‘Value Investor’ รักแล้ว… รักเลย

สัปดาห์ ก่อนเราได้รู้จักการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) หรือ VI ที่ทำให้ นักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investor) หลงรักวิธีการลงทุนแบบนี้จนหมดหัวใจ

เพราะฉะนั้น สัปดาห์นี้ เราคงต้องตามไปดูกันต่อว่า อะไรที่ทำให้นักลงทุนทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ติดหนึบแบบถอนตัวไม่ขึ้น รวมทั้งประสบการณ์และวิธีคิดของพวกเขา รับรองว่า คุณอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่เต็มใจที่จะรัก VI 

อนุรักษ์ บุญแสวง

‘เป็นการลงทุนที่รวยง่ายและเร็วที่สุด’

เมื่อ 9 ปีก่อนเขาเริ่มต้นประสบการณ์การลงทุนด้วย “กลยุทธ์ทางเทคนิค” ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เงินลงทุนหายไปเกือบครึ่งภายในเวลา 2 ปี

“เริ่มต้นก็เจ็บตัวเลย เลยคิดว่า การดูเพียงตัวเลข ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเทคนิคมันเป็นแค่ความน่าจะเป็น ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป”

ประกอบ กับเขาได้อ่านบทสัมภาษณ์ “ปีเตอร์ อิริค เดนนิส” นักลงทุนชาวออสเตรเลีย ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย และประทับใจคำพูดที่ว่า “หุ้นไม่แค่เศษกระดาษ มันมีคนทำงานจริง” เลยหันมาสนใจศึกษาการวิเคราะห์ด้านปัจจัยพื้นฐานอย่างจริงจัง

อย่าง ไรก็ตาม อนุรักษ์ ก็ยังมองว่า นักลงทุนที่มองด้านพื้นฐานบางครั้งก็มักลงทุนด้วยความรู้สึก ที่คิดแต่เพียงว่า หุ้นตัวนี้ดี แต่ถามว่า ดีอย่างไรก็ตอบไม่ได้ ไม่มีข้อมูลมาสนับสนุน

แล้วแนวทางที่เขาเดินก็ค่อยๆ มุ่งมาสู่ VI ที่เขาบอกว่า เป็นวิธีการที่ลึกซึ้งกว่าการดูเพียงปัจจัยพื้นฐาน

นับจากวันนั้นจนวันนี้ มูลค่าทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว โดยมีกิจการที่ถืออยู่ในมือ 8-9 ตัว (แต่ให้น้ำหนักในหุ้น 5 ตัว)

” ผมเป็นลูกชาวบ้านจริงๆ เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่มีทรัพย์สินอะไร ได้เงินทุนก้อนหนึ่งมาจากการไปทำงานต่างประเทศ ก็นำมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์”

แม้ว่า ญาติพี่น้องจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขาก็ตาม เพราะ “ญาติๆ ผมมองว่า หุ้นเป็นการพนัน” แต่แล้วเขาก็พิสูจน์ให้ใครๆ เห็นว่า เขาคิดถูก

เพราะ วันนี้ในวัย 32 ปี เขาสามารถเกษียณจากงานประจำ โดยที่ไม่มีธุรกิจส่วนตัว มีเพียงรายได้จากการลงทุน และนั่นทำให้เขาเชื่อว่า การลงทุนในแบบ VI เป็นวิธีที่ทำให้รวยเร็วที่สุดและง่ายที่สุด ทั้งยังมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

“การทำธุรกิจเสี่ยง มากที่จะล้มเหลว แต่ถ้าเป็น Value Investor โอกาสรวยแทบจะ 100% แค่อาศัยเวลา เพราะมันต้องอาศัยการทบต้น ซึ่งปีแรกๆ อาจจะช้า แต่ปีหลังๆ จะเร็วมาก

“วิธีเก็งกำไร ก็รวยเร็วเหมือนกัน แต่ก็ทำให้จนเร็วด้วย โอกาสได้เยอะก็จริง แต่ก็มีโอกาสที่จะเสียเยอะด้วยเช่นกัน อย่างผมในปีที่ดีๆ อาจจะได้ผลตอบแทน 100% อย่างปีนี้ตลาดนิ่งๆ พอร์ตผมโต 50% อย่าไปเสียเวลากับหุ้นปั่นเลย”

นอกจากผลตอบแทนที่น่าพอใจแล้ว อนุรักษ์ ยังบอกอีกว่า การลงทุนแบบนี้ไม่เคยทำให้เขาตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เพราะ “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเรา ไม่ต้องสนใจภาวะตลาด เพียงแต่ต้องใจเย็น เพราะถ้าไม่อดทนก็ไม่ประสบความสำเร็จ”

