บทเรียนการลงทุน (1 – 2) : มนตรี นิพิฐวิทยา

มีทั้งหมด 4 ตอนนะครับ แต่ลงทีละ 2 ตอน จะได้ไม่ยาวเกินไปครับ
####
มีนักลงทุนหลายท่านที่ต้องการประสบความสำเร็จจากการลงทุน
ต้องการพบอิสรภาพทางการเงิน ต้องการสร้างผลงานการลงทุนของตนเอง
แต่ก็มีน้อยคนที่ยังพยายามทำเรื่องดังกล่าวที่ว่านี้อยู่
ผมเองเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องการทำสิ่งเหล่านั้นให้เสร็จสิ้น ก่อนที่ผมจะจากโลกนี้ไป
ความพยายามของผมยังไม่เสร็จสิ้น ผมเองยังมีความผิดพลาดในการลงทุนอยู่อีกมาก
ในบางครั้ง บางโอกาส ผมก็ยังแอบไปเก็งกำไรในสิ่งที่ผมไม่รู้ไม่เข้าใจ
ผมยังมีความโลภ ความกล้า ความกลัว ในปริมาณที่สูงอยู่มาก
ผมเองพยายามควบคุมและจำกัดสิ่งต่างๆ
ที่จะมาบั่นทอนเวลาและโอกาสในการประสบความสำเร็จอย่างที่ผมตั้งเป้าหมายเอาไว้ให้มากที่สุด
สิ่งที่ผมมักจะทำอยู่บ่อยๆ คือ
การนำเอาข้อคิดของวีรบุรุษการลงทุนที่ผมพยายามยึดเอาไว้เป็นแบบอย่างขึ้น มาอ่านทบทวนอยู่เสมอ
และพยายามดูว่าเราเดินออกนอกลู่นอกทางไปตรงไหน เมื่อพบแล้วเราต้องรีบแก้ไข ปรับปรุงในทันที
เพื่อมิให้เราเดินหลงทางไปไกลนัก ซึ่งจะทำให้เราเสียเวลาและทรัพยากรที่มีค่าไปโดยเปล่าประโยชน์
ผมเองชอบแนวคิดของ Warren Buffett เป็นอย่างมาก
เพราะเมื่อพิจารณาแล้วมันเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว
สำหรับผมแล้ว ตำราการลงทุนที่ยอดเยี่ยมมักจะมาจากปากของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
การพูดอย่างน่าหมั่นไส้ตรงไปตรงมานั้น มักจะไม่ค่อยเข้าหูคนฟังคนอ่านเท่าไรนัก
อาจพาให้เรานึกหมั่นไส้แล้วละเลยเนื้อหา และประเด็นที่น่าคิด น่าสนใจ ไปอย่างน่าเสียดาย
ในโอกาสนี้ผมอยากจะรวบรวมข้อคิดดีๆ และความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับข้อคิดของ Warren Buffett
ซึ่งผมได้อ่าน ได้ศึกษา และลองนำมาปฏิบัติ มาคุยกับคุณๆกันครับ
ปรัชญาการลงทุนข้อแรก
และเป็นข้อที่นักลงทุนทั้งหลายต้องจดจำให้ขึ้นใจก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้งคือ
กฎข้อที่ 1 อย่ายอมขาดทุน
กฎข้อที่2 อย่าลืมกฎข้อที่ 1
คนฟังทีแรกก็บอกว่ามันทำยาก เราจะไม่พลาดบ้างเลยหรือ
แต่ถ้าอ่านกันให้ดีๆ เขาบอกว่า อย่ายอมขาดทุน ไม่ได้บอกว่าเราจะขาดทุนหรือพลาดบ้างไม่ได้ 
ลองนึกว่าชีวิตนี้เราสามารถลงทุนได้เพียงยี่สิบครั้ง หากเราตัดสินใจลงทุนผิดพลาดบ่อยๆ 
โอกาสของเราจะลดลงไปเรื่อยๆ และอาจหมดลงไปได้ 
ผมเห็นมาหลายคนแล้วที่ปล่อยให้โอกาสหมดลงไปอย่างน่าเสียดาย
บางครั้ง บางเวลา เรามีเงินอยู่ในกระเป๋าน้อยเต็มที่
การที่เราจะใช้สอยเงินจำนวนนั้นเราต้องคิดมากหน่อย ไม่ใช้สุรุ่ยสุร่าย 
การลงทุนก็เช่นเดียวกัน 
หากคุณพลาด คุณอาจไม่เสียเงินทั้งหมดของคุณไป แต่มันทำให้คุณเสียเวลา 
