‘หนีเป็นยอดกลยุทธ์’ : โดย up150

ในตำรา 36 กลยุทธ์นั้น กลยุทธ์การถอยถือเป็นสุดยอดกลยุทธ์ โดยสามารถสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

“เมื่อสถานการณ์เริ่มไม่ส่งผลดีกับเรา และมีทางออกอยุ่ 3 ทาง คือ 1 ยอมจำนน 2 เจรจาสงบศึก 3 ถอยทัพ ซึ่งทั้ง 3 ทางออกนี้ มีเพียงการถอยทัพเท่านั้นที่ยังมีโอกาสพลิกสถานการณ์กลับมาชนะได้ ดังนั้น การหนีจึงนับเป็นยอดกลยุทธ์ โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อรักษากำลังหลัก และต้องมีแผนในการถอย ไม่ใช่หนีแบบไม่ลืมหูลืมตา”

up  up3

แม่ทัพอัจฉริยะระดับโลกเช่น นโปเลียน ที่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ในหลายสมรภูมิ แต่เมื่อพ่ายแพ้ในศึกสำคัญที่รัสเซียแล้วประสบความล้มเหลวในการวางแผนถอยทัพ ก็ทำให้ชะตาชีวิตจากที่เคยรุ่งโรจน์พลิกผันกลายเป็นล่วงลับได้ ดังนั้น นอกจากความเชี่ยวชาญในการวางแผนรุกแล้ว การมีกลยุทธ์ในการถอยสำรองเอาไว้ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือไม่เป็นใจขึ้นนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน

กลยุทธ์ในการถอย มักจะมีวัตถุประสงค์หลักคือ การรักษาผู้นำกองทัพหรือรักษากำลังรบส่วนใหญ่เอาไว้

เช่น ในศึกอลองพญา เมื่อกองทัพพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้แล้วกำลังจะได้รับชัยชนะ แต่เมื่อผู้นำกองทัพคือพระเจ้าอลองพญาล้มป่วยกะทันหันต้องกลับไปรักษาตัวที่พม่า เหล่าแม่ทัพพม่าจึงต้องเปลี่ยนแผนจากการยึดกรุงเป็นการวางแผนถอย โดยให้ทหารที่เก่งที่สุดเป็นแนวหลัง เพื่อให้ผู้นำคนสำคัญและกำลังหลักถอยไปได้อย่างปลอดภัย

…และในอีก 8 ปีต่อมา เหล่าขุนพลพม่าและลูกๆของพระเจ้าอลองพญาที่รอดกลับไป ก็เป็นผู้นำทัพยึดอยุธยาในสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2

up5   up4

ส่วนกลยุทธ์การหนีเพื่อรักษากำลังรบที่โด่งดังและคลาสสิคที่สุด เห็นจะเป็นการถอยที่เมือง ดันเคิร์กของกองทัพสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

การถอยครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการที่กองทัพเยอรมันสามารถเอาชนะเบลเยียมได้เร็วกว่าที่ผู้บัญชาการรบฝ่ายสัมพันธมิตรคาดการณ์ไว้ ทำให้กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสที่ส่งไปช่วยรบในพรมแดนเบลเยียมถูกปิดล้อมโดยกองทัพเยอรมัน

up2   up6

วินสตัน เชอชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น จึงตัดสินใจใช้ปฏิบัติการณ์ไดนาโม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ ถอนทหารทั้งหมดข้ามช่องแคบฝรั่งเศสกลับมายังอังกฤษ โดยระดมเรือทุกชนิดทั้งเรือรบ เรือขนส่ง เรือประมง มาช่วยในปฎิบัติการนี้ทำให้สามารถรักษาชีวิตทหารเกือบ 4 แสนนายไว้ได้ แม้ว่าจะต้องทำลายอาวุธยุทธโธปกรณ์และเผาคลังน้ำมันทิ้งทั้งหมด นับเป็นความสูญเสียที่ไม่น้อยเลยทีเดียว…

