ถึงเวลาทบทวน นโยบายเศรษฐกิจมหภาค : อัจนา ไวความดี

000b5dd0_medium

เมื่อเดือนก่อน ดิฉันได้รับเชิญจาก Brookings Institution และมหาวิทยาลัย Cornell ให้ไปวิจารณ์บทความของ Olivier Blanchard (หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF) ที่เขียนร่วมกับ Giovanni Dell’Ariccia และ Paolo Mauro เรื่อง “Rethinking Macroeconomic Policy”

ทำไมจึงต้องกลับมาคิดเรื่องการทำนโยบายเศรษฐกิจมหภาคกัน อีกสักที

เพราะวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้ น่าจะทำให้ผู้ที่ทำนโยบายเศรษฐกิจ และนักเศรษฐศาสตร์ ต้องกลับมาคิดถึงความผิดพลาดของตนเองที่มองไม่เห็นก่อนหน้านี้ ว่าจะเกิดวิกฤตการเงินโลกรุนแรง โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นศูนย์กลางของปัญหา คือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งๆที่ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกก็ส่ออาการมาก่อนตั้งนาน

ทำไมผู้ทำนโยบายและนักเศรษฐศาสตร์มหภาคส่วนใหญ่จึงมองไม่เห็นอันตรายที่จะเกิดขึ้นเอาเลย ไม่ว่าจะเป็นภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ การขยายตัวที่ร้อนแรงของสินเชื่อและเครื่องมืออนุพันธ์ทางการเงิน การก่อหนี้ในภาคครัวเรือน ยังไม่นับปัญหา Global Imbalance ที่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีมานานหลายปีแล้ว

สัญญาณเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ผู้ทำนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และนักเศรษฐศาสตร์ คาดเดาได้เลยหรือว่าจะเกิดวิกฤตการเงินขึ้น

วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ร่ำเรียนกันมาไม่สามารถใช้การได้เลยหรือ การวิจัยและวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่มีมาอย่าง ต่อเนื่องหลายทศวรรษใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาไม่ได้เลยหรือ แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคทั้งหลายหาประโยชน์ไม่ได้หรืออย่างไรในการทำนายวิกฤต

นักเศรษฐศาสตร์และผู้ทำนโยบายเศรษฐกิจ อาทิ ธนาคารกลางพลาดตรงไหน

เริ่มที่นโยบายการเงิน หากธนาคารกลางคิดแต่เพียงว่า หน้าที่หลักของตน คือ การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ และดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวตามศักยภาพนั้น วิกฤตครั้งนี้ก็ชี้ชัดว่าอาจจะไม่ใช่เสียแล้ว

ค่าที่วิกฤตเกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดี เงินเฟ้อต่ำ นั่นหมายความว่า ที่ผ่านมาธนาคารกลางทั้งหลายในโลก ได้ทำหน้าที่ของตนในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจได้ดีระดับหนึ่ง และพากันหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งที่เราเรียกว่า “Great Moderation” คือ สามารถลดความผันผวนของผลผลิตและเงินเฟ้อมาโดยตลอด ทำให้อาจจะคิดไปว่า เป็นเพราะการทำนโยบายการเงินที่ดีขึ้นของประเทศต่างๆ ใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ก่อนหน้าวิกฤตครั้งนี้ ความเชื่อมั่นของธนาคารกลางยังมีมากขึ้นไปอีก ตรงที่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น ตลาดหุ้นตกต่ำรุนแรงในปี 1987 ปัญหา LTCM ในปี 1998 และวิกฤตจาก dotcom เมื่อต้นทศวรรษก่อน ธนาคารกลางก็สามารถแก้ไขปัญหาและทำให้กลับมาเป็นปกติได้ไม่บอบช้ำมาก

จนกระทั่งมาเกิดวิกฤตครั้งนี้

เราจึงต้องกลับมาทบทวนตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ภารกิจของธนาคารกลางเลยทีเดียว

เพราะวิกฤตหนนี้ชี้ว่า แม้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อาทิ เงินเฟ้อต่ำ การว่างงานต่ำจะยังต้องเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารกลาง แต่คงไม่พอเสียแล้ว

การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ ไม่มีภาวะฟองสบู่ หรือไม่เกิดวิกฤต

ตรงกันข้าม หากธนาคารกลางทำหน้าที่หลักของตนสำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดีเงินเฟ้อต่ำ อาจจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดูดีมาก จนผู้บริโภค นักลงทุน สถาบันการเงินมองทุกอย่างดีเกินไป จนกล้าเสี่ยงกับสิ่งที่ดูดีเกินความเป็นจริง และเกิดภาวะฟองสบู่ ทำอะไรที่เสี่ยงมากจนเป็นต้นตอของวิกฤตการณ์ทางการเงิน

ต่อไปข้างหน้า หน้าที่หลักของธนาคารกลางคงไม่ได้มีเพียงแค่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ต้องดูแลไม่ให้ระบบเศรษฐกิจการเงินหมิ่นเหม่กับอันตรายที่มาจากความไม่ สมดุลต่างๆ จากภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ไปพร้อมๆ กัน

ทบทวนภารกิจของผู้ทำนโยบายไม่พอ ต้องทบทวนวิชาและแบบจำลองเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ใช้เป็นฐานในการทำนโยบายด้วย ว่ามีจุดอ่อนอยู่ที่ไหน

เอาไว้คราวหน้าค่ะ
——————–
บทความนี้ เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

อัจนา ไวความดี
ธนาคารแห่งประเทศไทย
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.