‘อนุรักษ์ บุญแสวง’ จากทุน 8 แสน สู่หลัก ‘ร้อยล้าน’ : กรุงเทพธุรกิจ

พี่โจ (ลูกอีสาน) เป็นนักลงทุนต้นแบบของการลงทุนสไตล์ VI สำหรับผมเลยครับ

###

กำไรทบต้น สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก ‘โจ’ อนุรักษ์ บุญแสวง ผู้เดินตามแนวคิด ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ วันนี้เขามีพอร์ตเลข 9 หลัก

ใครคนหนึ่งเอ่ยถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า “ท่านครับ! ท่านคิดว่าอะไรคือประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติครับ?”

อัจฉริยะผมยุ่งผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1879-1955 ตอบว่า ‘ก็ดอกเบี้ยทบต้นไง!!’

เจ้าของชื่อล็อกอิน “ลูกอีสาน” ในเว็บไซต์ Thaivi “โจ” อนุรักษ์ บุญแสวง วันนี้พอร์ตเขาแตะเลข 9 หลัก เพราะเดินตามทฤษฎี “กำไรทบต้น” สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของไอน์สไตน์

โจ เป็นนักลงทุนวีไอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขามีแฟนคลับคอยติดตามผลงานการลงทุนอย่างใกล้ชิดและเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) โจและเพื่อน 2-3 คน ที่เป็นนักลงทุนแนว VI เหมือนกัน ลงทุนอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทุกไตรมาสพวกเขาจะจัดสัมมนาคุยกับแฟนๆ ประมาณ 50 ที่นั่ง ที่ร้านอาหาร สมิหลาซีสปอร์ต ในอำเภอหาดใหญ่

ชื่อ “ลูกอีสาน” ที่โจใช้เป็น “นามแฝง” หาใช่ภูมิลำเนาที่แท้จริงไม่ ความจริงโจเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็กจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่จังหวัดพังงา ก่อนจะเข้ามาอยู่กับญาติย่านลาดพร้าว เพื่อศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนชื่อ “ลูกอีสาน” เกิดขึ้นหลังอ่านนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544 แล้วเกิดซาบซึ่งในชื่อนี้ขึ้นมา

เซียนหุ้นวีไอรายนี้ปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปี มีพี่น้อง 4 คน โจเป็นลูกชายคนรองคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคุณแม่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ยึดอาชีพขายของชำเลี้ยงดูลูกๆ ในวัยเด็กโจมีชีวิตค่อนข้างลำบาก ตัวเขา พี่ชายคนโตและแม่ ต้องแบกรับหน้าที่ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวทั้ง 5 ชีวิต

โจลงทุนในตลาดหุ้นมานาน 12 ปีครึ่ง (2543-2555) มีพอร์ตทะยานขึ้นมาเลข 9 หลัก โดยมูลค่าการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี “เฉลี่ยปีละ 60%” มีผลตอบแทนในช่วง 12 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 400 เท่า สมมติฐานทั้งหมดตั้งอยู่บนหลักการไม่นำเงินออกมาใช้ แต่ความจริงเขานำเงินมาใช้เฉลี่ย 5-10% ของพอร์ต

อนุรักษ์ บุญแสวง นั่งเครื่องบินจากอำเภอหาดใหญ่ เพื่อมาเล่าประวัติชีวิตและเส้นทางการลงทุนให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังโดยมี “ไก่” ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เป็นผู้ประสานงานให้

ก่อนจะเล่าจุดเริ่มต้นในเส้นทางเซียนหุ้น โจระบายความใจว่า “พื้นฐานผมมาจากครอบครัวยากจน และเป็นคนบ้านนอก เมื่อก่อนจะมีประโยคฮิตว่า “คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น” ผมจึงอยากพิสูจน์ตัวเองว่า คนจนก็เล่นหุ้นได้หมือนกัน ขอเพียงแค่มีใครสักคนมาคอยชี้แนวทางที่ถูกต้องให้เดินเท่านั้น”

