เศรษฐีใจบุญผู้ไม่ฉลาดเรื่องเงิน : วรากรณ์ สามโกเศศ

s03389u

เมื่อเร็วๆ นี้มหาเศรษฐีอเมริกันใจบุญ Finn M.W.Caspersen ผู้บริจาคเงินแต่ละครั้งนับสิบๆ ล้านเหรียญสหรัฐยิงตัวตายในสนามกอล์ฟใกล้บ้านพักร้อนของเขา เพื่อหนีความยุ่งยากจากเงินทองที่มีอยู่มากมาย

Caspersen สร้างตนเองจากการเป็นเจ้าของบริษัทไฟแนนซ์ผ่อนส่งชื่อ Beneficial ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปี 1998 เขาขายบริษัทให้แก่ Household International ได้เงินมา 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (296,000 ล้านบาท) ซึ่งต่อมากลายเป็น HSBC Finance Corp

เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัย Brown และ Harvard Law School เขาชอบบริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกานับร้อยๆ ล้านเหรียญสหรัฐ ครั้งหนึ่งบริจาคเงิน 30 ล้านเหรียญให้ Harvard Law School ซึ่งเป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่ที่สุดที่โรงเรียนกฎหมายแห่งนี้เคยได้รับในประวัติศาสตร์ ชื่อ Caspersen เป็นชื่อของอาคาร สิ่งก่อสร้างหลายแห่งในมหาวิทยาลัยเหล่านี้

Caspersen บริจาคเงินให้นักการเมืองที่คุ้นเคยกันจำนวนมากในฝั่งตะวันออก ในบางปีเขาบริจาคให้พรรครีพับลิกันนับแสนๆ เหรียญ ฯลฯ เขาเป็นขวัญใจของมูลนิธิ กองทุน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ฯลฯ เพราะเขาเป็นคนใจบุญ บริจาคเงินไปทั่ว จนเป็นที่รู้จักกันดีในระดับชาติ แต่ในวันที่ 7 กันยายน หรือ Labor Day ที่ผ่านมา

เขาก็จากโลกนี้ไปตามความต้องการของตัวเขาเอง เพราะประสบกันแรงกดดันเรื่องเงินทองและความเจ็บป่วยเป็นมะเร็งในไตในวัย 67 ปี

เขารู้ตัวก่อนตายว่ากำลังถูกสอบสวนเรื่องการแอบซุกเงินไว้ในบัญชีต่างประเทศ จนอาจติดคุกและถูกปรับภาษีเป็นเงินนับร้อยล้านเหรียญ ทางการสหรัฐกำลังกวาดล้างการซุกเงินของเศรษฐีอเมริกันจำนวนไม่น้อยไว้ในบัญชีลับที่สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศชื่อประหลาดๆ ดังที่เราเคยได้ยินกันและ Caspersen เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ธนาคารใหญ่ของสวิส UBS จำต้องเปิดเผยชื่อของลูกค้าชาวอเมริกันเกือบ 300 คน ที่เข้าข่ายซุกเงินเพื่อหนีภาษีและได้ส่งชื่อให้อีกเป็นจำนวนหลายพันคน

ลูกค้าใหญ่คนหนึ่งของ UBS คือ Igor Olenicoff ซุกเงิน 200 ล้านเหรียญไว้ในสวิตเซอร์แลนด์และไลเชนสไตล์เพื่อหนีภาษีเงินได้ เขายอมรับผิดเมื่อปีก่อนและต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 52 ล้านเหรียญ ล่าสุด ลูกค้าอเมริกันหลายคนของ UBS กำลังจะประสบชะตาเดียวกัน (ภาษีเงินได้สามารถสร้างคนโกหกได้มากกว่ากอล์ฟ)

เชื่อกันว่าในเวลาอีกไม่นาน เศรษฐีอเมริกันอีกหลายคนกำลังจะโดนเล่นงานหลังจากทางการปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลาหลายปี “นักซุก” เหล่านี้กำลังประสบกับการตัดสินใจครั้งสำคัญ กล่าวคือทางการสหรัฐอเมริการะบุว่าหากคนเหล่านี้ยอมรับและเปิดเผยการซุกเงินก่อนวันที่ 23 กันยายน 2009 จะได้รับการอภัยโทษ แต่ถ้าหากเลยวันที่นี้ไปแล้วจะถูกดำเนินคดีอาญาทุกคน

“นักซุก” เหล่านี้จึงต้องตัดสินใจว่าจะยอมรับหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้โดยยอมเสี่ยงว่าจะไม่ถูกจับ พวกเขากำลังเล่นโปกเกอร์พนันชีวิตในคุกของตนเอง

