กุญแจ 5 ดอก ของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า : Value Way

ไม่แน่ใจว่าบทความนี้ใครเป็นคนเขียนนะครับ ระหว่าง พี่มนตรี หรือ พี่วิบูลย์ เลยใส่เป็น Value Way ไปแทนครับ

ส่วนรูปที่เป็น mind map ในบทความ ผมถ่ายมาจากหนังสือนะครับ

####

แนะนำหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนที่น่าอ่านสักเล่มหนึ่ง ชื่อเรื่อง กุญแจ 5 ดอกของการลงทุน แบบเน้นคุณค่า แปลมาจากต้นฉบับชื่อ 5 Keys to Value Investing เขียนโดย J. Dennis Jean-Jacques ผู้เรียบเรียงคือ คุณพรชัย รัตนนนทชัยสุข ซึ่งที่ผ่านมา มีผลงานแปลหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่าออกมาหลายเล่มด้วยกัน

J. Dennis Jean-Jacques เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ของ Fidelity Investments สำนักการลงทุนแห่งเดียวกับเซียนหุ้นบรรลือโลก ปีเตอร์ ลินซ์ (Peter Lynch) ก่อนที่จะย้ายมาทำงานร่วมกับ ไมเคิล ไพรซ์ (Michael Price) ที่กองทุน Mutual Series Fund ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสุดยอดกองทุนแบบเน้นคุณค่าแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งนักวิเคราะห์ของกองทุนแห่งนี้ จากนั้นก็ได้เลื่อนมาเป็นผู้จัดการกองทุน หลังจากที่ ไมเคิล ไพรซ์ ได้เกษียณตัวเองจากการบริหาร

การดำเนินงานของ Mutual Series Fund จะเน้นไปที่การหาหุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินมากๆ หลักการลงทุนของ กองทุนแห่งนี้จะเน้นไปที่การตรวจสอบงบการเงิน โดยเฉพาะตรวจสอบ ‘งบดุล’ เป็นหลัก คล้ายๆกับการลงทุนของต้นตำรับอย่าง เบนจามิน เกรแฮม

ดังที่ ไมเคิล ไพรซ์ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า

อย่างแรก ราคาหุ้นของบริษัทจะต้องอยู่ในระดับที่มีส่วนลดจากมูลค่าทรัพย์สิน

อย่างที่สอง ผู้บริหารต้องถือหุ้นของบริษัท ยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น

อย่างสุดท้าย งบดุลของบริษัทต้องสะอาดหมดจด มีหนี้สินน้อย ซึ่งนั่นจะชี้ว่า ความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับต่ำ หากคุณดูทั้งสามสิ่งนี้ คุณจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ

นอกเหนือจากนั้น ไมเคิล ไพรซ์ ยังกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างการลงทุนของเขา กับการลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ อีกว่า วิธีการไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือแนวคิด “บัฟเฟตต์จะเด่นในเรื่องการเสาะหาธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอย่างยั่งยืน เราไม่เก่งในเรื่องนั้น เราจะมองหาคุณค่า”

การลงทุนของ Mutual Series Fund ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ ไมเคิล ไพรซ์ อย่างมาก โดยเฉพาะที่ผ่านมา การตัดสินใจการลงทุนทั้งหมดจะมาจาก ไมเคิล ไพรซ์ เพียงคนเดียว และกองทุนแห่งนี้ก็ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว

ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงคำถาม 5 ข้อ ที่นักลงทุนควรจะพิจารณาเพื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุนของตน กฎเกณท์เหล่านี้ เรียกว่า กุญแจ 5 ดอก ซึ่งนักลงทุนสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์การลงทุนของตนเองได้เป็นอย่างดี

