“ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร” จากวิศวกรสู่ ‘นักลงทุน’ ทางพลิกผันที่ไม่บังเอิญ

การจัดการด้านการเงินเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต เมื่อบุคคลมีรายได้ การจัดการด้านการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญที่ตามมา ทั้งจัดสรรเพื่อใช้จ่าย เก็บออม รวมถึงหาหนทางสร้างรายได้ให้งอกเงย ซึ่งการจัดสรรการเงินของแต่ละคนเป็นเสมือนภาพเล็กที่รวมกันส่งผลสู่สภาพเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นภาพใหญ่ มีสถาบันการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง การจัดการด้านการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อสังคมด้วย ตลาดหลักทรัพย์เป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงิน ที่ไม่มีใครปฏิเสธถึงความสำคัญ ในแง่ที่เป็นแหล่งหมุนเวียนเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ ที่สร้างผลตอบแทนกลับคืนให้แก่ผู้ลงทุนได้

“โอกาสเป็นของผู้ที่มองเห็น และเข้าไปไขว่คว้า” ดูจะเป็นสิ่งที่สรุปได้จากช่วงเวลาที่ผ่านมาของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนในปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์ในแวดวงการเงิน ที่สั่งสมมานานกว่าสิบปี แม้หน้าที่การงานเดิมก่อนเข้าสู่เส้นทางสายการเงินของ ดร.นิเวศน์ นั้น เป็นอาชีพที่ดูจะไม่ข้องเกี่ยวกันเมื่อพิจารณาอย่างผิวเผิน แต่สำหรับ ดร.นิเวศน์ แล้ว กลับมองว่า เป็นพื้นฐานที่ดีต่อองค์ความรู้ด้านธุรกิจ การเงิน และมีความใกล้เคียงกันมาก อาชีพนั้นคือ วิศวกร

ปฏิบัติงานวิศวกร อาชีพแรกในชีวิต อย่างขยันขันแข็ง

ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน(สิงหาคม 2547) ของ ดร.นิเวศน์ คือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารนโยบายและความเสี่ยง ธนาคาร นครหลวงไทย (Siam City Bank : SCIB) นับเป็นงานในสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารแห่งแรกของ ดร.นิเวศน์ หลังจากดำรงตำแหน่งผู้บริหารในสถาบันการเงินประเภทอื่นมาก่อน

ภายหลังสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาเครื่องกล จาก จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ดร.นิเวศน์ เริ่มงานเป็นวิศวกรในโรงงานน้ำตาลของ บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ผ่านไปสองปีจึงศึกษาต่อในหลักสูตร บริหารธุรกิจ (MBA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ตามคำชักชวนของเพื่อน ประกอบกับต้องการขยายโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น และเพื่อโอกาสก้าวหน้า ดร.นิเวศน์ ต้องการทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาเต็มที่ จึงขอลาออกจากงาน แต่ก็ถูกทัดทาน โดยบริษัทตกลงให้มาทำงานในเวลาที่ไม่มีเรียน

แม้จะเหนื่อยเป็นทวีคูณจากหน้าที่สองอย่าง และการเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี เป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ก็สามารถสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิตจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สาขาบริหารธุรกิจ ด้านการตลาด ได้ในเวลาสองปี

หลังจบการศึกษา ดร.นิเวศน์ ขอลาออกอีกครั้ง เพื่อทำงานด้านการตลาด เปลี่ยนโลกทัศน์ใหม่ให้ตนเอง บริษัทฯ จึงเสนอทั้งเงินเดือน และตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น และมอบงานบริหารให้บ้าง

“ตำแหน่งงานก้าวหน้าขึ้นเป็นหัวหน้าวิศวกร ดูแลด้านวิชาการเกือบหมด แต่คิดดูแล้วถ้าทำไปเรื่อยๆ ก็คงจะอยู่แค่นั้น มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก วันหนึ่งเพื่อนที่ไปศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ต่างประเทศมา บอกว่าผมน่าจะไปเรียนต่างประเทศนะ เพราะมีโอกาสที่เราจะไปเรียนได้ ก็สนใจมาก ตอนนั้นอยากเห็นโลกกว้าง รู้ภาษาเพิ่มขึ้น”

