ายๆด้วยการตรวจสอบ ROE ย้อนหลังหลายๆปี ถ้าพบว่า ROE มีลักษณะที่มากบ้างน้อยบ้างสลับกันไปก็สันนิษฐานได้ว่า บริษัทนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นวัฏจักร

จากเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้นจะพบว่า การที่บริษัทมี ROE สูงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นธุรกิจที่ดีในระยะยาวเสมอไป

ดังนั้น สำหรับนักลงทุน ก่อนที่จะลงทุนซื้อหุ้นบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ควรตรวจสอบ ROE ของบริษัทที่สนใจลงทุนก่อนว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่

บริษัทที่มี ROE สม่ำเสมอจะเป็นบริษัทที่น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นว่า บริษัทมีการบริหารงานที่ดี สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทก็เพิ่มพูนความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี

‘ROE’ สำคัญกับการลงทุนอย่างไร?
Value Way
วิบูลย์ พึงประเสริฐ

Author: admin

5 thoughts on “‘ROE’ สำคัญกับการลงทุนอย่างไร? : วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.