จุดสนใจตลาดหุ้นเกิดขึ้นตอนเด็กๆ ช่วงนั้นโจย้ายไปอยู่บ้านญาติแถวลาดพร้าว วันหนึ่งก็แอบได้ยินลูกชาย (คุณน้า) ของคุณปู่ ซึ่งอายุห่างกันประมาณ 15 ปี บอกกับคุณปู่ว่าอยากลาออกจากงานประจำมาเล่นหุ้น ไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีเงินใช้ ตอนนั้นโจคิดในใจว่า “อาชีพอะไรทำไมน่าสนใจแบบนี้” เขาเรียกน้าชายคนนั้นว่า “คิ้ว” ซึ่งแปลว่า “พี่ชาย” เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน

“จากนั้นผมก็เริ่มหาหนังสือและพ็อกเก็ตบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจมาอ่าน เรียกว่าช่วงนั้นไม่อ่านหนังสือเรื่องอื่นเลย ยกเว้นหนังสือเรียน เมื่อเรียนจบม.ปลาย ผมก็ไปเรียนต่อในคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใจจริงอยากเรียนเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เพราะเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง แต่สอบไม่ผ่าน (หัวเราะ) จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านการเงินการธนาคารที่รามคำแหง เพราะอยากมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุน”

ช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่สงขลานครินทร์ โจจะใช้เวลาทุกเย็นอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เขาอ่านหนังสือลักษณะนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 4 ปี จนเรียนจบในเดือนมีนาคม 2539

หลังเรียนจบปริญญาตรีใบแรกถัดมาประมาณ 3 ปี เขาก็ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีเงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บจากการทำงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นทำงานในบริษัทขายเครื่องใช้สำนักงานและกล้องถ่ายรูป เงินเดือนน้อยประมาณ 10,000 บาท แต่ก็ต้องทำ

“ช่วงเปิดพอร์ต ผมเจ็บใจมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาใหม่ๆ โบรกเกอร์แห่งหนึ่งจะให้ผมเปิดพอร์ต 5 ล้านบาท ตอนนั้นผมคิดในใจใครจะมีเงินมากขนาดนั้น สุดท้ายผมก็ไปเปิดพอร์ตที่ บล.เกียรตินาคินประมาณ 300,000 บาท”

ตอนนั้นเขาไปขอเงินแม่มา 100,000 บาท ทั้งครอบครัวคงมีเงินอยู่เท่านั้น แต่แม่ก็ให้เพราะรักลูก ส่วนที่เหลืออีก 150,000 บาท ไปชวนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมลงทุน เพราะเขาอยากเล่นหุ้นอยู่แล้ว

“ผมซื้อหุ้น บล.เอกธำรง (S-one) เป็นตัวแรก ตอนนั้นปี 2541 ในราคา 11.30 บาท ถือมาประมาณ 1 ปี ก็ขายในราคา 5.80 บาท (หัวเราะ) เรียกได้ว่า “ขาดทุนยับเยิน” เหลือเงินติดพอร์ตเพียง 120,000 บาท สุดท้ายก็แบ่งคนละครึ่งกับเพื่อน” นั่นคือความล้มเหลวแรกที่เจ้าตัวไม่เคยลืมเลือน

ช่วงนั้นเขายอมรับว่าในหัวสมองไม่มีวิชาการวิเคราะห์หุ้น วันๆอ่านแต่บทวิเคราะห์อย่างเดียว แถมรู้จักธุรกิจที่ลงทุนเพียงผิวเผินเท่านั้น ผนวกกับตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาใหม่ๆ ทำให้รายได้ของโบรกเกอร์ไม่ดี จำได้ช่วงซื้อหุ้น S-one ดัชนีหุ้นไทยหล่นจาก 600 จุด มายืน 200 จุด

หลังจากขาดทุนหนักโจก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ภรรยาที่เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคบกันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยได้ทุนไปเรียนต่อ โจใช้เวลาช่วงนั้นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงิน วันหนึ่งไปอ่านเจอบทความของอาจารย์ที่แนะนำการลงทุนเน้นคุณค่าทางอินเตอร์เน็ต

คนหนึ่งชื่อว่า Paul A Renaud ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทย เขาเป็นเจ้าของ www.thaistocks.com เขาจะสอนให้ซื้อหุ้นขนาดเล็กเน้นดูพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก แต่ตอนนั้นโจยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้เขาเรียกว่าแนว VI เพราะยังไม่มีการบัญญัติคำเหล่านั้นขึ้นมา