ดร.นิเวศน์ สอบขอรับทุน Research Assistant เพื่อศึกษาปริญญาเอกด้านการเงินที่ University of Mississippi ประเทศสหรัฐอเมริกาถึงสองครั้ง ครั้งแรกสอบไม่ผ่านทั้งที่เตรียมตัวมาดิบดี ครั้งที่ 2 ไม่ได้อ่านหนังสือเลยแต่ก็ปรากฏว่าสอบได้ ดร.นิเวศน์ จึงลาออกจากงาน นับเวลาได้ 7 ปี ของการเป็นวิศวกร

ก่อนเดินทางไปศึกษาปริญญาเอก ดร.นิเวศน์ ให้ภาพการเดินทางว่า เป็นการไปแบบตัวเปล่า ไปหางานทำข้างหน้า ไปเป็นผู้ช่วยวิจัย และอาจารย์ เพื่อหารายได้ ใช้เวลาประมาณ 4 ปีจึงสำเร็จปริญญาเอก บริหารธุรกิจสาขา การเงิน

เส้นทางที่หักเห

ดร.นิเวศน์ เริ่มต้นการทำงานด้านธุรกิจการเงิน ด้วยตำแหน่งผู้จัดการสำนักวางแผนและบริหารการเงิน ที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ IFCT องค์กรผู้ให้บริการด้านเงินกู้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสถาบันที่มีการจัดระบบภายในเป็นมาตรฐาน แบบแผนดี ได้รูปแบบจาก The World Bank ที่รวมของผู้มีความรู้ ความสามารถ ซึ่ง ดร.นิเวศน์ รับหน้าที่ในส่วนของการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ

ผ่านประสบการณ์ที่ IFCT อยู่ราว 7 ปี ดร.นิเวศน์ ก็เข้าทำงานในตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการ ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นวธนกิจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันควบรวมกิจการเข้ากับ BANKTHAI ครั้งนี้เป็นงานที่ท้าทายความสามารถและให้ประสบการณ์เพิ่มขึ้น

“มาทำที่นวธนกิจในปี พ.ศ. 2534 นี่คือเริ่มเข้าสู่ วงการธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว ตอนนั้นเรื่องธุรกิจหลักทรัพย์ เพิ่งเข้าสู่เมืองไทยมาไม่นาน เป็นอะไรที่ยังใหม่พอสมควร เงินทุนหลักทรัพย์ก็ค่อนข้างหวือหวา แข่งขันกันสูง ต่างจากตอนทำ IFCT นี่ให้สินเชื่อเสียส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นคง ส่วนนวธนกิจเป็นการระดมทุนฝากผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ ผมรับผิดชอบทางด้าน Investment Banking นำบริษัท เข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็ได้ประสบการณ์ไปอีกระดับหนึ่ง”

ประสบการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นของส่วนตัวยังได้เพิ่มขึ้นไปพร้อมกัน เริ่มจากขณะอยู่ที่ IFCT มีผู้เสนอขายหุ้นจอง (ไอพีโอ) ให้ ดร.นิเวศน์ ตอนนั้นหุ้นจองสร้างกำไรให้ภายในเวลาไม่นาน แม้ในปริมาณที่ไม่สูงนัก แต่ก็เพียงพอต่อการทำให้ ดร.นิเวศน์ รู้จักกับผลตอบแทนจากหุ้น เมื่อเข้าสู่องค์กรใหม่จึงเริ่มลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด ด้วยบัญชีที่เปิดเป็นของตัวเอง และเพิ่มการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ

