การวัดราคาหุ้นด้วย P/E Ratio : สันติ สิงหวังชา

peratio220
การประเมินราคาแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลักๆ วิธี discount (DCF) นั้นผมไม่ค่อยได้ใช้งานเท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าเป็นวิธีที่ไม่ดี เพราะถ้านักลงทุนสามารถที่จะประมาณและคาดการณ์อนาคตได้ค่อยข้างแม่นยำ วิธี discount เป็นวิธีที่ให้คำตอบได้ดีมาก

ใครสนใจการประเมินแบบ discount แนะนำให้อ่านหนังสือ วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง เขียนโดย คุณสุมาอี้(นามแฝง) ผมเองเพิ่งอ่านจบไปเมื่อกี้นี้เอง อ่านเข้าใจง่ายและมีตัวอย่างการวิเคราะห์หุ้นของจริงๆให้เห็นหลายรูปแบบ ซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

คราวนี้เรากลับมาพูดถึงวิธี Relative กันบ้างดีกว่า ติดค้างกันไว้นานแล้ว

วิธี Relative ที่ผมใช้บ่อยที่สุดคือ P/E ratio โดยที่ P คือ ราคาหุ้น ในขณะที่ E คือกำไรต่อหุ้น ความหมายของ p/e มองได้ง่ายๆคือ จำนวนปีที่จะคืนทุนโดนสมมุติว่ากำไรคงที่ตลอด

เช่น เราซื้อหุ้นราคา 10 บาท กำไรต่อหุ้น 2 บาท เพราะฉะนั้นถ้ากำไรของบริษัทยังคงที่ไปตลอด การลงทุนครั้งนี้ก็จะมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 5 ปี ดังนั้น ถ้าสมมติว่าหุ้นทุกตัวในตลาดมีกำไรคงที่ตลอด หุ้นที่น่าซื้อที่สุดคือหุ้นที่ pe ต่ำที่สุด หรือ มีระยะเวลาคืนทุนต่ำที่สุดนั้นเอง

แต่ชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างที่เราสมมตินะซิ กำไรของหุ้นในตลาดนั้นมีทั้งเพิ่มขึ้น ลดลง หรือคงที่ ด้วยอัตราที่แตกต่างกันไป เลยเป็นที่มาว่าหุ้นแต่ละตัวจะมี pe ที่เหมาะสมไม่เท่ากัน

ลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ ข้างล่างนี้

หุ้น a มีกำไรคงที่ตลอดมี

หุ้น b มีแนวโน้มกำไรเติบโต

หุ้น c มีแนวโน้มกำไรลดลง

หุ้น d มีกำไรผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้

สมมติหุ้นทั้ง 4 ตัวมี pe เท่ากับ 6 เหมือนกันหมด ถ้าให้เลือกหุ้นได้ตัวเดียวเราควรจะซื้อหุ้นตัวไหน จริงๆแล้วคงตอบได้ไม่ยากว่าหุ้น b น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีที่สุด เพราะถ้ากำไรไม่โตก็ใช้เวลา 6 ปีในการคืนทุน ถ้ากำไรโตขึ้นด้วยเวลาคืนทุนก็น่าจะสั้นกว่า 6 ปี แต่ถ้าถามกลับกันว่าหุ้นตัวไหนที่ไม่ควรซื้ออย่างมาก ก็น่าจะเป็นหุ้น c เพราะระยะเวลาคืนทุนน่าจะยาวกว่า 6 ปีเป็นแน่ หรือดีไม่ดีอาจจะไม่มีโอกาสคืนทุนเลยก็ได้ถ้าบริษัทกำไรลดลงจนกลายเป็นขาดทุนไปเลย

ส่วนหุ้น a นั้นแม้ว่าจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ใช้เวลาคืนทุนประมาณ 6 ปี ก็ไม่ถือว่าเป็นการลงทุนที่แย่เท่าไหร่ ถ้าเปลี่ยนโจทย์ให้สามารถลงทุนได้ 2 ตัว หุ้น a ก็น่าจะอยู่ในตัวเลือกด้วยได้

แต่ปัญหาอยู่ที่หุ้น d นี่แหละครับ จะว่าน่าซื้อหรือว่าไม่น่าซื้อตอบยากเหลือเกิน เพราะกำไรมันเอาแน่เอานอนไม่ได้ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง บางปีอาจจะขาดทุนมาก บางปีอาจจะพลิกมาเป็นกำไรมาก ในความเป็นจริงแล้วหุ้นที่อยู่ในตลาดมีหุ้นกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำข้อแรก สำหรับการใช้วิธีวิเคราะหุ้นด้วย pe อย่างแรกคือ หลีกเลียงการใช้ pe กับหุ้นที่มี ธุรกิจ รายได้ หรือกำไรที่ผันผวน (จริงๆวิธีดัดแปลงนำไปใช้ก็พอมีอยู่ แต่ในเบื้องต้นยังไม่เอามาพูดดีกว่า เดี๋ยวจะพากันงงไปซะก่อน)