อีกคนชื่อ ปีเตอร์ อีริค เดนนิส นักลงทุนชาวออสเตรีย คนนี้ก็อยู่เมืองไทยเหมือนกัน เขาเขียนบทความลงคอลัมน์ “ถนนนักลงทุน” (ก่อนที่จะเป็นหนังสือกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในปัจจุบัน) ความยาว 17 หน้า โจอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำขึ้นใจ บทความชิ้นนี้ทำให้รู้ว่า “ชีวิตการลงทุนของคนที่จะประสบความสำเร็จได้ “คุณต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้น”

ประโยคหนึ่งในบทความบอกว่า ทำไม! คนไทยต้องไปต่อคิวซื้อธนบัตรที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 6% ในขณะที่เมืองไทยมีหุ้นดีๆ ที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 10% ทุกปี ทำไม! ถึงไม่ซื้อ เขาถึงขนาดทนไม่ได้ต้องเขียนเป็นบทความออกมาให้นักลงทุนอ่าน

ปีเตอร์ เดนนิส (สมัยก่อนจะเห็นเขาอยู่ที่ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำ) เขาบอกว่า หลักการนี้เหมือนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันเขายังแนะนำวิธีการซื้อหุ้นเน้นดูอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio) อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และเงินปันผล รวมถึงคุณภาพบริษัท

“ผมใช้เวลาอ่านบทความต่างๆ ในช่วงที่อาศัยในสหรัฐอเมริกาประมาณ 2-3 ปี หลังอ่านจบทำให้รู้ว่าแนว VI มันมีเหตุผลมากกว่าเส้นเทคนิค เพราะมีคนทำสำเร็จมาแล้วแถมมีความเป็นไปได้มากกว่า ในอดีตเคยศึกษาเส้นเทคนิคมาประมาณครึ่งปี แต่พอรู้ว่ามันไม่สามารถทำให้ “รวย” ได้ ผมก็เลยเลิก”

เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักร้อยล้าน เล่าต่อว่า ในช่วงที่ศึกษาการลงทุนก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปด้วย ตอนนั้นเล่น “หนักมาก” โดยจะนำเงินที่ได้จากการทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารเกาหลีประมาณ 1 ปีครึ่งมาเป็นทุน จำได้ตอนนั้นปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มลงทุนแนว VI ทุกเดือนจะโอนเงินกลับเมืองไทยประมาณ 1,000 เหรียญ เพื่อเข้าบัญชีน้องสาว ซึ่งน้องจะนำไปซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ แม้จะโดนหักค่าโอนครั้งละ 5% แต่ก็ต้องยอมเพราะตอนนั้นหุ้นเมืองไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจมัน “ถูกมาก”

ช่วงนั้นเขาซื้อหุ้น 2 ตัว มูลค่าลงทุน 800,000 บาท แบ่งเป็นเงินของภรรยา 50% และของตัวเอง 50% โดย 400,000 บาท นำไปซื้อหุ้น วนชัย กรุ๊ป (VNG) ตอนนั้นลงทุนโทรไปหาโบรกเกอร์ เขาคิดว่าโจพูดชื่อหุ้นผิด เพราะเขาถามกลับว่าหุ้น เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) หรือเปล่า! โจบอกว่า “ไม่ใช่” (หัวเราะ)

เหตุผลที่ซื้อหุ้น VNG เขาบอกว่า ตอนนั้นไม่มีใครสนใจหุ้น VNG ในหนึ่งสัปดาห์แทบไม่มีการซื้อขาย ที่กล้าซื้อ เพราะช่วงนั้นหุ้นมีค่า P/E ที่ 1.5 เท่า นั่นแปลว่า เราทำกำไรแค่ 1 ปีครึ่ง ก็คุ้มกับราคาที่ซื้อแล้ว สมมุติราคาหุ้น 15 บาท ปีครึ่งบริษัททำกำไรได้ 15 บาท ถามว่า “ถูกมั้ย!..มันถูกมาก” (ลากเสียงยาว)

ส่วนอีก 400,000 บาท นำไปลงทุนในหุ้น อาร์ ซี แอล (RCL) ตอนนั้นซื้อมา 28 บาท จำได้ค่า P/E อยู่ที่ 2.5 เท่า เขาถือหุ้น 2 ตัวนี้ (VNG, RCL) เกือบปี แต่ราคาหุ้นแทบไม่ขยับตอนนั้นเริ่มสงสัย “เราคิดถูกหรือเปล่า!”