“ช่วงปี พ.ศ. 2534 ผมได้สัมผัสกับหุ้นในภาวะที่ตลาดเฟื่องฟู ซึ่งเป็นภาพลวงๆเต็มไปหมด ราคาหุ้นขึ้นไปมหาศาล ทุกคนเล่นหุ้นเหมือนกับไม่ต้องสนใจว่า พื้นฐานของกิจการจะเป็นอย่างไร ตอนนั้นตลาดหุ้นมีแต่หุ้นเก็งกำไร เป็นหุ้นที่มีราคาเกินพื้นฐานไปทั้งนั้น ราคาสูงแต่พื้นฐานไม่ค่อยดี บางทีขายเป็นกระดาษ คือมีแต่โปรเจ็กต์มาเสนอ แต่ยังไม่ได้ทำ เพิ่งจะเขียนแบบเสร็จก็เอาหุ้นไปขายประชาชนในราคาสูง คนก็ซื้อกันใหญ่ ทั้งที่กิจการจะเป็นอย่างไรต่อไปยังไม่รู้เลย แต่ลักษณะแบบนี้ก็เกิดขึ้นตลอดเวลาในตลาดหุ้นทั่วโลก”

มองเห็นโอกาสในภาวะวิกฤติ

ดร.นิเวศน์ ทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์นวธนกิจได้ ราว 8 ปี ก็เปลี่ยนบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC (ปัจจุบันคือ DTAC) ผู้ให้บริการระบบสื่อสารไร้สายอันเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เป็นช่วงเดียวกับการมาถึงของเหตุการณ์และจุดหักเหสำคัญ ทั้งต่อตัว ดร.นิเวศน์ เอง และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม นั่นคือ วิกฤตเศรษฐกิจ ปี พ.ศ. 2540 ซึ่ง ดร.นิเวศน์ มองเห็นโอกาสในตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ไม่น่าจะหลงเหลืออะไรอีกต่อไปแล้ว

“ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจนี่ เป็นช่วงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก ตอนนั้นถ้าจำได้ ไฟแนนซ์ไม่มีเงินจะปล่อยสินเชื่อแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำอย่างรุนแรง องค์กรก็ค่อนข้างลำบาก ตอนนั้นก็มีเวลาเพราะ ไม่ค่อยมีงาน ผมได้ทบทวนชีวิต ทบทวนหลักการทำงาน อะไรต่างๆ สารพัด และเนื่องจากมีพื้นความรู้เรื่องหุ้นจากการศึกษา ระดับปริญญาเอก เคยเล่นหุ้นแบบเก็งกำไร และมีประสบการณ์ การพิจารณาให้สินเชื่อ จึงมีทั้งมุมมองผู้ประกอบการ และมุมมองแบบนักลงทุน ในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์ก็พบว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีกิจการดีๆอีกมาก เป็นโอกาสที่เราจะซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นในราคาต่ำ แต่เป็นกิจการที่ดีมีอนาคต

แนวคิดการลงทุนแบบ Value Investor

ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า หลักการลงทุนแบบพิจารณาพื้นฐานของแต่ละธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาด คือ “การลงทุนแบบเน้นคุณค่า” หรือ “Value Investor” นั่นไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะในต่างประเทศต่างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว

“วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดในไทยเมื่อเจ็ดปีก่อน เป็นแบบเดียวกับที่เกิดในสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 1929 กว่า 70 ปีที่แล้ว ตอนนั้นตลาดหุ้นตกลงไปเหลือ 10% เหมือนกัน เกิดอะไรขึ้นทราบหรือไม่ครับ ราคาหุ้นถูกมาก กิจการดีมาก ปันผลสูงมาก แล้ว เบน เกรแฮม อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ เขียนตำรา Value Investment ขึ้นมา พอเราได้อ่าน ก็เหมือนกับว่า นี่เป็นโอกาสของเรา แต่คนในประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้อ่าน หนังสืออื่นก็ไม่เคยมีบอก”

