เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีก : สฤณี อาชวานันทกุล

วันนี้อยากพักเรื่องตลาดทุนชั่วคราว เพราะพอได้ยินดำริของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่จะโยกหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.1 ล้านล้านบาท ไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ควาน)หารายได้มาใช้หนี้ (แถมสำทับว่าไม่ให้พิมพ์ธนบัตรหรือแตะต้องทุนสำรอง) ผู้เขียนก็อดนึกถึงประเทศกรีซไม่ได้

ต้นปี ค.ศ. 2012 กรีซ ดังระเบิด ในฐานะ “ประเทศรวยหลอก” ที่หนี้รัฐท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ถึงแม้ว่าเจ้าหนี้จะกัดฟันลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่ง กรีซก็ไม่น่าจะมีปัญญาชำระหนี้ได้ ปัญหาหนี้ของกรีซจะทำให้สหภาพยุโรปถึงกาลล่มสลายหรือเปล่ายังต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ คือ เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งทั้งเหลือเชื่อ น่าเศร้า และตลกขบขันระคนกัน 

คนที่เล่าเรื่องนี้ได้สนุกมาก คือ ไมเคิล ลูวิส อดีตวาณิชธนกร นักเขียนโปรดคนหนึ่งของผู้เขียน เขาเขียนเล่าในหนังสือเรื่อง “Boomerang” ว่า –

แทบทุกปีตลอดทศวรรษ 1980 และ 1990 อัตราดอกเบี้ยของกรีซสูงกว่าของเยอรมนีร้อยละ 10 เนื่องจากตลาดมองว่า กรีซมีความสามารถในการใช้หนี้ต่ำกว่าเยอรมนีมาก ใน กรีซ ไม่มีสินเชื่อส่วนบุคคล ชาวกรีกไม่มีบัตรเครดิตใช้ และโดยทั่วไปก็ไม่มีสินเชื่อบ้านด้วย

แน่นอนว่า กรีซ อยากให้ตลาดการเงินปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนกับประเทศยุโรปเหนือที่เดินได้ดี พอถึงปลายทศวรรษ 1990 กรีซก็สบโอกาส – โละสกุลเงินของตัวเอง เปลี่ยนไปใช้ยูโร

ก่อนจะทำแบบนี้ได้พวกเขาต้องบรรลุเป้าบางตัวเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นพลเมืองยุโรปที่ดี คือ พิสูจน์ว่าสุดท้ายจะไม่ก่อหนี้เกินตัวจนบังคับให้สมาชิกสหภาพยุโรปประเทศอื่นต้องใช้หนี้แทน เป้าตัวหนึ่งคือ ต้องขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และคุมเงินเฟ้อให้อยู่ราวระดับของเยอรมนี

ในปี 2000 หลังจากมหกรรมมั่วกับสถิติ กรีซก็ทำตามเป้าได้สำเร็จ รัฐบาลกรีกโยกค่าใช้จ่ายหลายรายการ (อาทิเช่น บำนาญกว่า 600 ล้านยูโร และค่าใช้จ่ายทางทหาร) ไปไว้นอกงบดุล ลดอัตราเงินเฟ้อด้วยการตรึงราคาไฟฟ้า น้ำประปา และสินค้าอื่นที่รัฐจัดหาให้กับประชาชน ลดภาษีน้ำมัน สุรา และบุหรี่ 

นักสถิติของรัฐบาลทำอะไรๆหลายอย่าง เช่น เอามะเขือเทศ (ซึ่งแพง) ออกจากดัชนีราคาผู้บริโภคในวันที่วัดอัตราเงินเฟ้อ อดีตนักวิเคราะห์เศรษฐกิจยุโรปในภาคการเงินอเมริกาคนหนึ่ง กล่าวว่า เราไปหาคนที่สร้างตัวเลขพวกนี้ …เราหยุดหัวเราะไม่ได้ เขาอธิบายวิธีดึงราคามะนาวออก ใส่ส้มเข้าไปแทน ดัชนีตัวนี้มั่วได้ใจมาก” 

นั่นแปลว่า แม้แต่ตอนนั้นผู้สังเกตการณ์บางคนก็ตั้งข้อสังเกตแล้วว่าตัวเลขของกรีซบวกกันไม่ลงตัว มิรันดา ซาฟา นักวิเคราะห์จากบริษัทซาโลมอน บราเธอร์ส ชี้ให้เห็นในปี 1998 ว่า ถ้าคุณบวกตัวเลขขาดดุลงบประมาณทั้งหมดของกรีซตลอดระยะเวลา 15 ปี ผลรวมจะเท่ากับครึ่งหนึ่งของตัวเลขหนี้ทั้งหมดของกรีซเท่านั้น พูดอีกอย่างคือ หนี้ทั้งหมดที่รัฐบาลกรีซกู้มาใช้จ่ายมีจำนวนสูงกว่าตัวเลขการขาดดุลที่ประกาศถึงสองเท่า 

ในปี 2001 กรีซเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป แลกเงินสกุลดรักมาเป็นยูโร และทำให้หนี้ของตัวเองมียุโรป (หมายถึง เยอรมนี พี่เบิ้มของยุโรป) ค้ำประกันโดยนัย ชาวกรีกสามารถกู้เงินระยะยาวได้ในอัตราดอกเบี้ยทัดเทียมกับเยอรมนี – ร้อยละ 5 แทนที่จะเป็นร้อยละ 18 กฎการดำรงสมาชิกภาพของกรีซในสหภาพยุโรป คือ ต้องรักษาการขาดดุลงบประมาณให้ต่ำกว่าร้อยละ 3 ของจีดีพี ในทางปฏิบัติ สิ่งเดียวที่รัฐบาลต้องทำคือ มั่วตัวเลขเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำได้ตามเป้า 

