Blog 27 : Failing Forward

อะไรคือสิ่งที่แบ่งแยกระหว่าง ผู้ชนะ กับ ผู้แพ้?

ถ้าลองสังเกตบุคคลที่ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพ ลักษณะหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ เมื่อผิดพลาดหกล้ม พวกเขาสามารถลุกขึ้นมาตั้งต้นใหม่ เรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ซึ่งนี่คือปัจจัยที่ทำให้พวกเขาสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าคนอื่นๆในเส้นทางนั้น

“I have not failed. I’ve just found 10,000 ways that won’t work.”

~ Thomas A. Edison

ไม่มีใครในโลกที่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยง่าย เพราะไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้น มันก็จะต้องมีอุปสรรค ความยากลำบาก เกิดความผิดพลาดและล้มเหลวอยู่เสมอ

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่นั้น เมื่อพบกับความล้มเหลว พวกเขามักเลือกที่จะหนีห่างจากสิ่งนั้นๆ และหันไปหาอย่างอื่นที่ดูสบายกว่าทำแทน

“Ninety percent of all those who fail are not actually defeated. They simply quit.”

~ Paul J. Meyer 

ในตลาดหุ้น เรามักจะได้ยินคนพูดอยู่เสมอว่า ‘เล่นหุ้นแล้วเจ๊ง’ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีตัวอย่างของ ‘นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ’ ให้เห็นอยู่เสมอ

ทุกคนที่เข้ามาลงทุน ต่างก็อยากมีกำไรกันถ้วนหน้า สิ่งที่พวกเขาคาดหวังเอาไว้เมื่อเริ่มเข้ามาลงทุนคือ พวกเค้าน่าจะสามารถทำกำไรได้ เหมือนเวลาที่เห็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จสามารถทำกำไรได้

แล้วทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่ประสบความสำเร็จในตลาดหุ้น?

อะไรคือสิ่งที่แตกต่างระหว่าง ‘คนที่ประสบความสำเร็จ’ กับ ‘คนที่ล้มเหลวในตลาดหุ้น’?

“Winners never quit and quitters never win.”

~ Vince Lombardi ~

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ พอเราเริ่มต้นลงทุนไปซักพัก ทุกๆคนก็จะต้องเคยอยู่ในช่วงที่เป็น ‘เม่ามือใหม่’ คือ ลงทุนแล้วผิดพลาด ซื้อขายขาดทุนตลอด ซึ่งในช่วงเวลานี้ละ ที่จะชี้วัดว่า เราจะสามารถก้าวไปได้ไกลแค่ไหนในการลงทุน

ถ้าคุณไม่ยอมพัฒนาตนเอง ไม่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ทบทวนข้อผิดพลาดหรือบทเรียน คุณก็จะไม่สามารถก้าวข้ามไปไกลอีกขั้นหนึ่งได้

หลายคนเมื่อเล่นหุ้นแล้วขาดทุน ก็มักจะยอมแพ้แล้วออกจากตลาดไป

แต่จากที่ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์เหล่าเซียนหุ้นทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือฝรั่ง

ทุกๆคนต่างก็เคยผ่านช่วงที่ยากลำบาก (ช่วงเป็นเม่ามือใหม่) ล้มเหลวในการลงทุน หลายคนถึงกับขาดทุนย่อยยับในตลาดหุ้น หมดเนื้อหมดตัวกันไป 2-3 รอบเลยก็มี

แต่สิ่งที่พวกเขาทำต่างออกไปจากคนส่วนใหญ่นั่นคือ พวกเขาไม่ล้มเลิก ไม่ยอมแพ้ เมื่อขาดทุน ก็กลับมาศึกษาข้อผิดพลาดของตัวเองอย่างหนัก และพัฒนาระบบการลงทุนใหม่ จนในที่สุดก็สามารถกลับมาชนะตลาดได้อย่างสวยงาม

Paul Tudor Jones ซึ่งเป็น trader ระดับตำนานท่านนึง ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์(ที่ดีมากๆ) ในหัวข้อ ‘Perfect Failure’ ว่า

“บ่อยครั้งที่ความล้มเหลวคือสิ่งที่ไล่เราออกจากเส้นทางที่ผิด ให้ไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องสำหรับเรา”

“Quite often that dragon of failure is really chasing you off the wrong road and on to the right one.”

~ Paul Tudor Jones ~

ถ้าเราล้มเหลวแต่ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ สุดท้ายแล้วเราก็จะหาทางที่จะกลับมาชนะได้นั่นเองครับ

และนี่คือที่มาของคำว่า ‘Failing Forward’ – เมื่อหกล้ม จงลุกขึ้นแล้วก้าวไปให้ไกลกว่าเดิม…

สำหรับตัวผมเองนั้น ผมเข้าตลาดครั้งแรกกลางปี 2008 ช่วงที่ SET Index 600 กว่าจุด และก็โดนรับน้องอย่างแรงด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ทำให้ SET ดิ่งเหวลงไป 380