ก่อนเกิดวิกฤต ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยก็ไม่ต่างกับตลาดหุ้นที่อื่นๆในโลก ที่นักลงทุนนิยมการเก็งกำไร ไม่อิงหลักวิชาการ ต่อเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น นักลงทุนจึงหันกลับมายึดพื้นฐานว่า แท้จริงแล้วการลงทุนในหลักทรัพย์คืออะไรกันมากขึ้น

“การซื้อขายหุ้น คือการที่คุณจะเป็นเจ้าของกิจการในบางส่วน ถ้ากิจการมี 100 หุ้น คุณมีหนึ่งหุ้นคุณก็เป็นเจ้าของใน 1% ของธุรกิจ แต่เมื่อคุณคิดจะซื้อกิจการ ไม่ว่าคุณจะซื้อ 100% ซื้อ 1% หรือ 0.01% คุณก็คิดแบบเดียวกัน นั่นคือคุณต้องวิเคราะห์แบบธุรกิจ เขามีกำไรเท่าไร มีการจ่ายปันผลอย่างไรต่อปี ผู้บริหารเป็นอย่างไร กิจการทำสินค้าอะไร ขายดีหรือไม่ดี คู่แข่งเป็นอย่างไร”

หลักการดังกล่าวนี่เอง ที่ ดร.นิเวศน์ ใช้กับการพิจารณาเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และทำให้เห็นว่า มีหุ้นราคาถูกหลายตัว กล่าวคือ ราคาเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่เจ้าของกิจการได้ลงทุนไป เท่ากับการได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่สำเร็จ เป็นรูปเป็นร่างแล้ว โดยลงทุนเพียงครึ่งเดียวของต้นทุนจริง ดร.นิเวศน์ ลงทุนในหุ้นเหล่านี้ด้วยวิธี “มีเงินเท่าไหร่ซื้อหมด” ผลตอบแทนก็อยู่ในระดับดี แม้ว่าขณะนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะต่ำลงไปทุกวันก็ตาม

ขณะนั้นเป็นช่วงที่ ดร.นิเวศน์ เป็นที่ปรึกษา ทำให้มีเวลาค่อนข้างมาก จึงศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนแบบดังกล่าวเพิ่ม และยังคงลงทุนแบบนั้นต่อไป ในที่สุด “ตีแตก” งานเขียนที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์การลงทุนที่ “สุกงอม” ของท่านเองก็สำเร็จลง และเปรียบเสมือนตำราว่าด้วยการลงทุนแบบ Value Investment เล่มแรกของประเทศไทย

“เป็นการลงทุนที่เราเห็นแล้วว่าปลอดภัย ให้ผลตอบแทนใช้ได้ ตั้งแต่นั้นเลยทำมาตลอด เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกังวล บางคนบอกว่าลงทุนแล้วต้องติดตามหุ้น ต้องซื้อๆขายๆ แต่การลงทุนของผมเนี่ยซื้อแล้วเก็บยาวๆ ถือนานๆ ให้หุ้นค่อยปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ คอยรับปันผลแต่ละปี รับมาแล้วก็ไปลงทุนอีก ทบต้นไปเรื่อย”

การลงทุนแบบ Value Investment ที่ ดร.นิเวศน์ แนะนำคือ เลือกลงทุนในธุรกิจดีๆ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในราคาหุ้นที่ต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม ซื้อไว้ประมาณ 5-6 ตัว แล้วถือระยะยาว ช้าๆ แต่มั่นคง อาจจะปรับเปลี่ยนหุ้นปีละหนึ่งตัว หากเห็นว่าราคาหุ้นตัวนั้นปรับขึ้นไปสูงแล้ว ก็ขายเพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวใหม่ และพยายามติดตามในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ แต่แนวคิดที่ควรมีอยู่ตลอด คือแนวคิดว่า กำลังลงทุนทำธุรกิจ เพราะธุรกิจที่ดีย่อมเติบโตได้ด้วยตัวของมันเอง ไม่หวั่นไหวจากสิ่งรอบข้าง

