ประชากรโลกที่แก่ตัวลง – ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

elderly-people-on-computer

ผมขอนำเอาบทวิเคราะห์ของนิตยสาร Economist เกี่ยวกับการแก่ตัวลงของประชากรโลก และผลกระทบทางเศรษฐกิจมาแปรรูปให้อ่านกันในครั้งนี้ เพราะผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนักการเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว ยังไม่ยอมรับและหาทางแก้ปัญหา ทั้งนี้ เพราะความเป็นจริงจะบีบบังคับให้มีทางออก 2 ทาง คือ

1. ชะลอการเกษียณอายุทำให้คนวัยสูงอายุต้องทำงานนานขึ้นอีกหลายปี และ/หรือ

2. ลดผลประโยชน์ด้านประกันสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ของผู้สูงอายุลง

แต่ทางออกดังกล่าวย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของผู้สูงอายุ ซึ่งมีอำนาจทางการเมืองสูง เพราะสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มทางการเมืองที่มีอานุภาพ (ในสหรัฐนั้นนักการเมืองกลัวสมาคมผู้สูงอายุและสมาคมแพทย์พอกับสหภาพแรงงาน)

Economist เริ่มต้นว่ากองทุนบำนาญถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกโดยนายกรัฐมนตรี Bismarck แห่งประเทศเยอรมนีในปี 1889 ซึ่งเป็นช่วงที่ Bismarck สามารถรวมเยอรมนีเป็นประเทศเกิดใหม่ ขณะนั้นรัฐบาลเยอรมนีจ่ายเงินบำนาญให้กับคนทำงานตั้งแต่อายุ 70 ปีขึ้นไป ในขณะที่ชาว Prussia (ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของเยอรมนี) มีอายุยืนเฉลี่ยเพียง 45 ปี จึงหมายความว่ากองทุนบำนาญมีภาระทางการเงินน้อยมาก เพราะมีน้อยคนที่จะอายุยืนเกิน 70 ปี ต่อมาในปี 1908 อังกฤษก็ได้จัดตั้งกองทุนบำนาญขึ้นในลักษณะเดียวกัน คือ จ่าย 1 ปอนด์ต่อเดือนให้กับผู้ชายที่อายุเกิน 70 ปี ในขณะที่ประชาชนอังกฤษมีอายุยืนเฉลี่ย 50 ปี แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่จัดตั้งกองทุนสวัสดิการให้กับคนสหรัฐตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปในขณะที่ประชาชนสหรัฐมีอายุยืนเฉลี่ย 62 ปี

แต่ในขณะนี้ ประชาชนโดยเฉลี่ยอายุยืนขึ้นมาก คือ ประมาณ 75-80 ปี ในสหรัฐคนอเมริกันเกษียณอายุเฉลี่ยที่อายุ 64 ปีและมีอายุยืนถึง 80 ปี ดังนั้น จึงจะมีชีวิตอยู่เพื่อใช้เงินสวัสดิการสังคมและเงินช่วยเหลือด้านสาธารณสุขยาวนานถึง 16 ปีต่อคน ประเทศยุโรปก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาระทางการเงินของภาครัฐในการจ่ายบำนาญให้กับประชาชนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) จึงสูงถึง 7% ของจีดีพี ในขณะนี้ เมื่อเทียบกับ 0.2% ขอจีดีพีสำหรับสหรัฐเมื่อ ปี 1935 ทั้งนี้ Economist ประเมินว่าภาระดังกล่าวสำหรับบางประเทศจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 14% ของจีดีพีตั้งแต่ปี 2050 (อีก 40 ปี) เป็นต้นไป ทั้งนี้ ไม่รวมภาระด้านการรักษาพยาบาลและภาระของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน กล่าวคือ หากไม่มีการแก้ไขอะไรเลยในขณะนี้รัฐบาลก็จะเผชิญกับปัญหาภาระของเงินบำนาญและการรักษาพยาบาลที่มีสัดส่วนสูงมากเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จึงจะเป็นภาระอันใหญ่หลวงสำหรับชนรุ่นหลังที่รัฐบาลต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้น

Economist สรุปว่ารัฐบาลควรเตรียมตัวประชาชนให้ยอมรับสภาวะความเป็นจริงในอนาคตว่าประชาชนจะต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเมื่อ 100 ปีก่อนหน้า คือ การทำงานต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 70 ปีหรือมากกว่านั้น เพราะวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีได้ทำให้คนอายุยืนมากขึ้น 2-3 ปี ในทุกๆ 10 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้ว่าในปลายศตวรรษนี้การมีอายุยืนถึง 100 ปี อาจเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น การเกษียณอายุจึงอาจต้องปรับเพิ่มตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ทั้งนี้ ปัญหาคนสูงอายุนั้นยังมีปัจจัยอีก 2 ปัจจัยที่ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้นไปอีก คือ

