อย่าจับจังหวะตลาด : มนตรี นิพิฐวิทยา

แนวคิดง่ายๆที่นักลงทุนหลายๆท่านต่างก็เข้าใจ และพยายามทำให้ได้ในทุกครั้งที่ซื้อขายหุ้นคือ “ซื้อหุ้นตอนที่ยังถูกและขายตอนแพง” แต่พอเอาเข้าจริงทำกันไม่ค่อยได้ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีคำพูดว่า “ติดดอย และขายหมู” แน่นอน
.
ดังนั้น ผมขอบอกไว้ก่อนว่า ยุทธศาสตร์ข้อนี้ “เป็นแนวคิดง่ายๆ แต่ยากในการปฏิบัติ” !!
.
คงมีไม่กี่ครั้งที่เราสามารถซื้อขายได้ถูกเวลา เราอาจซื้อได้ถูกในบางครั้งแต่นั้นไม่ใช่เพราะเราประเมินราคาได้อย่างถูกต้อง แต่เป็นเพราะเราโชคดี และตอนขายนี่ยากกว่าตอนซื้อมากนัก และมักจะขายแล้วราคายังขึ้นต่อ นำความเจ็บช้ำน้ำใจมาสู่เราได้ตลอดเวลา
.
จากการศึกษาแล้ว การจับจังหวะเข้าซื้อหรือขายนั้นหากทำได้จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล และมากกว่าเทคนิคการลงทุนใดๆทั้งปวง แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ ฉะนั้น ที่หลายต่อหลายท่านมักถามผมว่า “ตอนนี้ตอนนั้น ตลาดจะเป็นอย่างไร? ซื้อได้ไหม?” ผมตอบเหมือนเดิมเหมือนเมื่อสิบปีที่แล้วครับ คือ “รู้ก็ดีซิ ไม่มาบอกฟรีๆหรอก ทำเป็นข้อมูลขายดีกว่า”
.
ไม่ได้กวนจริงๆ ที่ตอบอย่างนั้นก็เพราะไม่รู้ ถ้ารู้ผมคงรวยโดยไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ขายคำทำนายก็รวยแล้ว สรุปก็คือ การจับจังหวะตลาดนั้นทำได้ยากมาก และโอกาสถูกต้องนั้นก็น้อยมากๆเช่นกัน
.
แล้วถ้าเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไร? กำปั้นทุบดินครับ ก็ไม่ได้ไปใส่ใจกับตลาด เพราะเราไม่ได้ซื้อหุ้นทั้งตลาด เราซื้อหุ้นรายบริษัทที่เราวิเคราะห์แล้วว่าดี และใช้วิธีรอราคาถูกๆ หรือเฉลี่ยซื้อไปเรื่อยๆ ขายก็เช่นกัน เกินราคาที่ประเมินไว้แล้วก็ทยอยขาย
.
ที่ทำอย่างนี้เพราะธรรมชาติของตลาดสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิดมีลักษณะตามแห่ครับ สังเกตให้ดี เมื่อราคาหุ้นขึ้นจะมีคนมาแย่งกันซื้อ แต่ถ้าราคาลงก็แย่งกันขาย และถ้าความมั่นใจของนักลงทุนในตลาดปรับสูงขึ้นพร้อมๆกันเมื่อไร สังเกตให้ดีครับ ไม่นานตลาดจะปรับลง และต่อให้หุ้นมีพื้นฐานดีอย่างไร ราคาหุ้นนั้นก็ลงตามตลาดด้วย เป็นอย่างนี้มาตลอด กฎข้อนี้ถือว่าตายตัว เพราะเป็นนิสัยถาวรของมนุษย์ทุกคน คือ “โลภ และ กลัว”
.
และขอให้สังเกตอีกครั้งว่า เมื่อตลาดหุ้นอยู่ในสภาพที่ไม่ดี เราจะเห็นว่ามีการซื้อขายน้อยมาก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม นักลงทุนต่างก็นั่งทับเงินเอาไว้ก่อน
.