แน่นอนว่าผมเองก็ขาดทุนอย่างมาก เพราะตอนนั้นเป็นเม่ามือใหม่สุดๆ ทำอะไรไม่ถูกเลย

แต่ต้องถือว่าผมโชคดีเล็กน้อยคือ ก่อนที่ผมจะลงทุนจริงๆ ผมได้เข้าไปอ่านเวบ Thaivi อยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ทำให้ได้แนวคิดการลงทุนที่ดีหลายๆอย่าง

อย่างเช่นแนวคิดที่ว่า ‘สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป ตลาดก็จะกลับมา และราคาหุ้นก็จะวิ่งไปตามกำไรของบริษัทเสมอ’

ทำให้ระหว่างที่รอตลาดกลับมา ผมจึงได้ศึกษาการลงทุนแบบ VI มากขึ้น เมื่อตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น (ปี 2009 – ครึ่งแรกปี 2011) ก็ทำให้สามารถใช้วิชา VI สร้างผลตอบแทน กลบผลขาดทุนในช่วงปี 2008 ไปได้หมด

“What doesn’t kill me, makes me stronger.”

~ Albert Camus ~

อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี 2011 ที่เมืองไทยเจอน้ำท่วมใหญ่ รวมถึงเกิดวิกฤตยูโร ผมก็พบกับความล้มเหลวอีกครั้ง

สาเหตุเพราะในช่วงที่ตลาดกลับมากระทิงกว่า 2 ปีครึ่ง ผมจะเน้นไปที่การเลือกหุ้น (Stock Selection) เป็นหลัก

เพราะเมื่อตลาดเป็นขาขึ้นยาว ก็จะเป็นอย่างที่เค้าบอกไว้ว่า ‘ช่วงขาขึ้นใครๆก็เซียน’

คือ ถ้าคุณเลือกหุ้นดีๆ ที่ราคายังไม่แพงมากไป ก็จะสามารถทำกำไรได้ง่ายกว่าช่วงที่ตลาดขาลงหรือ Side-way

ซึ่งนั่นก็ทำให้ผมละเลยในเรื่องของ Timing ที่ดี, Risk Management และ Money Management ทำให้ผลตอบแทนในปี 2011 นั้นน้อยกว่าปีที่ผ่านๆมาพอสมควร

แต่ความล้มเหลวครั้งนี้ ก็ทำให้ผมได้รู้ว่า ระบบลงทุนที่เราใช้อยู่ ยังมีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขอีกมาก

ตั้งแต่ปลายปี 2011 ผมจึงเริ่มศึกษาหลักการลงทุนแบบ Trend Following, CANSLIM รวมถึงการอ่าน Price Pattern เพื่อปรับปรุงจุดอ่อนต่างๆในระบบเดิมของผม

นำไปสู่ระบบการลงทุนที่ผมใช้อยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือการผสมข้อดีของทั้งพื้นฐานและเทคนิคนั่นเอง

แม้ว่าตอนนี้ ผมก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะประสบความสำเร็จกับระบบนี้หรือไม่ แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ผมก็มักจะคิดอยู่เสมอว่า..

ผมได้อะไรดีๆหลายอย่าง จากความล้มเหลวในแต่ละครั้งที่ผ่านมาครับ

“The greatest glory in living not in never falling, but in rising every time we fall.”

~ Nelson Mandela ~

####

บทความนี้เขียนหลังจากที่ผมได้บทเรียนจากปี 2008 และ 2011

ซึ่งทำให้รู้ตัวว่า ผมไม่อยากติดดอย ถือหุ้นแล้วต้องทนขาดทุน 30-50% นานๆอีกแล้ว

รวมถึงไม่อยากให้เงินจมอยู่กับหุ้นขาลง-หุ้นที่ไม่มีคนเล่น จนเสียโอกาสลงทุนหุ้นที่ขึ้นดีมากๆ ตอนที่ตลาดกลับมา

ส่วนบทเรียนของปี 2013 คือ เวลาที่ตลาดยังดูเป็นขาลงอยู่ เราไม่จำเป็นต้องรีบร้อนซื้อหุ้น

(ถ้าเราไม่ได้ชอบเทรดสั้น ชอบเล่นเด้ง)

เพราะกว่าที่ตลาดจะกลับตัวได้จริง มันต้องใช้เวลาสร้างฐานกันใหม่หลายเดือน

ระหว่างทางตลาดก็มักจะมีช่วงหลอก ขึ้นๆลงๆสลับไปมา

หลังจากทำผิดพลาด ล้มเหลว เราควรนำบทเรียนมาปรับปรุงระบบของเราให้ดีขึ้น

แก้ไขจุดอ่อนให้เหลือน้อยที่สุด อะไรที่ยังใช้ได้ก็เก็บไว้ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ค่อยๆตัดทิ้งไป

หรือบางคนอาจจะเป็นช่วงที่ได้ลองเปิดใจ เริ่มเรียนรู้แนวคิดและหลักการใหม่ๆ

ค้นหาดูว่ามีอะไรที่สามารถเสริมเข้ากับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วบ้าง

ไม่แน่ว่าเราอาจจะค้นพบหลักการที่เข้ากับตัวเรามากที่สุดก็เป็นได้ครับ…

Blog 27 : ‘Failing Forward’

www.sarut-homesite.net

10 กันยายน 2012

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.