ในกรณีของ Caspersen ทางการมุ่งไปที่บัญชีในไลเชนสไตล์ (รัฐเล็กๆ อยู่ใกล้เบลเยียม) ซึ่งกำลังเป็นสวิตเซอร์แลนด์ที่สองของการซุกเงินไว้ต่างประเทศ โดยรู้ว่าเขามีบัญชีอยู่ที่ธนาคาร LGT และเมื่อปลายปีที่แล้วไลเชนสไตล์ยอมที่จะเปิดเผยรายชื่อลูกค้าอเมริกัน ดังนั้น สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเหล่านี้จึงเป็นแรงกดดันเขาอย่างสำคัญ

ก่อนหน้าเหตุการณ์สลด เขาได้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ เช่น จากสภาที่ปรึกษาของคณบดีของ Harvard Law School จากโรงเรียนที่เขาเป็นประธานคณะกรรมการสนับสนุน จากคณะกรรมการของเมือง จากประธานของ Hodson Trust (มูลนิธิรับบริจาคเงิน) ฯลฯ เหมือนกับการเตรียมตัวก่อนที่เขาจะลาโลกไป

ผู้คนเสียใจในการจากไปของเขา เพราะ Caspersen เป็น Philanthropist หรือ เศรษฐีใจบุญตัวจริง (Philantrophy มาจากภาษากรีกว่า Philos หรือ Loving และ Anthropos หรือ Humankind หรือ Humanity ซึ่งรวมกันจึงหมายความถึง Love of Humanity หรือความรักในมนุษยชาติ)

Caspersen เสียดายค่าปรับ 100 ล้านเหรียญ หรือไม่มีเงินจ่าย? อับอายขายหน้าการกระทำความผิด? กลัวติดคุก? ความเจ็บป่วยทำให้จิตใจอ่อนแอ? ไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุด พอคาดคะเนได้ว่าหลายปัจจัยคงผสมกัน แต่ไม่มีใครรู้แน่เพราะเท่าที่สื่อทราบเขาไม่ได้ทิ้งจดหมายลาตายไว้

สิ่งที่รู้แน่ก็คือ เขาจัดการกับเรื่องเงินที่เขามีมากมายอย่างผิดพลาด เขาไม่ใช่คนฉลาดเรื่องเงินอย่างแน่นอน ถ้าเขาฉลาดเรื่องเงิน ทำไมเขาจึงหาความสุขในบั้นปลายชีวิตไม่ได้กับเงินที่เขามีล้นฟ้า จนต้องจบชีวิตลงเช่นนี้

ชีวิตของ Caspersen เป็นบทเรียนสำหรับเศรษฐีที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเขาไม่ทำผิดกฎหมาย กระทำทุกอย่างๆ ตรงไปตรงมา ไม่ “ซุก” ไม่ “โกหก” ไม่ทำตามแฟชั่นคนรวยที่ต้องพยายามหนีภาษีให้ได้มากที่สุด ฯลฯ ป่านนี้เขาคงมีความสุขกับเงินและมีความสุขใจจากการที่ได้ “ให้” มาตลอดชีวิตไปแล้ว

คนไทยนั้นมักจะคิดว่าเมื่อมีเงินแล้ว ไม่ว่าถูกลอตเตอรี่ ได้รับมรดก หรือทำงานได้เงินมากมายจนสบายไปตลอดชาติแล้วทุกอย่างก็จบ ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีความสุขตลอดกาลนานเหมือนคำบรรยายตอนจบของนิทาน

ความจริงก็คือเมื่อมีเงินมากแล้ว มันไม่จบดังคิดแต่ปัญหามันเพิ่งเริ่ม ในเบื้องต้นก็คือจะปรับตัวกับการมีเงินนั้นอย่างไร จะครองชีวิตอย่างไรให้ตัวเองมีความสุขกายและสุขใจ และทำอย่างไรเงินมันจึงงอกเงยไม่หดหายไปเพราะความเขลา การพนัน ถูกหลอก ฯลฯ

ถ้าเมื่อมีเงินแล้วมีความสุขกายและใจไปตลอดจริง เราคงเห็นคนรวยมีความสุขทุกคน แต่ความจริงก็คือเราเห็นคนรวยล้นฟ้าเร่าร้อน เต็มไปด้วยความทุกข์ใจ วิ่งหาพระ หาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “รดน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก” กันทุกอาทิตย์ในวัดต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

สำหรับคนทั่วไปเงินไม่ใช่กุญแจสู่ความสุข มีเฉพาะบางคนเท่านั้นที่สามารถนำเงินที่มีเอาไปทำกุญแจเพื่อไขไปสู่ความสุขได้

วรากรณ์ สามโกเศศ

มติชนรายวัน วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11520

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.