แน่นอนทุกคนมักจะพูดว่า “ฉันใช้วิธีซื้อถูกๆและขายตอนแพง” ด้วยกันทั้งนั้น แต่พอหุ้นลงต่างก็นั่งนิ่งๆรอให้ตลาดดูดีก่อนแล้วค่อยซื้อหุ้น ซึ่งนั้นก็คือตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว ราคาหุ้นตัวที่น่าสนใจก็ปรับขึ้นแล้วเช่นกัน และนักลงทุนหลายๆคนก็มักจะสนใจหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้นกันทั้งนั้น ผลตอบแทนที่เรามักจะได้คือ ผลตอบแทนค่าเฉลี่ยเหมือนกันกับทุกๆคนที่ซื้อหุ้นตอนตลาดดีๆ
.
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “เราจะไม่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาด หากเราคอยจับจังหวะตลาด” และถ้าหากเราคอยซื้อเมื่อตลาดดีแล้ว นั่นหมายถึงมีคนซื้อมาก่อนหน้าเรามากแล้ว ราคาหุ้นนั้นอาจจะกำลังแพงเกินไปแล้วก็ได้ กรณีนี้มีความเสี่ยงสูงที่หุ้นนั้นกำลังถูกขายทำกำไรในอีกไม่นานนี้
.
เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่งการวิเคราะห์หลักทรัพย์ ผู้แต่งตำราคลาสสิคเรื่อง นักลงทุนผู้ชาญฉลาด หรือ Intelligent Investor และ การวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือ Security Analysis ได้กล่าวไว้ว่า
.
“ให้ซื้อหุ้นเมื่อหลายๆคน…รวมถึงผู้เชี่ยวชาญต่างๆ…มีความคิดในแง่ร้ายต่อตลาด และขายเมื่อพวกเขาเหล่านั้นมีความคิดต่อตลาดในเชิงบวกมากๆ”
.
เบอร์นาร์ด บารัค อดีตที่ปรึกษาประธานาธิปดีสหรัฐฯที่ประสบความสำเร็จท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า “อย่าทำอะไรตามฝูงชนเป็นอันขาด”
.
พฤติกรรมทำอะไรตามๆกันนั้นเป็นธรรมชาติของสัตว์หลายๆชนิด รวมถึงมนุษย์ด้วย อาจเป็นการยากสำหรับพวกเราที่จะทำอะไรสวนกระแส หลายครั้งหลายหนอาจจะถูกมองว่า “เพี้ยน” ทำอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน เช่น การซื้อหุ้นตอนที่ชาวบ้านเขาขายหรือช่วงที่ตลาดตกต่ำย่ำแย่ และขายตอนที่ตลาดยังดูดี หรือตอนที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหุ้นยังคงแนะนำให้ซื้อหุ้น และยังคงเชื่อว่าหุ้นจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆก็ตาม
.
สังเกตให้ดีครับ เมื่อทุกคน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างออกมาบอกว่า ตลาดจะขึ้นไปที่นั่นที่นี่ จากนั้นไม่นาน ตลาดจะปรับฐาน หรือไม่ก็ลงอย่างรุนแรง แต่ถ้าพวกเขายังมีความเห็นที่ระมัดระวังอยู่ หุ้นจะยังไม่ไปไหน
.
เห็นไหมครับ ว่าเป็นแนวคิดง่ายๆ “ซื้อตอนถูก ขายตอนแพง” แต่ปฏิบัติได้ยากจริงๆ !!!
.
อย่าจับจังหวะตลาด
.
Value Way  : 16 ยุทธศาสตร์ พิชิตการลงทุน
.
มนตรี นิพิฐวิทยา
.
20 Jan, 2011
Author: admin

1 thought on “อย่าจับจังหวะตลาด : มนตรี นิพิฐวิทยา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.