“ประเภทของกิจการที่น่าลงทุน ตามหลัก Value คือ กิจการของสินค้าที่เป็นผู้นำในตลาด คนจำเป็นต้องซื้อสินค้านั้น อาจเป็นเพราะสินค้าดีมาก ยี่ห้อนี่เป็นที่ชื่นชอบมาก ติดตลาด หรือสินค้านี้เป็นเจ้าเดียวในตลาด คนอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งไม่ได้ รายละเอียดพวกนี้มีอีกมาก แต่หลักการรวมๆคือ ดูจากการตลาดของกิจการนั้น”

ชี้หนทางเป็นอิสระทางการเงิน

สำหรับหนังสือ “ตีแตก” ผลงานงานเขียนอันถ่ายทอดจากประสบการณ์ของ ดร.นิเวศน์ นั้น ยังคงติดอันดับหนังสือขายดีอยู่ในปัจจุบัน ส่วนผลงานเขียนอื่นๆ ได้แก่ “คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก” เรียบเรียงจาก “Think Big” หนังสือที่ ดร.นิเวศน์ เกิดความประทับใจในครั้งแรกที่ได้อ่าน

ดร.นิเวศน์ ยังแนะนำให้ผู้มีเงินเดือนเป็นรายรับหลัก ที่ีมีเงินพอเลี้ยงดูครอบครัว และเหลือจากการออมกับธนาคาร มาใช้ลงทุนแบบ Value Investment ซึ่งอาจนำไปสู่ “ความเป็นอิสระทางการเงิน” ถึงตรงนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพเดิม ของ ดร.นิเวศน์ ที่กำลังตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อาจจะรู้สึกถึงข้อได้เปรียบของตนเองอยู่บ้าง

“โดยเฉพาะวิศวกร ผมบอกเลยว่า เป็นผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น แต่พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า มีโอกาสที่สามารถทำให้เงินเก็บของคุณพอกพูนขึ้นมา หากคุณตั้งใจจริงๆ คุณมีโอกาสร่ำรวย การฝากเงินในธนาคารนั้นมีโอกาสร่ำรวยยาก ส่วนใหญ่พออยู่ได้ แต่อิสระทางการเงินก็ยากพอสมควร นี่จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่การเล่นหุ้นที่ซื้อมาขายไป เพราะส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็น ก็ไม่ได้กำไรมากนัก”

“วิศวกร ถ้าจะมาลงทุนแบบ Value Investor หนึ่ง คือต้องศึกษาเกี่ยวกับการเงินบ้าง ไม่ต้องกลัว ผมเองจบวิศวกรรมศาสตร์ไปเรียน MBA บอกได้เลยว่า วิศวกรทุกคนศึกษาการเงินได้สบายมาก เพราะการเงินเป็นเรื่องของความคิด Logic เรื่องเหตุผล และเป็นเรื่องของตัวเลข ซึ่งวิศวกร ทุกคนทำได้ดีทั้งสองอย่างเลย พอคุณอ่านหนังสือการเงินสักสองเล่ม คุณก็เริ่มมีไอเดียแล้วว่าอย่างไรคือ กำไร ขาดทุน งบดุล ของพวกนี้ศึกษาไม่ยาก ศึกษาด้วยตัวเองเวลา 1-2 เดือน ก็รู้เรื่องหมด พวกนี้จัดว่าเป็น Elementary Mathematics ผมเจอคนที่เรียนจบด้านวิศวกรรมอย่างเดียวมาลงทุนแบบ Value Investor ศึกษาไม่นานก็สามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ”

การลงทุนแบบ Value Investor แม้จะไม่ใช่เรื่องยากเกินทำความเข้าใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เรียนรู้กันได้อย่างผิวเผิน ผู้ที่ต้องการศึกษาการลงทุนในแนวทางนี้จากประสบการณ์ของ ดร.นิเวศน์ ก็มีหนังสือ “เคล็ดลับเซียนหุ้นพันธุ์แท้” และ “รวยด้วยหุ้น แบบฉบับ ดร.นิเวศน์” ที่รวมเล่มจากคอลัมน์ที่ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544-2546