เช่นเดียวกับกรณีของกองทัพพม่า  เหล่าทหารที่รอดชีวิตกลับมานั้นก็กลับมาเป็นกำลังหลักในการยกพลขึ้นบกที่นอมังดีซึ่งเป็นจุดแปรผันสำคัญ และทำให้สัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะในสงครามฝั่งยุโรปได้ในที่สุด

ในฐานะนักลงทุน เราได้ข้อคิดอะไรจากแผนการถอยทัพที่ดันเคิร์ก?…

สำหรับในโลกการลงทุน สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือความไม่แน่นอน มันอาจจะมีเหตุการณ์ร้อยแปดพันประการที่ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ผลประกอบการ หรือการดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจก็คงหนีไม่พ้นการถอย

และคงไม่ต่างจากการทำศึกสงครามนั่นคือ ‘เราต้องถอยอย่างมีชั้นเชิง มีการวางแผนล่วงหน้า ไม่ใช่หนีแบบไม่ลืมหูลืมตา (panic) เพราะมันอาจจะส่งผลเสียรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นได้’

จากเหตุการณ์ที่ดันเคิร์ก เราจึงสามารถนำมาประยุกต์เข้ากับกลยุทธ์การหนีในโลกการลงทุนได้ดังนี้

1. เมื่อประเมินแล้วว่าสถานการณ์เริ่มไม่เป็นใจ และอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี การถอยออกมาดูท่าทีก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แต่ต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อรักษากำลังพลให้มากที่สุด

ดังนั้น การวางแผนถอยในการลงทุนก็ต้องทำไปเพื่อรักษากำไรที่ได้มา หรือปกป้องเงินลงทุนของเราให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ทั้งนี้เราควรวางแผนตัดสินใจล่วงหน้าอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้อารมณ์ชักนำจนหน้ามืด

2. การเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างกะทันหันเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยปกติการลงทุนในหุ้นมักจะเป็นกลยุทธ์เชิงรุก เพราะทุกคนต้องการหุ้นที่น่าจะทำกำไรให้เรามากที่สุด

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน นักลงทุนมักจะผิดพลาดที่ยังคงใช้กลยุทธ์เชิงรุกต่อไป เช่น ถือรอจนเลยจุด cut loss ไปไกล (ขาดทุนหนักขึ้นเรื่อยๆ) หรือซื้อถัวเฉลี่ยขาลงไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้สูญเสียเงินจำนวนมากได้

ข้อคิดจากศึกอลองพญาสอนพวกเราว่า ต่อให้โอกาสที่จะชนะอยู่ใกล้มือแค่ไหน เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนแผนก็ต้องทำทันที หากกองทัพพม่ายังดึงดันจะทำสงครามต่อทั้งที่เสียผู้นำไป พม่าอาจจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ย่อยยับได้

3. การถอยที่ดันเคิร์ก สัมพันธมิตรไม่ลังเลที่จะต้องทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนเผาคลังน้ำมันทิ้งเพื่อไม่ให้ข้าศึกเอาไปใช้

การถอยทัพในตลาดหุ้นก็เช่นกัน อย่าลังเลที่จะ cut loss เพื่อรักษาเงินทุนหลัก การโลเลหรือรอลุ้นโดยไม่มีจุดหมายอาจจะให้ผลลัพธ์ที่เลวร้ายกว่าเดิมก็เป็นได้

4. กองทัพอังกฤษหลังจากถอยทัพแล้ว ต้องยอมเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่หลายปีกว่าจะได้กลับไปเป็นฝ่ายรุกกลับใส่กองทัพเยอรมัน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ‘เมื่อถอยแล้วอย่ารีบร้อนผลีผลามในการเอาคืน’ 

นักลงทุนเป็นจำนวนมากเมื่อ cut loss แล้วก็คิดแต่จะถอนทุนคืนด้วยการรีบกลับไปซื้อใหม่ ซึ่งบางครั้งอาจจะทำให้ต้องถอยครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การเฝ้ามองสถานการณ์อย่างใจเย็นและรอคอยโอกาสที่ดีที่สุดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทหาร และการลงทุน…

‘หนีเป็นยอดกลยุทธ์’

โดย up150

20 สิงหาคม 2014

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.