กุญแจ 5 ดอกของการลงทุนแบบเน้นคุณค่า สามารถสรุปคร่าวๆได้ดังต่อไปนี้

กุญแจดอกที่หนึ่ง : บริษัทนี้เป็นบริษัทที่ดีหรือไม่

ในหนังสือเล่มนี้จะอธิบายถึงการค้นหาข้อมูลการวิเคราะห์ธุรกิจและอุตสาหกรรมของบริษัทนั้นๆ ว่าจะสามารถหาข้อมูลได้จากแหล่งใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือรายงานประจำปีของบริษัท หรือจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ รวมถึงการวิเคราะห์ตัวบริษัทที่จะลงทุนเองด้วยวิธีการวิเคราะห์ตามแนวนิ่ง (Vertical Assessment Approach), การวิเคราะห์ส่วนประกอบของอัตราส่วนกำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE Decomposition approach) และการวิเคราะห์กระแสเงินสด (Cash-flow Based Approach)

นักลงทุนสามารถนำการวิธีการวิเคราะห์ที่กล่าวถึงไปใช้ในการวิเคราะห์บริษัท ที่จะลงทุนได้ เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทที่จะลงทุนเป็นบริษัทที่ดีหรือไม่ รวมทั้งในหนังสือยังมีตัวอย่างการบริษัท ที่ผู้เขียนได้ลงทุนจริงๆ เป็นตัวอย่างประกอบอีกด้วย

กุญแจดอกที่สอง : มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทนี้อยู่ที่เท่าไหร่

การหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นที่จะลงทุน นับว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เลยทีเดียว หนังสือเล่มนี้จะอธิบายถึงการประเมินหามูลค่าหุ้นด้วยวิธีต่างๆ เช่นที่รู้จักกันดีก็คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (Price to Earning Ratio หรือ P/E) นอกเหนือจากการอธิบายถึงความหมายของอัตราส่วนดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนยังได้กล่าวถึง ข้อดีข้อเสีย ของการใช้ P/E ในการลงทุนอีกด้วยว่ามีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ตัวอย่างเช่น การเปรียบเทียบ P/E ระหว่างหุ้น จะใช้ได้ดีในธุรกิจที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ถ้าธุรกิจที่นำมาเปรียบเทียบกันนั้น มีโครงสร้างธุรกิจและนโยบายการบัญชีที่แตกต่างกัน การนำ P/E มาเปรียบเทียบกันอาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้

เครื่องมือในการประเมินมูลค่าที่อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้มีมากมาย ทั้งการประเมินมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ (Comparision-based), การประมินมูลค่าโดยอิงจากสินทรัพย์ (Asset-based) หรือ การประเมินมูลค่าโดยอ้างอิงจากข้อตกลงซื้อขายที่เคยเกิดขึ้น (Transaction-based)

นักลงทุนสามารถนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้ในการหามูลค่าหุ้นได้ รวมทั้งมีตัวอย่างบริษัทจริงให้ดูเป็นการประกอบคำอธิบาย

กุญแจดอกที่สาม : ราคาหุ้นของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าสนใจหรือไม่

นักลงทุนทั่วไปจะสนใจใน ‘ราคาหุ้น มากกว่าสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะจะเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทั้งจากคอมพิวเตอร์ ทีวี หรือ หนังสือพิมพ์เป็นประจำทุกวัน โดยให้ความสนใจในเรื่องอื่นๆเป็นลำดับต่อมา แต่ถ้าสังเกตดูจะพบว่า ราคาหุ้นสำหรับการลงทุนแบบเน้นคุณค่านั้น ไม่ได้เป็น ‘กุญแจดอกที่หนึ่ง แต่อย่างใด กลับกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญรองๆลงมา’

ราคาหุ้นสำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า เป็นเพียงการแสดงความจำนงซื้อขายหุ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าหุ้นนั้นน่าสนใจหรือไม่ มีประโยคที่น่าสนใจเกี่ยวกับราคาหุ้นจากหนังสือกล่าวไว้ดังนี้

