น้ำลายท่วมจอ : ชัยพล กฤตยาวาณิชย์ [Recommended]

บทความนี้ให้มุมมองและข้อคิดที่ดีมากครับ เหมาะกับสถานการณ์โดยรวมของประเทศไทย 
อ่านเสร็จแล้วชอบเลยเอามาลงต่อครับ
####
ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้จะจบลงเมื่อไหร่?
แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ Issue นี้กลายเป็น Talk of the Town 
มี “น้องน้ำ” เป็นฮีโร่อย่างไม่ตั้งใจ ข่าวทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ตีภาพบอกความจริง
จนไม่มีคนกรุงคนไหนที่จะไม่พูดถึง
แถมเป็นการพูดกันอย่างออกรส ชนทุกชั้นเข้ามามีส่วน ขุดคุ้ย ตีแผ่ เปิดเผย ยกย่องชมเชย
ในสารพัดรูปแบบที่จะทำกันได้ในขอบเขตเสรีภาพของตน
ใครทำไม่ดี ประเภทจงใจแอบอ้างของบริจาค สบช่องเอาเปรียบ ก็โดนประณามให้เห็นบนสังคมออนไลน์
ภาษาผมเรียก “กรรมติดจรวด” ทันตาเห็น
อดเห็นใจบางคนที่จากนี้ไปคงไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ชื่อเสียงป่นปี้
ความดีที่สั่งสมแทบล้มหาย จะกอบกู้ใหม่ ก็ต้องใช้เวลาสักระยะ
ส่วนใครทำดี ก็ได้รับการยกย่อง ส่งเสริม ขอแชร์กันไปเป็นทอดๆ เสียงโห่ร้องกึกก้อง
กระแสกด “Like” พุ่งกระฉูด บางคนก็กลายเป็นวีรบุรุษ ดังเป็นพลุแตกชั่วข้ามคืน
ผมต้องขอโทษด้วยครับที่อาจจะใช้คำไม่สุภาพไปบ้าง เพราะสิ่งที่ผมรู้สึกและจับตามาตลอดก็คือวิกฤติครั้งนี้
ผมเห็นสงครามน้ำลาย ไม่แพ้น้ำท่วมเลย
ง่ายที่สุด ตั้งแต่การทำงานของภาครัฐ ที่ส่วนตัว ผมก็ไม่ได้ชอบ หรือปลื้มอะไรเป็นพิเศษ จากสิ่งที่ปรากฏ
หาใช่เพราะต้องการเกาะกระแสรังเกียจใคร
แต่บางครั้ง ผมก็ไม่เข้าใจว่าในชีวิตคนหนึ่งคน หรือหน่วยงานๆหนึ่ง จะไม่มีอะไรดีจริงหรือ?
ทำไมคนเราจึงโดนด่าซ้ำๆซากๆ
และเป็นไปได้หรือไม่ที่ความตั้งใจช่วยเหลือแก้ไข จะไม่เข้าท่าไปซะทุกอย่าง?
หรือเพราะคนไทยส่วนใหญ่มักจะมีธงตั้ง และตัดสินคนไว้ในใจอยู่ก่อนแล้ว
ต่อให้เร่งทำดีแค่ไหน ก็ถูกมองเป็นการสร้างภาพ หรือมีเบื้องหลังซ่อนเร้น
ยังไงซะชาตินี้ ก็ไม่มีทางได้ใจจากเรา
หนำซ้ำ ยิ่งถ้าได้ยิน ได้ฟังข้อมูลไหนๆ ที่เผอิญไปตรงกับกรอบความคิดที่ตัวเองมี
ทั้งที่ความจริง จะถูกหรือผิดก็ไม่รู้ 
เราก็มักจะพาลเชื่อในเรื่องนั้นๆ แถมยังสนับสนุนจนออกนอกหน้า และทุ่มสุดตัวไปก่อน
ในเรื่องนี้ ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่หลายๆ ท่านเปรยว่า..
นี่อาจเป็นความอ่อนแอของสังคม ที่ละเลยการตรวจสอบ 
เราใช้การสื่อสารการฟัง และการพูดมากเกินไป 
จนบางทีก็เบียดบังการวิเคราะห์ หาเหตุผล และชั่งน้ำหนักประกอบ
หากโชคไม่ดี สิ่งที่ผมพูดไปเกิดในองค์กรไหนก็ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าข่ายที่ว่า
ผมเองก็อดเห็นใจต่อไม่ได้ และมองไม่ออกว่าชะตากรรมองค์กรจะเป็นยังไง จะออกหัวหรือก้อยดี?