แต่สุดท้ายมาถึง “จุดเปลี่ยน” มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง รวมถึง Paul A. Renaud เขาสนใจหุ้น VNG หลัง Paul A. Renaud ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น VNG ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์ ราคาหุ้น VNG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 30 บาท

“ผมตัดสินใจเทขายหมดเกลี้ยง ทำให้ได้กำไรกลับมา 400,000 บาท ส่งผลให้พอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาท จากนั้นภายใน 1 ปี ราคหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า เพราะมันกลายเป็นหุ้นมวลชนหลายคนแห่เข้ามาเก็งกำไร ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น VNG ก็นำไปซื้อหุ้นตัวอื่นๆ กระจายออกไป 2-3 ตัว เช่น หุ้น ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ (PPPC) เป็นต้น ปัจจุบันหุ้นตัวนี้ออกจากตลาดไปแล้ว ตอนนั้นแฮปปี้มากเพราะได้กำไรเกือบทุกตัว

โจลูกอีสาน ทิ้งท้ายว่า อยากเป็นนักลงทุนแนว VI ต้องใช้หลัก “ยิ่งนานยิ่งดี” โจใช้เวลา 7 ปี ในการทำผลตอบแทนให้ได้ 9 เท่า แต่ใช้เวลา 5 ปีหลัง ทำผลตอบแทนให้ได้ 400 เท่า นั่นเป็นเพราะกลยุทธ์ “มหัศจรรย์การทบต้น”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์บอกไว้ว่า “ดอกเบี้ย” คือ สิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก โจปักใจเชื่อสนิทขณะที่คนส่วนใหญ่รอไม่ได้ จึงหันไปเก็งกำไร ซื้อหวย และเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่ก็เห็นเจ๊งเป็นแถว

เขาอธิบายมหัศจรรย์ของ “กำไรทบต้น” ว่า สมมติเรามีเงิน 100 บาท สิ้นปีสามารถทำผลตอบแทนได้ 20% เท่ากับว่าสิ้นปีเราจะมีเงิน 120 บาท แทนที่จะเอา 20 บาท ไปกินขนม เราก็เอา 20% มาทบเป็นเงินต้น ดังนั้นต้นปีก็จะมีเงินต้น 120 บาท สมมติปีที่ 2 เราสามารถทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม กำไรก็จะเปลี่ยนเป็น 24 บาท เราก็เอา 24 บาท ไปทบต้นอีก ทำแบบนี้ไปทุกปีภายใน 10 ปี มันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ทะลุฟ้า ฉะนั้นใครคิดอยากรวยเร็ว อย่ามาลงทุนแบบ VI

เรื่องราวของเซียนหุ้นบ้านนอกยังไม่จบ โจใช้เทคนิคแบบไหนถึงทำให้มูลค่าการลงทุนภายใน 12 ปีครึ่ง ทะยานขึ้นเป็น 9 หลัก ติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้า..ห้ามพลาดเด็ดขาด!!

####

เปิดคัมภีร์เซียนวีไอ ‘โจ..ลูกอีสาน’ กว่าจะมีพอร์ตหุ้น ‘เลข 9 หลัก’

โดย : กรุงเทพธุรกิจ

คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น ประโยคพลิกชีวิต ‘โจ’ อนุรักษ์ บุญแสวง ก่อนชีวิตจะกลับด้านจาก’คนจน’ กลายเป็น ‘เซียนหุ้นร้อยล้าน’ นิยายกลายเป็นจริง

ถ้าชีวิตคนคนหนึ่งคือกระจกเงาสะท้อนให้เห็นตัวเอง ชีวิต “โจ” อนุรักษ์ บุญแสวง ก็เป็นยิ่งกว่านวนิยายสะท้อนให้ใครหลายคนเห็นว่า เด็กยากจนคนหนึ่งชีวิตยังประสบความสำเร็จได้…นิยายกลายเป็นความจริง!!!

ในกลุ่มนักลงทุนวีไอรุ่นใหม่ โจนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในวัยเพียง 38 ปี เขามีพอร์ตหุ้นใหญ่ “เลข 9 หลัก” ด้วยหลักการลงทุน “กำไรทบต้น” พอร์ตขยายตัวเฉลี่ยปีละ 60% ทำกำไร 400 เท่า ภายในระยะเวลา 12 ปี เขาทำได้มาแล้ว!

