เศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไร จะลงทุนอย่างไร? – ดร.ไสว บุญมา

economic_recovery

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อรายงานเรื่องนักเศรษฐศาสตร์ชั้นรางวัลโนเบล พอล ครุกแมน ออกมาบอกว่าวิกฤติเศรษฐกิจทุเลาลงแล้ว เศรษฐกิจจะไม่ถดถอยต่อไปจนถึงระดับแสนสาหัสดังเมื่อครั้งที่เกิดขึ้นหลัง ตลาดหุ้นสหรัฐล่มสลายเมื่อปลายปี 2472 แต่เขาบอกด้วยว่าคงใช้เวลาอีกนานก่อนที่มันจะฟื้นคืนชีพ ก่อนหน้านั้นไม่นาน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังบางคนของไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะยังตกต่ำต่อไป ซึ่งต่างกับมุมมองของรัฐบาลที่ว่าอีกไม่นาน

การฟื้นตัวจะเกิดขึ้น ในภาวะเช่นนี้ผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจจะเชื่อใครและจะทำ ตัวอย่างไร คำตอบง่ายๆ คือ จงฟังหูไว้หูเพราะไม่มีใครรู้จริงๆ หรอก นักเศรษฐศาสตร์ก็ตกอยู่ในสภาพตาบอดคลำช้างไม่ต่างกับผู้อื่นมากนัก นอกจากนั้น บางคนมีความเชื่อมั่นจนถึงขั้นโอหังและไม่ค่อยยอมฟังผู้อื่น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อเกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้สงสัยว่า ในเมื่อโลกมีนักเศรษฐศาสตร์มากมายและหลายสิบคนมีความเชี่ยวชาญถึงกับได้รับ รางวัลโนเบล แล้วทำไมจึงไม่มีใครทำนายได้ถูกต้องว่าวิกฤติร้ายแรงจะเกิดขึ้น อันที่จริงมีคนทำนายได้ถูกต้องแต่ไม่มีใครฟัง เพราะปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ซึ่งอาจแยกได้เป็นสองประเด็นหลัก คือ ประเด็นทั่วไปและประเด็นในวงการเศรษฐศาสตร์ ประเด็นแรก มีฐานอยู่ที่การเลือกฟังเฉพาะสิ่งที่ตรงกับความคิดเบื้องต้นของตนอยู่แล้ว ประเด็นหลัง อาจแยกได้ต่อไปเป็นสองส่วน คือ การแตกแยกทางแนวคิดและความโอหังซึ่งวางอยู่บนฐานของอวิชชา ในวงการเศรษฐศาสตร์ ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ชิลเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเยล ทำนายเหตุการณ์ได้ถูกต้อง แต่เขาอยู่ในหมู่ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อย ที่มีความเชื่อในเศรษฐศาสตร์แนวพฤติกรรม นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า มนุษย์เราไม่ได้ตัดสินใจทำอะไรในด้านเศรษฐศาสตร์ด้วยเหตุผลตลอดเวลา บางครั้งก็ทำตามอารมณ์ ทำตามคนอื่น หรือทำเพราะความเคยชิน ฉะนั้น การอ่านเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจ ต้องนำหลักจิตวิทยาเข้ามาจับด้วย

สำหรับความโอหังซึ่งวางอยู่บนฐานของอวิชชานั้น มีความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน ก่อนเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในช่วงหลังปี 2472 นักเศรษฐศาสตร์เชื่อมั่นในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของตลาด หน้าที่ของรัฐบาลจึงควรจำกัดอยู่ที่การรักษากฎเกณฑ์ของตลาดเท่านั้น ไม่มีการเข้าไปแทรกแซงโดยตรง ความถดถอยครั้งใหญ่ทำให้ความเชื่อมั่นในความมีประสิทธิภาพของตลาดสั่นคลอน และผู้เสนอทางแก้ ได้แก่ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ซึ่งเชื่อว่าตลาดขาดประสิทธิภาพในบางกรณี ฉะนั้น รัฐบาลควรมีบทบาทโดยตรงผ่านนโยบายการเงินและการคลัง อาทิเช่น ลดอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล แนวคิดนั้นได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และถูกนำไปใช้ได้ผลดีเรื่อยมา จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งหลังราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ความล้มเหลวครั้งนั้นนำไปสู่การฟื้นคืนชีพของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในอำนาจ ของตลาดโดยปราศจากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซง กลุ่มนี้มีศูนย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยในย่านนครชิคาโก ส่วนกลุ่มที่ยังมีความเชื่อมั่นในความสำคัญของการแทรกแซงของรัฐบาล มีศูนย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยในย่านเมืองบอสตัน ในกลุ่มนี้มี พอล ครุกแมน รวมอยู่ด้วย วิกฤติครั้งหลังนี้ใช้เวลานานหลายปีก่อนที่จะแก้ได้และส่งผลให้ทั้งสองค่าย ยอมรับแนวคิดของกันและกันมากขึ้น โดยค่ายในย่านนครชิคาโกเป็นฝ่ายที่มีเสียงดังกว่า ฉะนั้น ในช่วงหลังๆ นี้ เมื่อมีนักเศรษฐศาสตร์ส่วนน้อยมีความคิดแตกต่างออกไป จะไม่มีใครฟัง จนกระทั่งวิกฤติระเบิดออกมาจึงมีการย้อนกลับไปดูว่าเพราะอะไร

เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้มีภาคการเงินเป็นตัวนำ คำถามจึงพุ่งไปที่ภาคนั้นและได้คำตอบหลักๆ ออกมา ว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจในภาคการเงินมากนัก เนื่องจากเชื่อว่ามันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความใส่ใจในภาคการเงินและพยายามนำภาคนั้นเข้ามาร่วม พิจารณาก็พบว่ามันแสนสลับซับซ้อนจนยากแก่การเข้าใจ จึงแยกภาคการเงินออกไปเสียต่างหาก ฉะนั้น การประเมินเศรษฐกิจโดยทั่วไปจึงคล้ายตาบอดคลำช้าง เพราะไม่ได้รวมสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกเข้าไปทั้งที่โลกนี้เชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนแล้ว แต่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำจำนวนมากก็ยังมีความโอหังว่าพวกเขารู้ว่าช้างมี รูปร่างอย่างไร ถึงขนาดนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันชั้นรางวัลโนเบลที่เคยนำความรู้ของเขาไปใช้ใน การบริหารกองทุน จนทำให้กองทุนขนาดยักษ์ล่มสลายก็ยังโอหังไม่หยุด

ทั้งที่ไม่มีความกระจ่างอย่างแจ้งชัด แต่นักเศรษฐศาสตร์จำเป็นต้องเสนอนโยบายให้แก่รัฐบาล การทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาล การเพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลดดอกเบี้ยเป็นตัวอย่างที่ใช้กัน ในขณะนี้และมีที่มาจากแนวคิดของ จอห์น เมนาร์ด เคนส์ แต่เนื่องจากทุกคน ก็คือ ตาบอดคลำช้าง ฉะนั้น พวกเขาจึงทำนายต่างกัน แน่ละ ฝ่ายรัฐบาลต้องการสร้างภาพในแง่ดีเอาไว้ ส่วนฝ่ายตรงข้ามและผู้ที่มีวาระซ่อนเร้นหรือเป็นผู้รับจ้างคนอื่นโจมตี รัฐบาล ก็ต้องออกมาบอกว่าวิกฤติจะร้ายแรงยิ่งขึ้น

ในภาวะเช่นนี้ผู้ที่พอมีเงินออมหรือสินทรัพย์สำหรับลงทุนอยู่บ้างจะทำ อย่างไร ประเด็นนี้ก็มีคำตอบแตกต่างกันออกไปไม่ต่างกับการลงทุนในภาวะปกติ นักลงทุนจำนวนหนึ่งยังอิงความคิดกระแสหลักที่ว่าให้กระจายความเสี่ยงโดยแยก ลงทุนในหลายๆ อย่าง อีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะกระจุกตัวการลงทุน โดยการทุ่มซื้อหลักทรัพย์ที่ราคาตกต่ำ แต่น่าจะมีอนาคตฟื้นตัวและเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มหลังนี้มีอภิมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ รวมอยู่ด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้นำความคิดของเขาไปรวมไว้ในหนังสือชื่อ The Essays of Warren Buffett ซึ่งผมมีบทคัดย่อเป็นภาษาไทย บทคัดย่อนี้กัลยาณมิตรคนหนึ่งได้นำไปรวมไว้ในเว็บไซต์ที่เขาสร้างขึ้น เพื่อเผยแพร่งานบางส่วนของผมชื่อ www.sawaiboonma.com หากท่านไม่สามารถดึงบทคัดย่อนั้นออกมาจากเว็บไซต์ได้ ผมยินดีจะส่งให้หากท่านแจ้งความประสงค์ไปทางอีเมล อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า เนื่องจากบางครั้งเมื่อผมมีของส่งให้ จะมีผู้แจ้งความประสงค์ไปจำนวนมาก และตอนนี้อีเมลของผมมักถูกรังแกบ่อยๆ ฉะนั้น ถ้าท่านได้รับคำตอบช้าก็กรุณาให้อภัยกันด้วย

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.