พูดอย่างไม่อาย ยอมรับครับว่าบ่อยครั้งผมเองก็พลั้งเผลอ
เป็นอย่างที่พูด ใช้ Emotional ตัดสิน หรือพาลไม่เห็นด้วยกับคนที่เราไม่ชอบ 
เรียกว่าแค่อ้าปากพูดเราก็ปฏิเสธแล้ว
แต่เมื่อสติมา เราก็อดเสียใจ และเกลียดตัวเองต่อ
หลังๆก็ต้องคอยโปรแกรมในสมอง หมั่นเตือนตนเข้าไว้
พยายามใช้การวิเคราะห์แบบแยกส่วน โดยมอง “ส่วนรวม” ให้สำคัญกว่า “ส่วนตัว”
แม้เราไม่ชอบเขา ก็ไม่ได้แปลว่า ไอเดีย หรือสิ่งที่เขาพูด เขาทำจะไม่ได้เรื่องไปเสียหมด
ล่าสุด ผมเห็น EM Ball ที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องได้ ก็กลายเป็นหัวข้อที่ผู้คนมานั่งถกเถียงจนเกือบแตกแยก
ทั้งๆที่ผมเข้าใจว่า คนที่เห็นด้วย กับไม่เห็นด้วย ก็ล้วนมีเจตนาดีทั้งคู่
และไม่มีใครรักกรุงเทพฯ น้อยไปกว่าใคร
มองในแง่ดี ยิ่งมีคนเห็นต่าง ก็เท่ากับมีสปอตไลท์มาช่วยส่องให้สังคมสว่าง
ใครจะทำอะไรไม่ดี จะได้ไม่กล้า ธรรมาภิบาลก็มีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น
แต่ในเมื่อการพูดการจา การติติง เป็นเรื่อง Sensitive
เราเองก็ต้องเอาไว้เป็นอุทธาหรณ์ และระมัดระวังเหมือนกัน
อย่างในแผนกของผม เราได้ตั้งกติกาเล็กๆ เป็นกรอบให้ทุกคนรับทราบ และทำงานร่วมกันอย่างสันติ
โดยก่อนอื่น ผมกำชับให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการเปิดเวทีโต้เถียง
พร้อมๆกับเปิดประตูใจให้ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง
ด้วยเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ ทำให้ผลิตผลที่ได้ดีที่สุด
ขณะเดียวกัน ผมก็เคยถูกสอนมาว่า ใครก็ตามที่นำเสนอแผนงาน ย่อมต้องผ่านกระบวนการคิดมาแล้วชั้นหนึ่ง
และโดยธรรมชาติ เจ้าของไอเดียก็ต้องมีความภาคภูมิใจในงานของตัว
ดังนั้น จะดีมาก ถ้าเราพยายามเข้าให้ถึง Motive ที่ซ่อนในวิธีคิด
และหาข้อดี เพื่อชมเชยส่วนที่เราเห็นเข้าท่าเสียก่อน
จากนั้น ถ้าจะวิพากษ์ใคร ก็ต้องอยู่บนบรรทัดฐานของการติเพื่อก่อ
เป็นแบบ “Constructive Comment” ไม่ใช่ “Killing Comment”
ไม่แปลกครับ ที่บางครั้ง Comment ของเราก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า เราไม่เห็นด้วย
เพราะไอเดียที่ได้ฟัง ผลงานที่ได้เห็นยังไม่ค่อยเวิร์ค ไม่ค่อยเข้าท่า
ทั้งๆที่จริงแล้ว เราก็อาจลืมนึกในมุมกลับว่า 
ถ้าเราไปทำเอง เราเองก็อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่เวิร์คกว่าคืออะไร?
ผมเองจึงมีกฎเพิ่มเติมของผมว่า 
ถ้าคิดจะตำหนิใคร ต้องมั่นใจว่า เมื่อโดนถาม เราพร้อมแสดงเหตุผล
และมีไอเดียเป็นทางเลือกให้พิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้คนฟังเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของเรา
สำคัญที่สุด อย่าให้ใครพูดได้ว่า ทุกครั้งที่เราอ้าปาก ไม่เคยมีคำ “ชม”
เอาแต่ “ว่า” เป็นอย่างเดียว
ลองกลับไปอ่านกระทู้ที่เราเคยโพสต์ หรือเคยแอบกด “Like” ในใจดูนะครับ
วันนี้น้ำท่วมกายไม่ว่า เราได้ปล่อยให้น้ำลายท่วมจอ 
และเผลอไปทำร้ายใครเขา โดยไม่เจตนาหรือเปล่าครับ?
น้ำลายท่วมจอ
ชัยพล กฤตยาวาณิชย์
11 พฤศจิกายน 2554
Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.