โจเป็นคนจังหวัดพังงาแต่ใช้นามแฝง “ลูกอีสาน” ตามนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” ของ คำพูน บุญทวี หนังสืออ่านนอกเวลาที่บรรยายชีวิตเด็กบ้านนอกยากจนได้บาดลึกถึงหัวใจ หลังคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น ป.6 แม่ต้องยึดอาชีพขายของชำเล็กๆ เลี้ยงดูครอบครัว 5 ปาก แต่ทุกคนมีหัวใจเดียวกัน “ชีวิตต้องสู้” ในวัยเด็กโจมีชีวิตค่อนข้างลำบาก นี่เองที่ทำให้เขามุ่งมั่นตั้งแต่เด็ก ชาตินี้ต้องประสบความสำเร็จให้ได้

ช่วงเรียนปริญญาตรีอยู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โจใช้เวลาทุกเย็นคลุกอยู่ในห้องสมุดอ่านหนังสือพิมพ์และ นิตยสารเกี่ยวกับธุรกิจ เพื่อนคนอื่นไปเที่ยวเฮฮากัน โจนั่งอ่าน..อ่าน และอ่านอย่างนี้ทุกวันตลอด 4 ปี เขาเคยล้มเหลวจากความพยายามเล่นหุ้นครั้งแรก และตามภรรยาไปอเมริกาไปทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารเกาหลีประมาณ 1 ปีครึ่ง ก่อนจะกำเงิน 800,000 บาท กลับมาพิชิตความฝันที่รอคอยจนมีเงิน “หลักร้อยล้าน” ในปัจจุบัน

เซียนหุ้นวีไอรายนี้ เล่าสไตล์การลงทุนให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า ปกติจะเป็นคนถือหุ้นค่อนข้างนานเฉลี่ยประมาณ 1 ปี เคยถือนานที่สุด 2-3 ปี ลงทุนสั้นที่สุด 2-3 เดือน ที่ขายเพราะราคาหุ้นขึ้นมาถึงเป้าหมายเร็วก็ขายทำกำไรออกมา

การลงทุนของโจจะวางน้ำหนักหุ้นไม่กระจุกตัวกันเกินไป เขามีความคิดว่า “นั่งเก้าอี้หลายขาดีกว่าสองขา” ถ้าวิเคราะห์พลาดโอกาสเสียหายจะหนักมาก เพราะฉะนั้นจะไม่วัดดวงกับหุ้นเพียงหนึ่งหรือสองตัว แต่จะกระจายอย่างเหมาะสมเพื่อ “จำกัดความเสี่ยง”

“ปกติผมจะมีหุ้นในพอร์ตประมาณ 10-15 ตัว แต่ช่วงนี้มีเยอะประมาณ 19 ตัว เพราะพอร์ตเริ่มใหญ่ขึ้น ผมจะไม่เล่นหุ้นเป็นกลุ่ม แต่เน้นเป็นตัว ผมถือคติว่าถ้าหุ้นดีจริง สุดท้ายราคาต้องขยับ

คำจำกัดความของหุ้นที่เขาชอบลงทุนคือ “หุ้นถูก คุณภาพใช้ได้” ถ้าใครรู้จักโจแทบจะไม่เห็นเขาลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่วีไอส่วนใหญ่ชอบลงทุน เขาให้เหตุผลง่ายๆ “มันแพงครับ!” (หัวเราะ)

โจเล่าว่า ทุกวันนี้มีนักลงทุนแนววีไออยู่ 3 ประเภท พวกแรก…ประเภทเดียวกับผม คือ ชอบ “หุ้นถูก คุณภาพใช้ได้” พวกที่สอง…ชอบหุ้นคุณภาพดีหรือเปล่าไม่รู้ แต่ขอ “ถูก” ไว้ก่อน พวกสุดท้าย…ชอบหุ้น “ซูเปอร์สต็อก” ถูกแพงไม่ว่า ขอให้คุณภาพบริษัทดีไว้ก่อน ประเภทหลังนี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ปรมาจารย์วีไอในประเทศไทย “ชอบมาก”

สำหรับวิธีการเลือกหุ้นลงทุน ข้อแรก..”ผมจะดูกำไร” ส่วนตัวมีความเชื่อว่ากำไรเป็นเสมือน “มือที่มองไม่เห็น” กำไรคือ “เจ้ามือตัวจริง” ที่จะผลักดันราคาหุ้น