คุณสมบัติที่มักจะมีอยู่ในตัว Value Investor ในความเห็นของ อนุรักษ์ คือ ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่ฟุ่มเฟือย และไม่ตามกระแส

“VI ที่เก่งๆ ทุกคนจะเห็นคุณค่าของเงิน ไม่สุรุ่ยสุร่าย แม้ว่า เขาจะมีเงินซื้อรถยนต์ราคา 10 ล้าน แต่เขาจะไม่ทำกัน เพราะคิดว่า ถ้าจะซื้อรถราคา 10 ล้านบาท นำเงินไปลงทุนดีกว่า อีกไม่กี่ปีก็เพิ่มเป็น 20 ล้านบาทแล้ว”

พร้อมกันนี้ อนุรักษ์ ยังฝากข้อคิดไว้ให้นักลงทุน ทั้งมือใหม่และมืออาชีพด้วยว่า…

” หุ้นไม่ใช่เศษกระดาษ ไม่ใช่การพนัน มันมีคนทำงาน มีกิจการจริงๆ เพราะฉะนั้นจะลงทุนในหุ้นต้องศึกษาพื้นฐานด้วย ถ้าศึกษาได้จะไม่มีใครขาดทุน แต่จะขาดทุนเพราะอยากรวยเร็ว ไปเล่นหุ้นปั่น โดยลืมไปว่า มันทำให้จนเร็วด้วย แล้วก็จะคิดว่า หุ้นเป็นการพนัน”

ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ

‘เน้นคุณค่าทั้งการลงทุนและการใช้ชีวิต’

ฉัตร ชัย เป็นนักลงทุนแบบ VI อีกคนหนึ่งที่เลือกจะเกษียณตัวเองจากงานประจำ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนจากแนวทาง VI จากหุ้นเพียงตัวเดียว ด้วยวัยเพียง 38 ปี

เขาเล่าว่า เขาเริ่มต้นด้วยเงินทุนไม่สูงนัก แต่นั่นก็เป็นเงินเก็บก้อนแรกของเขา และไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

” ผมเล่นหุ้นมาตั้งแต่สมัยยังเคาะกระดาน ก็เล่นตามข่าวบ้าง ดูกราฟบ้างเล็กๆ น้อยๆ ฟังบทวิเคราะห์บ้าง แม้จะไม่ได้ขาดทุนมากนัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ”

แล้วเขาก็มาค้นพบเส้นทางเดินช่วงที่เรียน MBA และทำงานด้านการเงิน ทำให้เรียนรู้ด้านการเงิน บัญชี เศรษฐกิจ ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเขาบอกว่า นั่นเป็นโชคดีของเขา เพราะทำให้เห็นว่า ประเทศอาจจะต้องลดค่าเงินในไม่ช้า เขาตัดสินใจ “ล้างพอร์ต” เลิกเล่นหุ้น

แล้วเหตุการณ์ที่เขาคาดมันก็เกิดขึ้นจริง

เขากลับเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดอยู่ในจุดต่ำสุด

” เห็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ค่าเงินบาทนิ่ง และการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่คืบหน้าไปมาก เลยเข้ามาซื้อ ซึ่งบังเอิญถูกตัว”

ในตอนนั้นจะดูภาพรวมของประเทศ เป็นหลัก ประกอบกับดูว่า บริษัทที่ไม่มีหนี้ ในขณะนั้น ก็น่าจะเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง จากนั้นภาวะเศรษฐกิจก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น ในระหว่างนั้นเริ่มศึกษามากขึ้น และปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเองเรื่อยมา จนกระทั่งมาอยู่ในแนวทางของ VI

“การลงทุนแบบ VI ให้เวลากับเรา ไม่ต้องเฝ้า กลางคืนนอนหลับ เมื่อก่อนนอนไม่ได้ กลางคืนต้องมานั่งดูดัชนีดาวน์โจนส์ ดูข่าว แต่ตอนนี้ก็สนใจแต่กิจการของเรา”

และไม่ใช่เพียงแค่รูปแบบการลงทุน เท่านั้นที่เป็นแบบเน้นคุณค่า แต่การใช้ชีวิตก็จะเน้นคุณค่าไปด้วย โดยใช้ชีวิตพอเพียง รู้คุณค่าการใช้เงิน ซึ่งจะตรงข้ามกับคนที่เข้ามาเล่นหุ้นแล้วหวังว่าจะรวย

