Blog 16 : ‘Information Overload’ – รู้ข่าวเยอะได้เปรียบจริงหรือ?

เดี๋ยวนี้เราจะเห็นว่า มีคนเปิดเวบ เขียนบลอก ทำ page เกี่ยวกับการลงทุนกันมากขึ้นเยอะเลยนะครับ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่ใครๆก็สามารถทำได้ ขอแค่มีอินเตอร์เนทก็สร้างบลอกหรือหน้าเพจของตนเองได้แล้ว

ซึ่งการที่มีคนมาแชร์ข้อมูลความรู้มากขึ้น ผมว่าก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ

ข้อดีก็คือ เราสามารถศึกษาหาความรู้จากคนเก่งๆที่ทำบลอกได้ง่ายมากขึ้น แต่แนะนำว่าให้เลือกอ่านแบบคัดกรองนะครับ ว่าคนที่ท่านติดตามอยู่นั้นดีจริง ไม่ใช่แค่ขยันโพสเยอะเฉยๆ หรือเป็นแนว copy & paste อย่างเดียว (ปัจจุบัน page ประเภทนี้เยอะครับ copy paste เพื่อปั๊มยอด like เป็นหลัก)

สิ่งที่ผมเป็นห่วงทุกท่านถึงได้หยิบเรื่องนี้มาเขียน โดยเฉพาะคนที่ติดตามข่าวสารจาก blog เวบไซต์ ทวิตเตอร์ fb หรือ page ต่างๆจำนวนมากเป็นประจำก็คือ ต้องระวังภาวะ information overload กันด้วยนะครับ

การที่เรารับข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก หรือมัวแต่สนใจความเห็นของคนอื่นมากเกินไป มีแนวโน้มจะทำให้เราขาดการ focus ในสิ่งที่เรากำลังลงทุน ทำให้ไขว้เขวจากสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ และระยะยาวก็อาจจะทำให้ขาดความมั่นใจในตัวเอง เพราะต้องรอความเห็นคนอื่นก่อนที่จะลงมือทำ รวมไปถึงสมาธิก็จะสั้นลงด้วย

(ส่วนตัวผมคิดว่า อนาคตน่าเป็นห่วงคนรุ่นใหม่เรื่องปัญหาสมาธิสั้นนะครับ เพราะคนที่ติดพวก social network, fb, twitter มากๆ มักจะไม่มีสมาธิเท่าไหร่นัก ต้องคอยอัพเดตหรือโพสตลอดเวลา)

ตัวอย่างง่ายๆคือ ข่าวเศรษฐกิจรายวัน ที่ทุกเช้าจะมีข้อมูลหรือตัวเลขนั้นตัวเลขนี้เยอะแยะไปหมด แต่เอาจริงๆตัวเลขสำคัญเราดูเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น เช่น GDP , เงินเฟ้อ , การว่างงาน , ดอกเบี้ย ซึ่งก็ไม่ได้ประกาศออกมาทุกวัน และส่วนใหญ่แล้ว ข่าวสารรายวันจะไม่มีนัยยะต่อแนวโน้มจริงๆของตลาดเท่าไรนัก

นอกจากนี้ การรับข่าวสารเยอะๆทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย จะทำให้เรามีมุมมองที่ bias ไปในด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ซึ่งถือว่าเป็นผลเสียต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากปกติแล้ว การเคลื่อนไหวของตลาดมักจะ ‘นำหน้า’ ข่าวสารต่างๆที่เพิ่งออกมาครับ 

จากการอ่านหนังสือลงทุน รวมไปถึงได้รู้จักกับพี่ๆที่ลงทุนเก่งๆหลายท่านก็จะพบว่า เหล่าเซียนหุ้น(ทุกแนว)นั้น มักจะไม่สนใจความเห็นของคนอื่นเท่าไรนัก

เค้าจะทำการศึกษาและตัดสินใจลงทุนในสิ่งต่างๆอย่างรอบคอบด้วยตนเองเสมอๆ ไม่สนใจว่าใครจะไม่เห็นด้วยหรือคนส่วนมากจะคิดอย่างไร มีความคิดอิสระและเป็นตัวของตัวเอง

เซียนหุ้น เค้าจะสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดนึงก็จะตกผลึกในความคิด และออกมาเป็นหลักการลงทุนในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนดีขึ้นได้อีกมาก เพราะเป็นหลักการที่เหมาะกับตนเองที่สุดแล้ว 

ดังนั้น ขอให้ทุกท่าน มีสมาธิมากขึ้น, ลดการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ไม่จำเป็น, ลงทุนในสิ่งที่ตนได้วิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว และออกแบบระบบลงทุนที่เหมาะสมกับตัวท่านเอง

ศึกษาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ความผิดพลาดที่เกิด ถือเป็นบทเรียนที่ดี ที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆครับ 

อย่ากลัวที่จะคิดเอง ลงมือทำเอง แล้วล้มเหลวครับ ไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ผ่านความล้มเหลวมาก่อนหรอกครับ

####

ภาวะข้อมูลท่วมท้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาวะข้อมูลท่วมท้น (อังกฤษ: information overload) หมายถึง ภาวะที่บุคคลประสบความยุ่งยากในการเข้าใจประเด็นและตัดสินใจ อันเนื่องมาจากมีข้อมูลมากเกินไป ทำนองเดียวกับ “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” หรือ “มากหมอมากความ”

ศัพท์นี้ได้รับความนิยม เพราะ อัลวิน ทอฟเลอร์ ใช้ในหนังสือขายดีของตน ชื่อ Future Shock (ค.ศ. 1970) และ เบอร์แทรม กรอส ก็ใช้ในหนังสือของตน ชื่อ The Managing of Organizations (ค.ศ.1964)

ศัพท์และแนวคิดดังกล่าวนี้ มีมาก่อนอินเทอร์เน็ต

ทอฟเลอร์อธิบายศัพท์นี้ โดยเปรียบเทียบว่า ภาวะข้อมูลท่วมท้นคือการได้รับรู้ความรู้สึกมากเกินไป (sensory overload) ในยุคข้อมูลข่าวสาร

ทั้งนี้ การรับรู้ความรู้สึกมากเกินไปเป็นศัพท์ที่เริ่มใช้ในทศวรรษ 1950 มันถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการไม่มีสมาธิและขาดการตอบสนอง ทอฟเลอร์ นิยามภาวะข้อมูลท่วมท้นว่า มีผลกระทบลักษณะเดียวกัน แต่เกิดกับการทำงานทางการรับรู้ในระดับที่สูงกว่า เขาเขียนว่า

“เมื่อปัจเจกตกอยู่ในภาวะที่สถานการณ์เปลี่ยนอย่างรวดเร็วและผิดปกติ หรืออยู่ในบริบทที่ไม่เคยพบประสบมาก่อน … ความแม่นยำในการคาดการณ์ของเขาจะตกฮวบ เขาจะไม่สามารถประเมินอย่างถูกต้องได้อีกต่อไป ว่าพฤติกรรมที่มีเหตุผลแบบไหนที่เชื่อใจได้”

####

Blog 16 : Information Overload

www.sarut-homesite.net

19 มกราคม 2012

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.