“ผมจะชอบหุ้นที่มีแนวโน้มว่ากำไรสุทธิจะเติบโตมากๆ อย่างน้อยต้องขยายตัว 20-30% ต่อปี นั่นแปลว่าบริษัทนั้นมีสตอรี่ที่ดีมารองรับแล้ว”

ข้อสอง..ผมจะวิเคราะห์ “มูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็นภายใน 1 ปีข้างหน้า” นำมาเปรียบเทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อขายในปัจจุบัน ถ้าหุ้นตัวนั้นมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (margin of safety) ยิ่งมาก..ยิ่งชอบ

ถามว่าวิธีการคำนวณต้องทำอย่างไร? เขาบอกว่า เรื่องนี้ต้องไปศึกษาเอง ไม่มีทางลัด นักลงทุนต้องไปอ่านแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1) บ่อยๆ ตัวเองก็อ่านมาแล้วเกือบทุกบริษัท

โจ สรุปให้ฟังว่าหากมองในแง่ของตัวเลขจะดูหลักๆ ดังนี้ หนึ่ง..เน้นดูค่า P/E ควรต่ำเข้าไว้ แต่ถ้าคุณภาพดี ก็ไม่ต้องต่ำมากก็ได้ ปกติหากบริษัทนั้นมีคุณภาพที่ดี “ผมจะเพิ่มพรีเมียม..ให้ค่าเฉลี่ย P/E ขึ้นไปอีก 1 เท่า”

แต่ก็ไม่ได้ใช้หลักการนี้ตายตัว ถ้าคุณภาพ “ดีปานกลาง” จะเพิ่มพรีเมียมค่าเฉลี่ย P/E อีกเพียง 0.5 เท่า จากค่าเฉลี่ยปกติ พวกหุ้นค้าปลีก และโรงพยาบาลจะเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพ “ดีที่สุด” เพราะมีการเจริญเติบโตทุกปี แถมงบการเงินก็ดี ผู้บริหารเก่ง และแทบไม่มีความเสี่ยง

สอง..เน้นหุ้นที่มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ต้องมากกว่า 15% สาม..อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ธุรกิจทั่วไปไม่ควรเกิน 1 เท่า ไม่เช่นนั้นจะเริ่มเสี่ยง แต่บางธุรกิจมีข้อยกเว้น เช่น กลุ่มธนาคาร และกลุ่มลิสซิ่ง เป็นต้น

ข้อสุดท้าย.. ดูวงจรกระแสเงินสด บริษัทไหนมีเงินนอนอยู่ในบริษัทมากๆ ถือว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาล และค้าปลีก เพราะเวลาเขาขายสินค้าจะรับเงินสดทันที แต่เวลาซื้อสินค้ากว่าจะจ่ายเงินก็ 60 วัน เท่ากับว่าเขามีเงินสดกองในบริษัทตลอดเวลา แถมเงินส่วนนี้มีดอกเบี้ยด้วย

“ถ้าผมเจอหุ้นที่มีคุณสมบัติอย่างที่บอก ผมจะเคาะขวา (ซื้อฝั่ง Offer) เลย เพราะกลัวมีคนมาแย่ง ไม่ต้องตั้งรอ ซื้อแพงหน่อยไม่เป็นไร แต่ถ้าตัวไหนดูแล้วอัพไซด์ไม่มาก..ก็รอหน่อย! ส่วนใหญ่จะซื้อทีเดียวเลย ถ้าลงมาก็จะซื้อเพิ่มอีก ตัวไหนดีมากจะซื้อไม่เกิน 30% ของพอร์ต ปกติจะมีหุ้นตัวหลักในใจ 6-7 ตัว”

ก่อนจะเป็นวีไอที่ประสบความสำเร็จแก่นแท้ข้อหนึ่งที่จะต้องท่องไว้เลยคือ “เราซื้อธุรกิจไม่ได้ซื้อหุ้น” คนส่วนใหญ่ที่คิดว่าซื้อหุ้น เพราะเขาเชื่อว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้น แต่หากคิดว่าซื้อธุรกิจ เราจะคิดว่าธุรกิจนี้จะมีกำไรสูงขึ้น ซึ่งมันจะเป็นตัวผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้น แต่จะคิดแบบซื้อธุรกิจได้คุณต้องศึกษาธุรกิจนั้นอย่างลึกซึ้ง

“บางคนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน คุณต้องไปอ่านหนังสือ การลงทุนก็เหมือนปลูกทุเรียนปีเดียวคงไม่มีทางได้กิน แต่ผมวันนี้ศึกษาข้อมูลเพียง 1 วัน บางครั้ง 5-10 นาที ก็ตัดสินใจได้แล้ว เพราะผมพร้อมตลอดเวลารู้จักทุกบริษัทแล้ว”

มาถึงศาสตร์เรื่องจิตวิทยา และทัศนคติ โจเล่าว่า เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนไว้ตลาดหุ้นจะมี 2 คน คือ “ตัวเรา” และ “นายตลาด” ตลอดเวลาเราจะซื้อขายหุ้นกับนายตลาด ซึ่งนายตลาดเป็นคนอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ บ้าๆ บอๆ วันไหนอารมณ์ดีจะมาเสนอซื้อหุ้นเราในราคาสูงๆ แต่หากวันไหนอารมณ์หดหู่ มองโลกในแง่ร้าย จะมาเสนอขายหุ้นให้เราในราคาต่ำๆ ฉะนั้นเรามี 2 ทางเลือก คือ 1. หาประโยชน์จากนายตลาด หรือ 2. ตกอยู่ในอิทธิพลของนายตลาด ดังนั้นหากเราเลือกถูกทาง ก็ไม่ต้องกลัวหุ้นตก

“ผมพนันเลยว่ากว่า 90% ของคนที่เข้ามาในตลาดหุ้น จะกลายเป็นนายตลาดเสียเอง ยิ่งเขาไม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากนายตลาดได้ เขาก็จะ “เจ๊ง” เห็นคนชอบขายหุ้นตอนราคาต่ำๆ แล้วไปไล่ซื้อช่วงสูงๆ..ถ้าเรามั่นใจถือเลย ขาดทุนก็ไม่เป็นไร เชื่อมั้ย! ตอนวิกฤติซับไพร์ม ผมขาดทุนครึ่งหนึ่ง แต่ก็ไม่ขายของดีราคาต่ำจะขายทำไม! มันไม่สมเหตุสมผล ตรงข้ามเราควรซื้อเพิ่มถ้ามีเงิน อย่าไปหวั่นไหวตามตลาด คนที่อดทนผมรับรองไม่สำเร็จมากก็สำเร็จน้อยอย่างแน่นอน” เขากล่าวอย่างมั่นใจ

โจบอกว่า ทุกๆวันจะมองหาหุ้นที่จะซื้อตลอดเวลา มองหุ้นบางตัวอยู่แต่ราคาอาจแพงไปนิด แถมโอกาสชนะมีแค่ 50% ถ้าเป็นแบบนั้น “จะยังไม่ซื้อ” เพราะโอกาสชนะแค่ 50% เหมือนเรา “เล่นการพนัน” จะซื้อก็ต่อเมื่อโอกาสชนะต้องมากถึง 80-90% เท่านั้น

“ที่ผ่านมาผมลงทุนในตลาดหุ้น 100% ตลอด จากสถิติพบว่าตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งในปี 2518 สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี สูงสุดเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทุกประเภท ผมยังเชื่อว่าระยะยาวตลาดหุ้นยังจะให้ผลตอบแทนดีที่สุดต่อไป” และ “โจ..ลูกอีสาน” ก็จะฝังตัวอยู่ในตลาดหุ้น ที่ที่เขารักตลอดไป!!!

รวยแล้ว!! ยังอาศัยบ้านพักข้าราชการ สำหรับเป้าหมายการลงทุน อนุรักษ์ บุญแสวง บอกว่า ในปีนี้ ขอผลตอบแทน 30% ก็พอใจแล้ว แต่ระยะยาวอยากได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 20% ต่อปี คนที่เก่งที่สุดในโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็ทำได้เท่านี้ แต่เขาทำได้ติดต่อกัน 50 ปี ถามว่าภายใน 5-10 ปีข้างหน้า อยากมีพอร์ตสูงขึ้นเป็นระดับเท่าไร มาถึงตอนนี้ “ผมพอใจแล้ว”