“คนที่เป็น Value Investor จริงๆ จังๆ จะศึกษาธรรมะ เพราะชีวิตจะไม่ตื่นเต้น จิตใจจะสงบ และถ้าไม่มีธรรมะมายึดเหนี่ยวไว้ ก็จะอยู่ในแนวนี้ไม่ได้ เพราะ VI จะเป็นเรื่องของจิตใจมาเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าหลงติดบ่วงกิเลส ถูกยั่วยวนจากราคาหุ้นก็เป็นไม่ได้”

นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

‘เป็นวิธีลงทุนที่ทำให้กินอิ่มนอนหลับ’

แม้ ว่า เขาจะออกตัวว่า ศึกษาการลงทุนในแนวทางนี้มาได้เพียง 3 ปี แต่ถ้าพูดถึง “สุมาอี้” แล้ว เพื่อนพ้องน้องพี่ใน thaivi.com คงจะบอกได้ว่า เขาก็ “แม่ทัพมือหนึ่ง” เหมือนกับชื่อที่เขาเลือกใช้นั่นล่ะ

“จะให้บอกว่า การลงทุนแนว VI ดีที่สุดคงไม่ได้ เพราะมีเรื่องบุคลิกของแต่ละคนมาเกี่ยวข้องด้วย แนวในการลงทุนต้องเข้ากับบุคลิกของเรา คนที่รู้ทันจิตวิทยามวลชน อาจจะเล่นเก็งกำไรได้ดี แต่ผมเห็นหุ้นแดงจะควบคุมอารมณ์ไม่ได้”

เพราะฉะนั้นสำหรับเขา… “การลงทุนแบบ VI มันเข้ากับนิสัยของผม”

” ก็เลยมาในแนว VI ดีกว่า ใจไม่หวิวมาก มันเป็นวิธีการลงทุนที่ทำให้กินอิ่มนอนหลับ เพราะถ้าเราต้องเฝ้าตลาดตลอดเวลา ต้องคอยเช็คข่าวอยู่ตลอด แม้ว่า จะได้กำไรมากก็คงไม่มีความสุข”

นอกจากกินอ่มนอนหลับแล้ว ก็คงต้องบอกว่า สำหรับเขาคงจะนอนหลับอย่างเป็นสุข เพราะผลตอบแทนที่ผ่านมาของเขา “ชนะตลาด” มาตลอด

เขา จะขอเก็บ “ตัวเลข” พอร์ตลงทุนของเขาไว้เป็นความลับ และออกตัวว่า พอร์ตเขาไม่ได้ใหญ่โตอะไรนัก เพราะมันเริ่มต้นมาจากเงินเก็บส่วนตัวของเขา

“ต้องใจเย็นๆ แล้วทำผลตอบแทนให้ได้ 15-20% ต่อปี ในทุกๆ ปี แล้วภายใน 20 ปี รับรองเลยว่า มูลค่าเงินลงทุนในพอร์ตจะผิดหูผิดตาไปเลย”

สันติ สิงหวังชา

‘เคยลองเล่นเก็งกำไรแล้วนอนไม่หลับ’

เขา เป็นผลผลิตจากโครงการอบรมนักลงทุนรุ่นใหม่ (New Investor Program: NIP) โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เมื่อ 4 ปีก่อน

“ที่นั่นสอนทุกอย่างตั้งแต่การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยทางเทคนิค ความรู้ด้านการเงิน การบัญชี รวมทั้งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และ พออบรมมาหมดแล้วก็ชอบแนวนี้ (VI) เพราะได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่า มีคนประสบความสำเร็จจำนวนมาก เลยมุ่งมาที่แนวนี้”

จาก “บัณฑิตวิศวะจุฬาฯ” หมาดๆ ในวันนั้น วันนี้เขากลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ได้รับการยอมรับในกลุ่ม Value Investor รุ่นพี่ในเว็บไซต์ thaivi.com แหล่งรวมพลคนรัก VI ในชื่อ “YOYO”

” แนวคิดอย่างหนึ่งที่ผมยึดเสมอเวลาเลือกซื้อหุ้นก็คือ เลือกซื้อหุ้นเหมือนกับเลือกซื้อธุรกิจ เพราะมันก็คล้ายๆ กับการทำธุรกิจทั่วไป ดูธุรกิจที่เราเข้าใจ เรารู้เรื่อง และคาดการณ์ว่า น่าจะอนาคตดี”

กิจการที่เขาเลือกส่วนใหญ่จะเป็นการผลิต รับจ้างผลิต หรือ โรงงานให้เช่า เพราะตัวเขามีความรู้พื้นฐานด้านวิศวกรรม แต่ถ้าเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เขาจะไม่สนใจเลย