หากราคาหุ้นของทั้งบริษัท A และ บริษัท B ต่างก็มีราคาอยู่ที่ $20 หุ้นตัวไหนจะถือว่าถูก และหุ้นตัวไหนจะถือว่าแพง มีปัจจัยมากมายที่นักลงทุนจะต้องนำมาพิจารณาก่อนที่จะบอกได้ว่า ‘ราคาหุ้นนั้นๆถูกหรือแพง นักลงทุนไม่สามารถพิจารณาแต่ราคาหุ้นโดดๆ เพียงอย่างเดียวได้

ดังนั้น ราคาหุ้นนั้นจะอยู่ในระดับที่น่าสนใจหรือไม่จะต้องนำไปเปรียบเทียบ กับปัจจัยอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะกับมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นนั้นๆ

กุญแจดอกที่สี่ : ตัวเร่ง (Catalyst) ที่มีประสิทธิภาพมีโอกาสเกิดขี้นแค่ไหน

ตัวเร่ง หรือ Catalyst เปรียบเสมือนเชื้อไฟที่สุมเข้ากับกองถ่านที่ทำให้เกิดเปลวไฟลุกโชติช่วงได้ ในทันทีทันใด หากปราศจากเชื้อไฟกองถ่านก็ยังคงเพียงครุกรุ่นอยู่อย่างนั้นตลอดไป ฉันใดก็ฉันนั้น หุ้นที่ไม่มีตัวเร่งอาจจะไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งนักลงทุนอาจจะต้องใช้เวลานานเกินไปที่จะทำผลตอบแทนอย่างที่ได้ตั้งใจไว้

ตามหนังสือกล่าวไว้ว่า มี ‘ตัวเร่ง อยู่สองประเภทคือ ตัวเร่งที่เกิดขึ้นภายในบริษัท (Internal Catalyst) และตัวเร่งจากภายนอกบริษัท (External Catalyst) ผู้เขียนได้ยกเหตุการณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงตัวเร่งที่อาจเกิดขึ้นกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งไว้ค่อนข้างละเอียด พอสมควร ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงสั้นๆ และ เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า

กุญแจดอกที่ห้า : ราคาที่ซื้อให้ส่วนเผื่อความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

ส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) เป็นตัวช่วยกำหนดว่า ราคาหุ้นที่นักลงทุนซื้อมานั้นมีโอกาสในการที่จะขาดทุนมากน้อยเพียงใด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ส่วนเผื่อความปลอดภัย ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่รับประกันว่านักลงทุนจะไม่ขาดทุนจากการลงทุนนั้นๆ

ผู้เขียนยังได้ยกตัวอย่างการลงทุนจริงๆของกองทุน เป็นกรณีศึกษา เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ในสถานการณ์จริงๆนั้น การตัดสินใจในการลงทุนจำเป็นจะต้องนำเหตุการณ์และข้อมูลต่างๆมาประกอบด้วย แทนที่จะยึดติดอยู่กับการคำนวณและการหามูลค่าหุ้นด้วยวิธีต่างๆ เพียงอย่างเดียว

กุญแจทั้ง 5 ดอกจากหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้นักลงทุนมีความเข้าใจใน ‘การลงทุนแบบเน้นคุณค่ามากขึ้น รวมทั้งสามารถนำวิธีการดังกล่าวไปปฏิบัติได้จริงๆ และจากการแปลที่เรียบเรียงได้ดีโดยคุณพรชัย ทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย แม้กับผู้ที่ไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นมาก่อน

หนังสือราคาเล่มละ 280 บาท ‘ถือว่าเป็น การลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ แทนที่จะเสียเงิน ซื้อประสบการณ์ จากการขาดทุนเป็นแสนเป็นล้านบาทในตลาดหุ้น ยอมเสียเงิน ซื้อหนังสือ ราคาไม่กี่ร้อยบาทเพื่อหาความรู้ก่อนเข้าตลาดจะดีกว่า’

– กรุงเทพธุรกิจ Bizweek ฉบับวันที่ 1 – 7 ตุลาคม 2547 –

ที่มา

 

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.