ทุกวันอนุรักษ์จะตื่นเช้าไปส่งลูกทั้ง 3 คน ไปโรงเรียน (ลูกชายคนโต 9 ปี ลูกชายคนรอง 7 ปี ลูกสาวคนสุดท้อง 3 ปี) ส่งเสร็จจะกลับมาอ่านข่าว บจ.ที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ และอ่านบทวิเคราะห์ โดยจะไม่ฟังคำแนะนำของมาร์เก็ตติ้ง

“ผมถือคติว่า ฟังคนอื่นหรือลอกหุ้นคนอื่นชีวิตการลงทุนคงไม่รอด ที่ผ่านมาผมปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ใช้ “อินไซเดอร์” ถึงได้กำไรก็ไม่ภูมิใจ เราโกหกคนอื่นได้ แต่โกหกตัวเองไม่ได้ ไม่อยากเงยหน้าอายฟ้า ก้มหน้าอายดิน”

สำหรับเงินที่ได้กำไรจากการลงทุน โจไม่เคยนำไปซื้อบ้านหรือที่ดินทุกวันนี้ครอบครัวเขายังอยู่บ้านพักข้าราชการ (ภรรยาเป็นอาจารย์) เขามองว่า สินทรัพย์ประเภทนั้นไม่ได้สร้างรายได้ให้มากมาย และไม่เคยซื้อทองคำ ลองดูราคาย้อนหลัง 30 ปี ผลตอบแทนทองคำ “ห่วยที่สุด” แต่คนมองว่าทองคำดีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

“ผมมีซื้อที่ดินในจังหวัดพังงา 40-50 ไร่ ให้พี่ชาย (อายุห่างกัน 2 ปี) นำไปปลูกปาล์มและทำสวนยาง ให้เขามีอาชีพเลี้ยงตัวเอง”

ปัจจุบันอนุรักษ์ซื้อขายหุ้นหลายโบรกเกอร์ที่ บล.เอเซีย พลัส, บล.โนมูระ พัฒนสิน, บล.ไทยพาณิชย์, บล.ภัทร และ บล.ธนชาต ถามว่าทำไม! ต้องเล่นหลายโบรก เขาตอบว่า อยากได้งานวิจัยที่หลากหลายและดีที่สุด นอกจากนี้แต่ละโบรกเกอร์มีโปรแกรมการซื้อขายไม่เหมือนกัน ส่วนตัวมองว่า บล.เอเซีย พลัส มีงานวิจัยดีที่สุด

เซียนหุ้นร้อยล้าน กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้นักลงทุนที่ยังไม่ถึงเป้าหมายศึกษาหาความรู้ให้มากที่สุด อย่าไปคิดว่าซื้อแล้วหุ้นต้องขึ้นทันที ให้คิดว่าเรา “ซื้อธุรกิจ” ถ้าใครไม่พร้อมก็ให้ไปซื้อกองทุนรวมแทนก็ได้ ปัจจุบันมีหลายกองทุนสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี

“ผมอยากฝากถึงนักลงทุนทุกคนว่า ถ้าอยากมีชีวิตหลังเกษียณที่ดีควรรีบลงทุนตั้งแต่อายุน้อยๆ หุ้นเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่พิสูจน์แล้วว่าให้ผลตอบแทนดีที่สุด แต่ก็ต้องลงทุนด้วยทัศนคติที่ถูกต้อง คือ มองหุ้นให้เป็นธุรกิจ และมีอารมณ์ที่มั่นคง หุ้นจึงจะกลายเป็น “บ่อเงินบ่อทอง” ขุดเท่าไรก็ไม่หมด แต่ถ้าลงทุนผิดวิธีมีเท่าไรก็หมดได้” 

Author: admin

1 thought on “‘อนุรักษ์ บุญแสวง’ จากทุน 8 แสน สู่หลัก ‘ร้อยล้าน’ : กรุงเทพธุรกิจ

  1. ในกลุ่มนักลงทุนวีไอรุ่นใหม่ โจนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงในวัยเพียง 38 ปี เขามีพอร์ตหุ้นใหญ่ “เลข 9 หลัก” ด้วยหลักการลงทุน “กำไรทบต้น” พอร์ตขยายตัวเฉลี่ยปีละ 60% ทำกำไร 400 เท่า ภายในระยะเวลา 12 ปี เขาทำได้มาแล้ว!

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.