ตอนนี้เราพอจะเข้าใจแนวคิดคร่าวๆของการวัดมูลค่าหุ้นด้วย pe กันบ้างแล้ว ถ้าลองย้อนกลับไปอ่านที่ผมวิเคราะห์หุ้น ilink เอาไว้จะเห็นว่าผมกำหนด pe ที่เหมาะสมของหุ้น ilink เอาไว้ที่ 8 สมมติว่ากำไรที่จะเกิดในปี 49 นี้คิดเป็น e เท่ากับ 1.2 ต่อหุ้น ราคาเหมาะสมก็เอา 8 คูณกับ 1.2 ก็ได้ 9.6 บาท ดูแล้วง่ายเหลือเกิน แต่จริงๆแล้วกว่าที่จะกลายมาเป็น pe ที่ 8 กับ e (กำไรในอนาคต ณ สิ้นปี 49) ที่ 1.2 ก็มีที่มาที่จะเอามาคุยกันได้พอสมควร ติดตามตอนต่อไปครับ

####

การวัดราคาหุ้นด้วย P/E ratio 2

การใช้ pe ในการหาราคาเหมาะสมของหุ้น จะเห็นได้ว่า ตัวแปรที่มีความสำคัญมากๆคือ pe ที่เหมาะสม กับ e ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คราวนี้จะขอพูดเฉพาะ e ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกันก่อนนะครับ

e ในที่นี้คือกำไรต่อหุ้นที่จะเกิดขึ้น โดยปกติผม ถ้าอยู่ในช่วงต้นๆหรือกลางๆปี ผมก็จะคาดการณ์กำไรในอนาคตออกไปจนจบปี อย่างตอนนี้เดือน 8 เหลือเวลาอีก 4 เดือนที่บริษัทจะดำเนินงานจนครบปี ผมก็จะประมาณกำไรออกไปอีก 2 ไตรมาสก็จะได้เป็นกำไรของทั้งปี 49 ซึ่งจะประกาศผลออกมาในช่วงประมาณปลายเดือน กุมภาพันธ์ปี 50 เพราะฉะนั้น ราคาเป้าหมายของหุ้นที่คิดจาก e ตัวนี้จะเป็นเป้าหมายราคาในช่วง ปลายเดือน 2 ปีหน้า ด้วยเช่นเดียวกัน

เวลาส่วนใหญ่ในการวิเคราะห์หุ้นของผม คือการทำความเข้าใจกับธุรกิจให้เพียงพอที่จะสามารถประมาณกำไรให้ได้แม่นยำ ยิ่งแม่นเท่าไหร่โอกาสที่ผมจะถูกก็มีมากขึ้นเท่านั้น

ที่นี้คนส่วนใหญ่ก็คงจะงงว่ากำไรจะประมาณอย่างไร อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในตัวธุรกิจของหุ้นนั้นๆด้วย เราสามารถของย้อนไปดูอดีตของบริษัทว่ารายได้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร ต้นทุนผันผวนรึเปล่า .. โดยปกติผมมักจะชอบลงทุนในหุ้นที่ผลงานไม่ค่อยผันผวนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการคาดการณ์อนาคตก็จะไม่ซับซ้อนมาก

สิ่งต่อมาที่ต้องดูคือ พยายามหาให้ได้ว่าบริษัทมีการตั้งเป้าการเติบโตอย่างไร ซึ่งหุ้นหลายตัวมักจะมีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวโน้มของธุรกิจอยู่เรื่อยๆ เราก็สามารถนำตัวเลขเหล่านี้มาประมาณรายได้คร่าวๆได้ แต่จะให้ดีควรจะดู Track ย้อนหลังไปด้วยว่าในอดีตที่ผู้บริหารมีการคาดการณ์อนาคต ผลลัพธ์ที่ออกมาใกล้เคียงความจริงเท่าไหร่ เพราะผู้บริหารมีหลายประเภท พวกหนึ่งก็มักจะมองโลกในแง่ดี คือประมาณเกินความจริง อีกพวกก็อาจจะ conservative หน่อย คือประมาณไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง อีกพวก็อาจจะประมาณได้ใกล้เคียงความจริง หรือกลุ่มสุดท้ายคือไม่ค่อยซื่อเท่าไหร่ ออกมาให้ข่าวเพื่อสร้างราคา โดยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความจริงเลย

เราจำเป็นต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาคำนึงในการประมาณรายได้ด้วย แต่ถ้าเป็นผู้บริหารกลุ่มสุดท้ายที่เชื่อถือไม่ค่อยได้ หลีกให้ห่างเลยดีกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลาประมาณเพราะยังไงก็คงเดาไม่ถูก (ถ้าความมั่นใจในการประมาณน้อย ควรจะประมาณรายได้ให้ต่ำไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัย)