เอามันกลับคืนมาและทำมันให้งอกเงยต่อไป
Warren กล่าวเอาไว้ว่า ‘เมื่อใดที่คุณมีสภาพจิตใจที่เหมาะสม ประกอบกับสติปัญญาที่ดี 
เมื่อนั้นแหละ คุณจะประพฤติตัวอย่างมีเหตุผล’
การลงทุนนั้นไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน ไม่ต้องการการคำนวณชั้นสูงอย่างที่เรียนกันในมหาวิทยาลัย 
หุ้นคือส่วนหนึ่งของธุรกิจ ตลาดหุ้นซึ่งเปลี่ยนแปลงขึ้นลง ไม่ใช่ศัตรูแต่เป็นมิตรกับเรา 
เพียงแต่เราไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความโง่เขลานั้น แต่เราหาโอกาสทำกำไรจากสิ่งนั้นต่างหาก
สิ่งที่จะทำให้เราปลอดภัยได้นั้นคือ ‘ส่วนต่างความปลอดภัย หรือ Margin of Safety’ 
จำคำๆนี้ไว้ให้ดีครับสำคัญมาก
ในเรื่องของการซื้อขายหุ้น เพื่อเอาชนะการลดลงของเงินหรือ
การเอาชนะอัตราเงินเฟ้อ หรือแม้แต่การเอาชนะตลาดนั้น
Warren กล่าวไว้ว่า ‘หากคุณคิดว่า คุณสามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อได้ด้วยการวิ่งเข้าวิ่งออกตลาดหุ้น 
ผมอยากจะเป็นโบรกเกอร์ของคุณ แต่ผมไม่ขอยอมเป็นหุ้นส่วนของคุณแน่’ 
เรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างมาก
หากลองคิดย้อนหลังดูว่า ที่ผ่านมาคุณจ่ายค่านายหน้าซื้อขายไปเป็นจำนวนเท่าไร
คุณจะตกใจว่าทำไมมันมากนัก (สำหรับการซื้อขายบ่อยๆ)
และสำหรับการลงทุนยาวๆแล้วน่าตกใจเช่นกัน เพราะทำไมมันน้อยนัก
‘ผมคงต้องไปถือกะลาขอทาน ถ้าหากตลาดมีประสิทธิภาพตลอดเวลา’ คำกล่าวนี้น่าสนใจมาก
Warren กำลังจะบอกว่า เขาใช้ประโยชน์จากการที่ตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา 
โดยเฉพาะตลาดที่มีผู้เล่นส่วนใหญ่ขาดเหตุผลในการลงทุน
บ้านเรา ตลาดหุ้นเป็นตลาดเกิดใหม่และมีมูลค่าตลาดรวมน้อยมาก มีบริษัทเล็กบริษัทน้อยมากมาย
กลุ่มคนที่เห็นโอกาสทำกำไรจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดก็มีไม่น้อย
และในการสร้างภาพลวงตาให้แก่ผู้เล่นรายเล็กรายน้อย
ซึ่งรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะทำได้ง่ายและใช้เงินจำนวนไม่มาก
ที่ผ่านมาเราได้เห็นปรากฏการณ์ทำนองนี้บ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็สร้างความสูญเสียให้แก่รายย่อยไม่ใช่น้อย 
แต่ปรากฏการเช่นนี้ก็ยังคงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพียงแต่ต่างโอกาส ต่างเวลาและต่างหุ้นกันไป
ตามที่นักวิชาการด้านการลงทุนได้ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า
ตลาดที่มีประสิทธิภาพนั้น นักลงทุนทุกคนเป็นนักลงทุนที่มีเหตุผลในการลงทุน
การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน
ดังนั้น ราคาหุ้นจะสะท้อนสาระสำคัญจนหมดสิ้น และไม่มีนักลงทุนคนใดเอาชนะตลาดได้