รู้กว้าง รู้รอบ และรู้ลึก หนทางสู่ความสำเร็จ

ดร.นิเวศน์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้ศึกษาเรื่องการเงินแล้ว ทำให้โลกทัศน์ของตนเองกว้างขึ้นมาก ศาสตร์ด้านวิศวกรรมที่ติดตัวมาก็ใกล้เคียงกับศาสตร์แห่งการเงินและธุรกิจมาก ซึ่งวิศวกรรม จะเกี่ยวข้องกับการผลิตเพียงอย่างเดียว ในการบริหารงานผลิต ส่วนธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ จะเกี่ยวข้องกับการเงิน การตลาด หากมีความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรม ก็เหมือนรู้แค่ 1 ใน 3 ส่วนของ Function ที่ใหญ่โตของระบบ ระบบที่ข้องเกี่ยวกับคนทุกคน ความรู้แขนงเดียวจึงไม่เพียงพอ

Opportunity ของธุรกิจไม่ได้อยู่ที่การผลิตอย่างเดียว แต่ไปอยู่ที่จุดอื่นด้วย และการเงินเป็นจุดที่มี Opportunity สูงสุด

ทั้งนี้ เมื่อศึกษาศาสตร์พื้นฐานสำหรับการลงทุนอย่างครบถ้วนเพียงพอ และเริ่มการลงทุนในหลักทรัพย์แล้ว ต่อจากนั้นจะลงทุนจริงจัง หรือเพียงแค่เป็น Hobby ก็ขึ้นกับความพอใจ

“หลังจากทำงานด้านวิศวกรรมมา 5-6 ปี ผมเห็นว่า งานด้านวิศวกรรมอย่างเดียวพาเราไปถึงเป้าหมายยาก เราดูแล้วว่าไม่พอ อยากจะเปิดโลกให้กว้างขึ้นไปจะได้มีโอกาสที่จะเห็น ตอนที่เรียนปริญญาโท คืออยากขยาย Limit ของเรา อยากจะ Universe ออกไป ตอนที่เรียนก็ไม่รู้หรอกว่า การตลาดกับการเงิน จะทำให้เราร่ำรวย เราไม่รู้หรอกว่า ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่เพราะเราไม่รู้เราจึงอยากจะเปิดออกไป เพราะรู้สึกว่าที่เป็นอยู่แคบเหลือเกิน เหมือนกบ ที่เห็นแสงลอดรูกะลาเข้ามา”

ความเสี่ยงขึ้นกับว่ารู้มากน้อยแค่ไหน

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ” คำเตือนที่ข่มขวัญผู้คิดจะเริ่มลงทุนเกือบทุกราย ทุกวันนี้ในตลาดหลักทรัพย์ มีนักลงทุนที่ตักตวง ผลตอบแทนได้เป็นที่น่าพอใจ ส่วนที่ต้องบาดเจ็บจากการลงทุนก็มีไม่น้อย แม้การเรียนรู้พื้นฐานการลงทุนจะทำได้เท่ากัน แต่ความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับทักษะส่วนบุคคล ซึ่งเลียนแบบหรือถ่ายทอดกันยาก

“การลงทุน ยังมีเรื่องของจิตใจ ประสบการณ์ ผมเรียกว่า EQ การลงทุนต้องมีทั้ง IQ คือ มีความรู้ทางบัญชีบ้าง บัญชีนี่เหมือนเป็นภาษาของโลกธุรกิจ รู้วิธีวิเคราะห์หุ้น รู้ว่าอะไรถูก อะไรแพง แล้วคุณต้องมี EQ ควบคุมจิตใจตัวเองได้อย่างมั่นคง ใจเย็น ไม่หวั่นไหว แล้วคุณต้องมีเวลา ผม เรียก PQ คือ Physical Quotient มีเวลาที่จะลงทุนได้ยาวๆ การลงทุนแบบ Value คือมีเวลาให้สิ่งที่ลงทุนไปได้เติบโต เหมือนต่อยอดไป 10 ปี 20 ปีต้องอยู่กับมันตลอดเวลา ไม่ใช่ เข้าๆออกๆ คือลงทุนเหมือนทำธุรกิจ หุ้นกับธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน มีบ้างไหมที่วันนี้ทำธุรกิจ พรุ่งนี้เลิก ไม่มี”