ในปีเดียวกัน คือ 2001 โกลด์แมน แซคส์ บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดัง รับจ้างรัฐบาลทำดีลที่ถูกกฎหมายแต่น่ารังเกียจหลายดีล ซึ่งถูกออกแบบมา “หมกเม็ด” ระดับหนี้ที่แท้จริงของรัฐบาลกรีซ ว่ากันว่าดีลเหล่านี้ทำให้ โกลด์แมน แซคส์ (ซึ่งกลายเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลกรีซ 1 พันล้านดอลลาร์) ได้รับค่าธรรมเนียมถึง 300 ล้านดอลลาร์ (ในประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน วันหนึ่งผู้เขียนจะหาโอกาสเขียนเล่า เพราะมีความพิสดารพันลึกไม่น้อย)

“เครื่องจักร” ที่ถูกสร้างมาให้รัฐบาลกรีซกู้เงินมาใช้ตามใจชอบนั้น คล้ายกันกับ “เครื่องจักร” ที่ถูกสร้างมา “ฟอก” เครดิต (ความสามารถในการใช้หนี้) ของลูกหนี้ซับไพร์มในอเมริกา – และบทบาทของวาณิชธนกิจอเมริกันในเครื่องจักรที่ว่านี้ก็เหมือนกันทั้งสองกรณี 

วาณิชธนกร สอนข้าราชการกรีกให้รู้วิธีแปลงรายได้ในอนาคตจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ค่าผ่านทางด่วน ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของอากาศยาน (landing fee) และแม้แต่เงินให้เปล่าที่ได้รับจากสหภาพยุโรป ให้เป็นหลักทรัพย์ รายได้ในอนาคตอะไรก็ตามที่มองเห็นถูกรัฐบาลกรีกเอามาขายแปลงเป็นเงินสดในปัจจุบัน (securitized)

ใครก็ตามที่มีสมองย่อมรู้ว่า กรีซหมกเม็ดสถานภาพทางการเงินที่แท้จริงของตัวเองไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่

– ก. เจ้าหนี้คิดว่าเงินกู้ที่ปล่อยให้กรีซนั้นมีสหภาพยุโรป (นั่นคือ เยอรมนี) เป็นผู้ค้ำประกัน

– และ ข. ไม่มีใครนอกประเทศใส่ใจที่จะขุดคุ้ย ภายในกรีซเองไม่มีใคร “เป่านกหวีด” แฉปัญหา เพราะแทบทุกคนมีเอี่ยวกับมหกรรมต้มตุ๋นนี้

สถานการณ์นี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในเดือนตุลาคม ปี 2009 เมื่ออำนาจเปลี่ยนขั้ว พรรคอนุรักษนิยมตกจากอำนาจ พรรคสังคมนิยมขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่ พบว่ามีเงินหลวงน้อยกว่าที่คาดไว้มากจนตัดสินใจว่าไม่มีทางออกอื่นนอกจากพูดความจริง

แน่นอนว่า ทันทีที่พูดความจริง เจ้าหนี้ของกรีซก็ตื่นตระหนกทันที พอถึงไตรมาสสุดท้ายของปี 2011 รัฐบาลก็เสนออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสูงถึงร้อยละ 25 แต่นักลงทุนจำนวนมากมองว่ากรีซเสี่ยงสูงเกินกว่าจะรับไหวไปแล้ว (ถ้าเจ้าหนี้มั่นใจว่าลูกหนี้ใช้หนี้เงินต้นไม่ได้แน่ๆ ก็คงไม่อยากปล่อยกู้ ไม่ว่าดอกเบี้ยจะสูงเท่าไรก็ตาม)

ปัญหาหนี้กรีซยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก เช่น รัฐบาลขึ้นเงินเดือนและสวัสดิการให้กับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกคะแนนนิยมอย่างมักง่าย โดยไม่ใส่ใจกับผลงานหรือประสิทธิภาพ ส่งผลให้ข้าราชการได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยถึงสามเท่า(!) ของภาคเอกชน 

นอกจากนี้ กรีซ ยังเป็นประเทศที่คอร์รัปชันกว้างขวางและซึมลึกทุกระดับ องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) รายงานว่า กรีซเป็นประเทศที่คอร์รัปชันสูงที่สุดในยุโรป ชาวกรีกจ่ายเงินใต้โต๊ะและสินบนเฉลี่ยคนละกว่า 3,000 ยูโร (ประมาณ 120,000 บาท) ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนในปี 2009

เรื่องราวของกรีซให้อุทาหรณ์ว่า นักการเมืองที่ถนัด “ซุก” มักจะไม่ถนัด “สร้าง” อะไรที่ยั่งยืนนัก อาจเป็นเพราะการ “ซุก” นั้นง่ายกว่าการ “สร้าง” หลายเท่า แถมกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ตัวเองก็อาจอยู่ไกลแสนไกลจนไม่ต้องรับผิดชอบ

เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีก

สฤณี อาชวานันทกุล

9 มกราคม 2555

Author: admin

1 thought on “เทคนิคการ “ซุกหนี้” ของรัฐบาลกรีก : สฤณี อาชวานันทกุล

  1. ขอบคุณมากครับ สุดสยองกับการกระทำ แต่ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำ EU ถึงได้หละหลวมในการตอบสอบเงื่อนไขก่อนที่จะรับเข้ากลุ่มขนาดนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.