ดังนั้น การวิเคราะห์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านพื้นฐาน และเทคนิคจะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนควรลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวตามตลาด หรือแปลง่ายๆก็คือ
คุณไม่ต้องไปวิเคราะห์อะไรให้วุ่นวายหรอก
เลือกหุ้นที่ประวัติการเคลื่อนไหวของราคา(Beta)ไปตามตลาด ก็พอแล้ว
Warren เห็นว่า การทำเช่นนี้ไร้สาระสิ้นดี
เหมือนเป็นการหลับตาเดินไต่ราวลวด และลงทุนโดยไม่ใช้สมองคิดอะไรเลย
โดยสามัญสำนึกแล้ว การลงร่วมลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่าง
เราคงไม่หลับหูหลับตาเอาเงินให้ใครก็ได้ ไปทำอะไรก็ได้โดยไม่ดูอะไรเลยอย่างแน่นอน
แต่ทำไมการศึกษาด้านการลงทุนในมหาวิทยาลัย
จึงไม่ค่อยบรรจุหลักการลงทุนแบบเน้นมูลค่า ที่ค่อนข้างง่ายเข้าใจง่าย
แต่กลับไปเรียนไปสอนกันแต่เรื่องที่ยาก สลับซับซ้อน 
เขามักจะบอกว่า 
‘พวกนักวิชาการนั้นชอบทำแต่เรื่องยากๆ เรื่องอะไรที่ง่ายไปเขาจะไม่ทำ เพราะจะไม่ได้แสดงภูมิปัญญา’
บทเรียนการลงทุนจากนักลงทุนระดับมหาเศรษฐีของโลกยังไม่หมดแค่นี้
ผมจะค่อยๆนำเสนอให้คุณๆได้อ่านกันอีกหลายตอนครับ งานนี้ต้องติดตามกัน
บทเรียนการลงทุน (1) 
มนตรี นิพิฐวิทยา
– กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 8 – 14 กรกฎาคม 2548 –
####
บทเรียนการลงทุน (2)
เหตุการณ์การกล่าวโทษเรื่องการตบแต่งบัญชี ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้
ก็สามารถจัดเป็นบทเรียนการลงทุนที่มีประโยชน์ได้เช่นกัน
และที่สำคัญบทเรียนเช่นนี้มีให้เห็นได้บ่อยๆ ระยะหลังๆนี้เห็นได้เกือบทุกสองถึงสามปี
รูปแบบไม่ได้เปลี่ยนไป แต่เพียงแค่เปลี่ยนบริษัทและ “ผู้เล่นหุ้น”
ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักเห็นการลงทุนในตลาดหุ้นเป็นการพนันชนิดหนึ่ง
เป็นการเสี่ยงโชคที่ค่อนข้างมีระดับสักหน่อย แต่ก็ยังเป็นการพนันอยู่ดี
ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การพนันนั้นเป็นเกมที่มีผู้ได้และผู้เสีย (Zero Sum Game)
คือเมื่อสุดท้ายแล้ว จะมีผู้ที่มีความสุขกับการได้ และมีผู้เป็นทุกข์เพราะสูญเสีย
เป็นการสูญเสียทรัพยากร และอาจสร้างผลกระทบต่อสังคม-ครอบครัวได้
กลับมาที่การลงทุนในหุ้นที่ไม่ใช่การเล่นหุ้น
การลงทุนในหุ้นคือ การร่วมลงทุนในกิจการที่เอาเงินทุนที่ได้จากนักลงทุน
ไปสร้างการผลิต การบริการ เกิดการจ้างงาน ไม่เกิดการสูญเสียทรัพยากร
ตรงกันข้ามกับการเล่นหุ้นที่เป็นการพนันล้วนๆ
การลงทุนที่เน้นไปที่กิจการนั้น เราไม่ได้มองอะไรในระยะสั้นๆ
เรามองศักยภาพในการทำกำไรของกิจการในระยะยาว
ถ้าผู้ลงทุนทุกคนลงทุนในกิจการที่ดีมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