“การทำใจเป็นเรื่องยากที่สุด แต่ถ้าคุณรู้ลึกซึ้ง คุณเข้าใจมาก คุณมีประสบการณ์ คุณจะไม่กลัวเลย ส่วนใหญ่คนที่เข้ามามีประสบการณ์ไม่พอ ความรู้ไม่พอ ความเชื่อมั่นไม่พอ เปรียบเทียบว่าเราเป็นช่างไฟฟ้า ความรู้เราแน่น รู้ว่าสายไฟนี่ไม่มีไฟ เราจึงกล้าจับ แต่ถ้าคุณไม่รู้ คุณไม่กล้าแตะเลย ดังนั้นขึ้นกับว่า คุณรู้แค่ไหน นี่เป็นการวัดกันระหว่างความสำเร็จกับความไม่สำเร็จในการลงทุน”

ความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญของการธนาคาร

สำหรับความรับผิดชอบต่อตำแหน่งผู้บริหารจัดการความเสี่ยง หน้าที่ปัจจุบัน(สิงหาคม 2547) ของ ดร.นิเวศน์ ก็คือการพิจารณาความเสี่ยงของทั้งองค์กร ที่เป็นส่วนหลักๆคือ การปล่อยสินเชื่อ ตรวจดูว่าโครงการที่มาขอสินเชื่อมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งความเสี่ยงก็คือ ความสามารถในการชำระเงินต้น และดอกเบี้ยคืนได้เต็มที่หรือไม่ เฉพาะการพิจารณาความเสี่ยงส่วนนี้ ดร.นิเวศน์ กล่าวว่า เป็นงานใหญ่และหนักมากแล้วสำหรับองค์กร

“แต่ก่อนธนาคารไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่ช่วงหลังๆ ความเสี่ยงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการธนาคาร ตัวอย่างเช่น คุณถือพันธบัตรเอาไว้ลงทุน คุณก็ต้องดูว่า เดี๋ยวราคาจะขึ้นลงอย่างไร พันธบัตรประเภทไหน จะขาดทุนหรือกำไรอย่างไร และคุณก็ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพคล่อง ธนาคารเนี่ย วันดีคืนดีเกิดภาวะวิกฤตขึ้น คุณมีเงิน เขามาถอนเงินคุณ คุณมีเงินให้เขาไหม และยังมีความเสี่ยงที่ใหญ่โตอีกอย่างคือความเสี่ยงด้าน Operation เพราะงานธนาคารทุกจุดมีความเสี่ยงทั้งหมด จะมีใครมาโกงไหม พนักงาน เป็นอย่างไร จะมีใครเอาธนาคารไปใช้ฟอกเงินหรือเปล่า หน้าที่ผมคือการไปสร้างระบบและคอยเตือนพนักงานว่า จะจัดการกับความเสี่ยงของเขาอย่างไร โดยรวมแล้ว งานจะกว้างมาก”

ปกติแล้วในการทำงาน ดร.นิเวศน์ พยายามจะไม่เครียด แต่หากเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่เลือกใช้คือ การทำสมาธิในหลักของพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในระหว่างฝึกฝนแต่ยังไม่ลึกซึ้ง อีกวิธีหนึ่งที่ดีมากและขาดไม่ได้เลยคือ การวิ่งออกกำลัง ซึ่งจะช่วยปลดเปลื้องความเครียดได้มาก สมองปลอดโปร่ง หลังได้เรียกเหงื่อ