สันติ เริ่มต้นการลงทุนในตลาดหุ้นครั้งแรกด้วยเงินออมของตัวเองจำนวน 2 แสนบาท จากนั้นอีกไม่นาน เมื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า วิธีการของเขาถูกต้อง คุณแม่ “เพิ่มทุน” ให้อีก 1.5 ล้านบาท รวมแล้วก็ 1.7 ล้านบาท

วันนี้เขาอายุ 25 ปี มีทรัพย์สินที่เกิดจากการลงทุนมูลค่า 17.5 ล้านบาท

และ เมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนของเขากับคนในครอบครัว เขาเล่าว่า การลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และถือลงทุนระยะยาวของพ่อเขาจะได้กำไรดีกว่าฝาก ธนาคารนิดหน่อย แต่ถ้าเป็นการเล่นตามข่าวอย่างแม่ก็จะขาดทุน

“เห็นได้ ชัดเลยว่า VI ดีกว่า และไม่ต้องมานั่งกังวล เพราะเคยลองเล่นหุ้นเก็งกำไรเหมือนกัน เพื่อนบอกว่าดี ก็ลองซื้อตาม แต่ซื้อแล้วนอนไม่หลับ กลัวราคาลง”

ปรัชญา ฤกษ์ดีทวีทรัพย์

‘เหมือนซื้อบ้านเป็นที่อยู่ยามชรา’

แม้ จะเจ็บตัวไปสองครั้งสองคราว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปรัชญาเข็ดขยาด ไม่ล่าถอย แต่เขากลับไปทำการบ้าน ศึกษาค้นคว้าหายุทธวิธี แล้วเขาก็กลับมาเอาชนะได้อย่างสง่างาม

เพราะครั้งนี้เขากลับมาพร้อม กับเงินลงทุนเริ่มต้น 3 แสนบาท ในวันที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 250 จุด และจนถึงวันนี้ในวัย 47 ปี เขามีชื่อติดโผ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ของหลายบริษัท

“ช่วงต้นที่ผมเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อหลายปี ก่อน มีเงินสดแค่ 3 แสนกว่าบาท แล้วก็หมดจากเหตุการณ์ของโลก แล้วออกมาทำมาค้าขาย พอมีเงินเก็บก็เข้าตลาดหุ้นอีกด้วยทุนเพียง 3 แสนกว่าๆ แล้วก็หมดตอนปิด 56 ไฟแนนซ์ เพราะสมัยก่อนเล่นหุ้นเก็งกำไร ซื้อๆ ขายๆ แต่หุ้นไฟแนนซ์”

แต่ในช่วงที่เขาหลบออกมาเลียแผลและสะสมทุน เขาไม่ได้ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า เพราะเขาตรวจหาข้อบกพร่อง และใช้เวลาในตอนกลางคืนค้นข้อมูลบริษัทจดทะเบียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักลงทุนคนอื่นๆ ตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่ทำให้ได้แง่คิดมุมมองใหม่ๆ

ถึงเขาจะยังสนุกอยู่กับการลงทุนแบบเก็งกำไร (แต่ไม่ใช่การเก็งกำไรที่ไร้ทิศทางอีกแล้ว) แต่ส่วนใหญ่ของเงินลงทุนของเขาเป็นการลงทุนแบบ VI

“ส่วน 70-80% ซื้อหุ้นเหมือนฝากเงินได้ปันผลมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร… ถ้าจะเปรียบผมก็เห็นว่า พวก VI ซื้อหุ้นเหมือนการซื้อบ้าน เป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่พึ่งยามแก่ชรา (หวังให้มันยาวมากๆ)”

และบ้านหลังนี้ก็คงจะเป็นบ้านที่ “อยู่เย็นเป็นสุข” ตามแบบของ Value Investor ที่ ปรัชญา บอกว่า เขาหลงเสน่ห์ VI ก็ตรงที่…

” เมื่อเราเลือกหุ้นตามอุตสาหกรรมที่ต้องการ ได้หุ้นที่ราคาต่ำ ผลการดำเนินงานของบริษัทดี มีกำไรคุ้มค่ากับการลงทุนเราก็ถือไว้ยาว ไม่ต้องเฝ้าราคาหุ้นทุกวันเหมือนหุ้นเก็งกำไร นอนหลับสบาย เพราะผู้บริหารมีธรรมาภิบาล มีวิสัยทัศน์และแผนการในอนาคต”

คอลัมน์ Money Tips โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 25 กันยายน 2549

สวลี ตันกุลรัตน์ [email protected]

Author: admin

1 thought on “‘Value Investor’ รักแล้ว… รักเลย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.