กิจการมีกำไรสะสม มีเงินปันผล กิจการนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ผมไม่เห็นจะต้องมีใครเสียและมีใครได้ ผู้ลงทุนทุกคนจะได้เงินปันผล
และมูลค่าของกิจการที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะไปสะท้อนออกมาเป็นราคาหุ้นในที่สุด 
แต่มันไม่เร็วอย่างที่หลายๆคนชอบ แต่มันจะค่อยเป็นค่อยไป 
ผมไม่เคยเห็นว่ากิจการไหนมันจะมีมูลค่าพุ่งปรูดปราด
ภายในเวลาข้ามคืน สัปดาห์หรือแม้แต่ในรอบเดือน
หุ้นที่ราคาอยู่ๆก็วิ่งขึ้นแรงๆ ไม่ใช่ว่าจะเป็นหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าไปหมด 
ส่วนใหญ่ที่เห็นมักจะเป็นหุ้นที่มีการสร้างราคา โดยสร้างสถานการณ์
ไม่ว่าการพยายามสร้างภาพให้เห็นว่ากิจการนั้นกำลังจะไปได้ดี โดยการแต่งบัญชี
ปล่อยข่าวทั้งว่าจะมีรายใหญ่มาเล่น หรือการได้รับงานใหญ่ๆ
ภาพลวงตาทางด้านพื้นฐานของกิจการนั้น 
เราสามารถตรวจสอบได้ผ่านการตรวจสอบ งบการเงิน ประวัติผู้บริหาร อนาคตของธุรกิจ
ส่วนภาพลวงตาทางด้านราคานั้น ตรวจสอบยากมาก 
และมักจะใช้ได้ผล เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีความโลภ 
เห็นราคาวิ่งขึ้นทุกวันก็อดไม่ได้ หลายคนไม่ทันนึกว่าเวลามันลงมาจะเจ็บตัวได้แค่ไหน
บทเรียนการลงทุนครั้งที่แล้วคือ “อย่ายอมขาดทุน”
การได้กำไรจากการเล่นหุ้น ไม่สำคัญเท่ากับการขาดทุน
ได้กำไร 100% หนึ่งครั้ง ขาดทุน 50% ครั้งเดียว กำไรที่ได้มาก็หายหมด
เช่น ลงทุน 100 บาท ได้กำไร 100% ได้เป็น 200 บาท
เอา 200 บาท ลงทุนแล้วขาดทุน 50% ก็หายไป 100 บาท เหลือเท่าเดิม คือ 100บาท
เห็นหรือยังว่า ขาดทุนน้อยกว่าได้กำไรภาพต่างกันมาก
ฉะนั้น การ “อย่ายอมขาดทุน” จึงเป็นเรื่องสำคัญ
แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่ขาดทุน?
ถ้าการลงทุนคือการรวมเงินกันทำธุรกิจ เราก็จะต้องตรวจสอบหน่อยว่า
คนที่เรามอบหมายให้เขาเอาเงินเราไปใช้ดำเนินธุรกิจนั้น
น่าไว้ใจแค่ไหน กิจการนั้นมีอนาคตแค่ไหน 
จริงอยู่ เราไม่อาจเข้าใจธุรกิจได้หมด 
แต่เราก็สามารถทำความเข้าใจกับธุรกิจบางอย่างที่เราคุ้นเคย และเข้าใจได้ไม่ยาก 
ฐานะทางการเงินเป็นอย่างไร มั่นคงแค่ไหน การเติบโตของกำไรและเงินสดเป็นอย่างไร
สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องดูนานๆ ให้เห็นชัดๆ ให้มั่นใจก่อนแล้วจึงเอาเงินไปร่วมลงทุนกับเขา
ข้อมูลพื้นฐานสามารถค้นหาได้จาก Wed site ของตลาดหลักทรัพย์ และ ของ ก.ล.ต.รายงานประจำปี
และคุณสามารถสอบถามข้อมูลที่คุณสงสัยจากฝ่ายบริหารของบริษัทได้ ผมทำบ่อยๆ
ผมอ่านแบบ 56-1 หรืองบการเงินแล้วสงสัยอะไรเพิ่มเติมผมก็จะถาม
และบริษัทที่ผมเป็นผู้ถือหุ้น ก็จะให้คำตอบผมทุกครั้ง
ฉะนั้น คุณก็ทำได้ เพียงแต่ว่าจะทำกันหรือเปล่า หรือยังสมัครใจวัดดวงกันต่อไป
หลายคนที่วันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วง 10.00 น.- 16.00 น.