มีสตางค์แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรม

เมื่อมองย้อนกลับไป ความสำเร็จที่รวมกัน ส่งผลให้มายืนอยู่ถึงจุดนี้ได้ เป็นเพราะ ดร.นิเวศน์ สร้างมันขึ้นมาและเข้าไปคว้าโอกาสนั้นด้วยตัวเอง

“ผมเป็น Value Investor คนแรกๆของประเทศ ที่ลงทุนวิธีนี้ แต่ทุกอย่างไม่ได้มาโดยบังเอิญนะ และอย่าไปคิดว่าผมโชคดีที่ไปลงทุนแล้วมีกำไร ทุกอย่างเราวางแผนมาหมด เราคิดมาแล้วจึงมาถึงตรงนี้ได้ นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า ไม่มีใครมี Gift ไม่มีใครที่บังเอิญโชคดี มีบุญมาหล่นใส่ เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น”

“ผมไม่ใช่คนมี Gift ที่จะเป็นนักลงทุนที่ดี รู้เรื่องอะไรต่างๆดี ทุกอย่างมาจากการวางแผน และพลังที่จะ Take Action คุณอยากได้อะไรคุณต้องทำ อยากประสบความสำเร็จคุณต้องเป็นฝ่ายเริ่ม ตรงนี้ผมคิดว่า เป็นอะไรที่สำคัญมาก และทุกวันนี้ผมจะคิดอย่างนี้ตลอด”

“อย่างการลงทุนแบบ Value ในเมืองไทยยังไม่มีใครคิด ผมจับประเด็นตรงนี้และ Project ตัวออกไป เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ รวมเล่มเป็นหนังสือได้ ก็โดยการเสนอตัวเองเข้าไป”

ส่วนหนึ่งของชื่อเสียงและการยอมรับในวงกว้าง จึงมีที่มาจากช่องทางดังกล่าวด้วย และความเป็นที่รู้จัก ก็เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้ ดร.นิเวศน์ รู้สึกว่า ชีวิตเปลี่ยนไป

“ทุกวันนี้ถามว่าผมมีสตางค์ไหม ผมมี แต่บอกได้เลยว่า ความสำเร็จไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเรา ผมศึกษาชีวิตนักลงทุนเอกของโลกหลายคน ทั้ง จอร์จ โซรอส, วอร์เรน บัฟเฟต ที่เขาประสบความสำเร็จ ล้วนพูดตรงกันว่า ความสำเร็จทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปแค่อย่างเดียว คือมีคนฟังเขามากขึ้น ผมก็คิดว่า จริงเลย เคยอยู่บ้านเล็กแค่ไหนก็เล็กแค่นั้น เสื้อผ้าซื้ออย่างเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน กินข้าวแกงข้างถนน เดินจตุจักร ไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวเองทุกอาทิตย์ งานบ้านก็ทำเอง การดำรงชีวิตก็ยังเหมือนเดิม”

ปัจจุบัน ดร.นิเวศน์ ยังคงเป็นวิทยากรรับเชิญ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์อยู่บ้างตามโอกาส โดยเฉพาะหัวข้อเรื่องการลงทุนในหุ้น เพราะเป็นเรื่องที่ถนัด มีประสบการณ์ ซึ่ง ดร.นิเวศน์ ยินดีจะแลกเปลี่ยนเป็นวิทยาทาน เพื่อให้ผู้อื่นได้รับความรู้และประสบการณ์จากการลงทุนในหุ้น อีกหนึ่งการจัดการกับการเงินที่น่าสนใจ ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่จำเป็นต้องรู้วิธีจะจัดการอย่างถูกต้อง

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร : จากวิศวกรสู่นักลงทุนทางพลิกผันที่ไม่บังเอิญ
ที่มา :
วารสาร Engineering Today  ปีที่ 2 ฉบับที่ 20 สิงหาคม 2547

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.