‘บทบาท – บทเรียนธนาคารกลาง’ เมื่อโลกเปลี่ยนไป : ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ตอนต้นอาทิตย์ที่แล้ว ผมอยู่ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ไปบรรยายพิเศษให้กับโครงการฝึกอบรมของสถาบัน SEACEN ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและฝึกอบรมของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 2515 ถึงบัดนี้ก็ 39 ปีแล้ว และผู้บุกเบิกคนสำคัญคนหนึ่งของการจัดตั้งสถาบันนี้ก็คือ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

.

คราวนี้ผมมาบรรยายเรื่อง บทบาทธนาคารกลางในการรักษาเสถียรภาพราคา และเสถียรภาพการเงิน วันนี้ก็เลยอยากเขียนเรื่องนี้ โดยมองเป็นภาพย้อนจากอดีต ซึ่งก็เหมาะกับบรรยากาศเมืองฮานอยที่ในหลายลักษณะ ทำให้นึกถึงกรุงเทพสมัยก่อน

.
.
สมัยที่ ดร. ป๋วย เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คือยุค 60 ช่วงประมาณปี 2502 – 2514 หน้าที่ของธนาคารกลางโดยทั่วไปในสมัยนั้นก็คือ ดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวและมีเสถียรภาพ ซึ่งในกรณีของเราก็คือ การควบคุมตัวแปรราคาที่สำคัญของเศรษฐกิจ คือ อัตราแลกเปลี่ยนที่จะผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ที่จะมีเพดานสูงสุดกำกับอยู่
.
การดำเนินนโยบายการเงินในยุคนั้นก็คือ ดูแลปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ ให้สอดคล้องกับ เป้าการขยายตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ ภายใต้ค่าของอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้กำหนดไว้ ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหา อาการก็จะแสดงออกมาในรูปของการขาดดุลการค้าที่สูง ซึ่งก็จะกระทบฐานะทุนสำรองทางการ การแก้ไขก็คือ การประหยัด ลดการใช้จ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยตัดทอนงบประมาณรายจ่าย และปรับขึ้นเพดานอัตราดอกเบี้ย แต่ถ้าไม่พอ ก็ต้องเปลี่ยนค่าอัตราแลกเปลี่ยน คือลดค่าเงิน เพื่อกระตุ้นการส่งออก นี่คือโลกของธนาคารกลางในยุคนั้น
.
พอมาในยุค 70 การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางก็ถูกท้าทายด้วยปัญหาใหม่ คือ ปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก เนื่องจากประเทศกลุ่มโอเปคเริ่มจำกัดปริมาณการผลิต ราคาน้ำมันที่สูงทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นพร้อมกัน แต่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ช่วงนั้น เลือกที่จะแก้ไขปัญหาโดยให้ความสำคัญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ จึงได้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่ออุ้มเศรษฐกิจ อันนี้กลายเป็นบทเรียนราคาแพง และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง
.
เพราะการลดอัตราดอกเบี้ย นอกจากจะไม่สามารถหยุดการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้แล้ว กลับทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวมากจนเป็นปัญหาใหญ่ จนผู้ว่าธนาคารกลางสหรัฐคือ นายพอลล์ โวคเกอร์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในช่วงปี 2522-2530 ต้องแสดงบทบาทนำ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ก็มีผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาก
.
บทเรียนดังกล่าวทำให้จากนั้น เสถียรภาพราคา จึงถือเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง เพราะเห็นชัดเจนแล้วว่า หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นอันตรายมากต่อเศรษฐกิจ สอง ธนาคารกลางมีเครื่องมือทั้ง อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และการควบคุมปริมาณเงินที่จะใช้ดูแลอัตราเงินเฟ้อได้
.
และในการทำหน้าที่ ธนาคารกลาง จะต้องมีความเป็นอิสระ คือ ปลอดจากฝ่ายการเมืองเพื่อให้สามารถดูแลเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฝ่ายการเมืองมองว่าเศรษฐกิจโตดีต่อการหาเสียง ดังนั้นความเป็นอิสระจากการเมืองจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งต่อมาในยุคปี 80 เสถียรภาพราคา และความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จึงกลายเป็นบทสวดสำคัญของนายธนาคารกลางทั่วโลก
.
การให้ความสำคัญกับ เสถียรภาพราคา ก็ให้ผลที่ดีตามมา อัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมลดต่ำลง และความผันผวนในวัฏจักรธุรกิจก็ลดลง โดยเฉพาะตั้งแต่กลางยุค 80 เป็นต้นมา จนมีการเปรียบว่า เป็นยุคทองของธนาคารกลางที่สามารถคุมเงินเฟ้อได้ และลดความผันผวนในวัฏจักรธุรกิจลงได้ ความระส่ำระสายหรือวิกฤติเศรษฐกิจถ้าจะมีก็เป็นเรื่องของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนว่าจะได้บรรลุแล้วในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ จากการผสมผสานการรักษาเสถียรภาพราคาโดยธนาคารกลาง และการปล่อยวางให้กลไกตลาดเป็นตัวนำในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ จากความเชื่อที่ว่ากลไกตลาดจะทำหน้าที่ได้ดีและมีประสิทธิภาพกว่า