มักจะกระสับกระส่ายต้องการดูดัชนี ปริมาณการซื้อขายหรือราคาหุ้นอยู่ตลอดเวลา
ผมก็อยากจะแนะนำให้รู้จัก นายตลาด หรือ Mr. Market ครับ
นายตลาดหรือ Mr. Market ตัวละครที่เกรแฮมใช้เปรียบเทียบพฤติกรรมของตลาด
นายตลาดเป็นคนที่งุ่นง่านอยู่ตลอดเวลา
เขาจะมาหาคุณทุกวันที่ตลาดเปิดทำการ พร้อมกับเสนอให้คุณซื้อหรือขายหุ้นกับเขา
ไม่ว่าเขาจะมีข้อเสนอที่ไร้เหตุผลขนาดไหน หรือแม้ว่าคุณจะปฏิเสธข้อเสนอของเขาอยู่บ่อยๆ
นายตลาดคนเดิมนี้ก็จะกลับมาหาคุณอีกในวันทำการถัดไป พร้อมด้วยข้อเสนอใหม่ๆเสมอ
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า นายตลาดจะไม่โกรธคุณและหายหัวไปไหนเป็นอันขาด 
ไม่ว่าข้อเสนอของเขาจะทำให้คุณพอใจหรือทำให้คุณพลาดท่า เขาจะมาหาคุณทุกวันที่ตลาดเปิด 
ดังนั้น Warren บอกว่า จงให้เขาเป็นผู้รับใช้คุณ ไม่ใช่เป็นผู้นำทางคุณ
นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะยอมให้นายตลาดเป็นผู้นำทางอยู่เสมอ คุณว่าจริงไหม? 
ถ้าถามผม ผมก็ว่าผมเคยเดินตามนายตลาดมาหลายครั้งแล้ว แกพาผมไปถูกทางบ้างหลงทางบ้าง
แต่หลังๆที่แกมาหาผม ผมจะให้แกรอผมก่อนบ้าง บางที่ก็รอให้แกงุ่นง่านสุดๆ
และเสนอข้อเสนอที่ผมเห็นว่าผมได้เปรียบ ผมพบว่าได้ผลดีทีเดียวเลยครับ
มีหลายครั้งที่ผมถูกถามจากพรรคพวก และแม้แต่โดนถามตอนให้สัมภาษณ์ออกรายการทีวี ว่า
คิดว่าสภาพตลาดตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง และจะเป็นอย่างไร
ผมมักจะตอบได้ในข้อแรกว่ามันเป็นอะไรอยู่ เพราะก็เห็นๆอยู่ มันหมูมากที่จะตอบ
แต่คำถามหลังนี่ซิ ผมบอกว่าผมเองก็ไม่รู้ และไม่เชื่อว่าใครรู้จริง 
ถ้าผมรู้ผมคงไม่มาบอกใครหรอก เพราะผมจะได้รวยคนเดียว จริงไหม?
ผมได้แต่บอกว่า อย่าไปสนใจกับตลาดเลย มันไม่สำคัญอะไรมากเลย
ให้เราเอาเวลาจะคิดเรื่องสภาพตลาดว่าจะเป็นอย่างไร ไปให้ความสำคัญกับกิจการ ที่คุณสนใจดีกว่าครับ
ไปรู้และเข้าใจกิจการนั้นให้ลึกซึ้งดีกว่า ได้ประโยชน์กว่า แต่หลายคนว่าผมประสาท!!!
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณควรเอาใจใส่มากกว่าความเป็นไปของตลาดคือ คอยฟังเสียงเรียกของโอกาสทอง
ถึงแม้ว่าเราจะไม่สนใจต่อความเป็นไปของตลาด 
แต่สิ่งที่เรารู้ๆเห็นๆกันอยู่ ก็สามารถกระซิบเราได้ว่าโอกาสทองกำลังจะมาแล้วหรือยัง 
เช่น หลายคนพูดว่า หาหุ้นดีๆที่มูลค่าสูงกว่าราคาได้ยากจัง
แสดงว่า ขณะนั้นตลาดกำลังหรืออยู่ในช่วงที่สูงกว่าความเป็นจริงมาก
ในทางกลับกัน หากหลายคนพูดว่าของถูกเต็มตลาดเลย
แสดงว่า ขณะนั้นตลาดกำลังหรืออยู่ในช่วงที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
คุณๆลองเอากลับไปคิดกันเองว่า โอกาสทองอยู่ในช่วงไหน? ผมไม่บอกหรอก!!!
บทเรียนการลงทุน (2)
มนตรี นิพิฐวิทยา
Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.