1. สตรีในประเทศพัฒนาแล้วในปัจจุบันไม่ยอมมีลูกมาก ทำให้มีคนทำงานในอนาคตน้อยลงกว่าสมัยก่อนมาก เช่นในปี 1970 ผู้หญิงมีลูกเฉลี่ย 4.3 คน แต่ในขณะนี้ ลดลงเหลือเพียง 2.6 คน และในประเทศพัฒนาแล้วลดลงเหลือ 1.6 คน

2. การที่กลุ่มประชากรโลกที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (กลุ่ม baby boom ซึ่งเกิดระหว่างปี 1947-1962) กำลังเข้าวัยเกษียณอายุและกำลังจะเกษียณอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนกระทั่งปี 2050

ดังนั้น สัดส่วนของผู้สูงอายุต่อคนทำงานจึงจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย เช่นในปี 1950 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีคนอายุ 20-64 ปี จำนวน 7 คนต่อคนอายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้น 1 คน กล่าวคือ 7 คนทำงานต่อ 1 คนสูงอายุ แต่ปัจจุบันสัดส่วนนี้ลดลงเหลือ 4 : 1 และจะลดลงเป็น 2 : 1 ในปี 2050 ดังนั้น โครงสร้างกองทุนบำนาญของประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ซึ่งลักษณะ “จ่ายไปใช้ไป” (pay-as-you-go) (ซึ่งทำได้ง่ายในต้นศตวรรษที่แล้ว) กำลังจะสร้างปัญหาอย่างมากในอนาคต ทั้งนี้เพราะปัจจุบันจากประชากรโลกทั้งสิ้น 6,900 ล้านคนนั้นมีเพียง 11% ที่อายุเกิน 60 ปี (759 ล้านคน) แต่สัดส่วนคนอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นเป็น 22% ในปี 2050 ที่คาดการณ์ว่าโลกจะมีประชากร 9,000 ล้านคน หรือจะมีผู้สูงอายุมากถึง 2,000 ล้านคน ทั้งนี้ แนวโน้มที่กล่าวข้างต้นนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วเว้นแต่จะมีสงครามหรือโรคภัยที่ทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก เพราะคนสูงอายุ 2,000 ล้านคน ที่กล่าวถึงข้างต้นได้เกิดมามีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้แล้ว

ตัวเลขที่ไอเอ็มเอฟประเมินในเชิงของงบประมาณที่จะต้องนำมาใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วจนถึงปี 2050 เป็นตัวเลขที่สูงจนไม่น่าเชื่อ เช่นสำหรับประเทศสหรัฐนั้นประมาณ 5 เท่าของจีดีพี (ปัจจุบันจีดีพีเท่ากับ 13 ล้านล้านดอลลาร์) และประมาณ 3 เท่าของจีดีพีสำหรับประเทศอังกฤษ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่มีภาระต่ำที่สุด คือ อิตาลีและญี่ปุ่น (ในกรณีของญี่ปุ่นก็เพราะว่าได้รับภาระมากมานานหลายปีก่อนหน้าแล้ว) แต่ก็ยังคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 2 เท่าของจีดีพี อย่างไรก็ดี ในยุโรปนั้นประชาชนกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วในประเทศเยอรมนี อิตาลีและสเปน (เพราะมีลูกลดลงมาก) แต่ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษและกลุ่มนอรดิคนั้นครอบครัวยังมีลูกลดลงไม่มาก เช่นเดียวกับสหรัฐซึ่งมีการเสริมประชากรโดยการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศอีกด้วย

แต่อย่าเข้าใจว่าปัญหาผู้สูงอายุเป็นปัญหาของประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศตะวันตกเท่านั้น เพราะประชากรของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีนก็กำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็ว ในกรณีของจีนนั้นได้มีนโยบายควบคุมจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่องมา 30 ปี ทำให้ประเมินได้ว่าประชากรของจีนจะถึงจุดสูงสุดประมาณ 1,460 ล้านคนในปี 2030 ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าจากจำนวนผู้สูงอายุเกือบ 2,000 ล้านคนในปี 2050 ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นเป็นผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วประมาณ 400 ล้านคน และเป็นผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาเกือบ 1,600 ล้านคนครับ

http://newsroom.bangkokbiznews.com/comment.php?id=7061&user=supavut

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.