.
แต่โลกนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอน ภายใต้เสถียรภาพราคาที่ถือว่าเป็นความสำเร็จ กลไกตลาดก็นำมาสู่ปัญหาใหม่ คือ การสะสมความเสี่ยง ต่อเสถียรภาพด้านการเงิน จากการเปิดเสรีของธุรกิจการเงิน การเติบโตของตราสารอนุพันธ์ และการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่นำไปสู่การแสวงหากำไรที่ขาดการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ ขณะที่การกำกับดูแลของภาครัฐก็ปล่อยวางมากขึ้นตามปรัชญาของกลไกตลาดเสรี สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจปี 2550-2552 ที่สั่นคลอนระบบการเงินโลกจนถึงปัจจุบันนี้
.
ณ จุดนี้ พูดได้ว่าธนาคารกลางในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ปรับตัวไม่ทันกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือรูปแบบดั้งเดิมของวิกฤติเศรษฐกิจ นั้นคือ การก่อหนี้ การกู้ยืม การใช้จ่ายเกินตัว และภาวะฟองสบู่ ถ้าจะถามนายธนาคารกลางทั่วโลกว่าอะไรเป็นบทเรียนสำคัญจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกล่าสุด ผมคิดว่าคำตอบที่จะได้ก็คงไม่หนีบทเรียนสามบทนี้
.
บทเรียนที่หนึ่ง วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ทุกประเทศไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็ก หรือประเทศใหญ่ ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศที่กำลังพัฒนา และไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบบการเงินที่ทันสมัย หรือล้าหลัง ถ้าเงื่อนไขของการเกิดวิกฤติมี วิกฤติเศรษฐกิจก็จะเกิด
.
บทเรียนที่สอง กลไกตลาดจะต้องมีการสอดส่องดูแล ความเชื่อในกลไกตลาดแบบสุดโต่ง จะกลายเป็นความประมาท เพราะตลาดสามารถพลาดได้ ในการประเมินความเสี่ยง และในการจัดสรรทรัพยากรการเงิน เพราะตลาดในที่สุดก็คือการตัดสินใจของปัจเจกบุคคลที่มีทั้งความดีและความโลภปนกัน
.
บทเรียนที่สาม เสถียรภาพราคาอย่างเดียว ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้ คือถึงแม้ธนาคารกลางจะประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ รักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำและมีเสถียรภาพ แต่วิกฤติเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเงื่อนไขของการเกิดวิกฤติมี
.
ดังนั้น จากยุค 60 เมื่อสี่สิบปีก่อนถึงปัจจุบัน บทบาทและการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ก็เปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ตามพัฒนาการของโลกและตลาดการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จะทำให้การทำหน้าที่ของธนาคารกลางเปลี่ยนไป โดยกำลังปรับไปสู่การดูแลเสถียรภาพราคา ควบคู่ไปกับดูแลเสถียรภาพการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การทำหน้าที่ทั้งสองด้านนี้ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากขึ้นว่า เป็นหน้าที่ที่ควรทำของธนาคารกลาง
.
ในกรณีของเรา ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้ปรับตัวและให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ในทั้งสองด้านนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 โดยใช้นโยบายการเงินที่มีอัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย เป็นเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพราคา ควบคู่กับใช้การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ทั้งในระดับจุลภาค และในระดับระบบ เป็นเครื่องมือในการดูแลเสถียรภาพการเงิน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยอัตราเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจเราก็ต่ำและมีเสถียรภาพ และระบบการเงินก็มีเสถียรภาพ แม้ในช่วงที่สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกรุนแรงมากเมื่อสามปีก่อน
.
ไปฮานอยคราวนี้ ก็เลยนำประเด็นเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้นายธนาคารกลางรุ่นใหม่ของภูมิภาคฟัง ว่า เราก็ได้ทำหน้าที่ของเราในฐานะนายธนาคารกลางอย่างเต็มที่
.
วันนี้ขอแค่นี้ก่อน พบกันวันจันทร์หน้าครับ
.
บทบาทธนาคารกลาง เมื่อโลกเปลี่ยนไป
.
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
.
28 มีนาคม 2554
Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.