หลังจากประมาณรายได้แล้วต่อมาก็ประมาณกำไร โดยใช้ดูเอาจากอดีตว่ามีอัตราการทำกำไรเท่าไหร่ กำไรขั้นต้นเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายขายและบริหารเป็นกี่ % ของรายได้ แล้วประมาณออกมาเป็นกำไร (ถ้าผู้บริหารมีการคาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นมาให้ด้วย ก็สามารถเอามาใช้ได้ แต่อย่าลึมนะว่าเป็นผู้บริหารประเภทไหน)

เรื่องที่ควรคำนึงถึงในขึ้นตอนนี้คือ ต้นทุน (วัตถุดิบ ค่าแรง การลงทุนในสินทรพย์ถาวร ที่จะเกิดมาเป็นค่าเสื่อมราคา ฯลฯ) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญรึเปล่า ถ้าต้นทุนเพิ่มสูงมาก ก็ควรประมาณอัตรากำไรขั้นต้นให้ลดลงมากหน่อย ค่าใช้จ่ายขายและบริหารปกติจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยส่วนใหญ่แล้ว ถ้ารายได้เพิ่มขึ้น 10% ค่าขายและบริหารมักจะเพิ่มไม่ถึง 10% ถ้าไม่แน่ใจก็ประมาณให้ค่าใช้จ่ายสูงๆไว้ก่อนเป็นดี (อันนี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจ ควรดูเปลี่ยนเทียบจากงบการเงินในอีตว่าค่าใช้จ่ายขายและบริหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเทียบกับรายได้)

หลังจากประมาณกำไรได้แล้วก็หารด้วยจำนวนหุ้น กลายเป็น eps จนจบปี แล้วก็เอามาคูณ pe ที่เหมาะสมของหุ้นนั้นๆ ก็จะได้ราคาเป้าหมายออกมาได้ไม่ยาก …. อย่าลืมที่ในขั้นตอนการประมาณถ้ามีจุดไหนที่ไม่มั่นใจให้ประมาณโดยกดให้กำไรต่ำไว้เสมอ

และที่สำคัญห้ามหลอกตัวเอง อย่ามองโลกในแง่ดีจนเกินเหตุเพราะจะทำให้เราคำนวณราคาเป้าหมายได้สูง โอกาสขาดทุนจะเยอะ ในขณะที่มองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราขาดทุน แค่อาจจะทำให้เสียโอกาสในการซื้อหุ้นราคาถูกเท่านั้นเอง (ยังไงเสียดายน้ำลายหก ก็ยังดีกว่าเสียใจน้ำตาตกอยู่ดี)

สำหรับผม ถ้าจะประมาณกำไรได้แม่นๆนั้น ส่วนใหญ่จะต้องมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารด้วย เพราะทำให้เราเข้าใจธุรกิจเค้ามากขึ้น

โดยปกติผมชอบยิงคำถามเหล่านี้ เช่น ตั้งเป้ารายได้โตกี่ % อัตรากำไรขั้นต้นจะรักษาระดับเดิมไว้ได้มั๊ย มีปัจจัยอะไรที่น่าเป็นห่วงสำหรับธุรกิจมั๊ย ฯลฯ ก็จะทำให้เราได้ข้อมูลในการประมาณกำไรได้พมสมควร นอกจากนี้การพูดคุยยังทำให้เราพอจะมองออกได้ว่านิสัยของผู้บริหารเป็นอย่างไร ขี้โม้หรือเปล่า ซื่อสัตย์รึเปล่า หรือว่า มีฝีมือรึ้เปล่า โอกาสที่จะได้คุยกับผู้บริหารก็อาจจะน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเลย ไว้จะมาเล่าอีกที่ครับ วันนี้เท่านี้ก่อนละกัน

####

การวัดราคาหุ้นด้วย P/E ratio 3

ในการเลือกซื้อหุ้นเราต้องเทียบระหว่างราคาที่เราจะจ่ายกับคุณภาพของหุ้น ยิ่งหุ้นมีคุณภาพสูง pe ที่เหมาะสมของหุ้นนั้นๆก็ควรจะสูงไปด้วยการประเมินคุณภาพของหุ้น ผมมองว่าเป็นศิลปะ ไม่มีสูตรตายตัวในการคิดออกมาเป็นตัวเลข เพราะคุณภาพนั้นมันวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก ก็อาศัยใช้ประสบการณ์ฝึกดูไปเรื่อยๆก็พอจะได้ไอเดียว่าหุ้นประเภทไหนควรมี pe เท่าไหร่

โดยผมจะมี check list คร่าวๆในใจ เอาไว้ประเมินคุณภาพของหุ้นดังนี้

การเติบโตของรายได้ : แนวโน้มอุตสาหกรรม , ความสามารถของคู่แข่ง , ความสามารถในการเพิ่มยอดขายของบริษัท

ความสามารถในการควบคุมต้นทุน : อำนาจต่อรองเทียบกับ supplier , ความสามารถในการผลักภาระไปให้ลูกค้า

ความผันผวนของรายได้และกำไร : ยิ่งผันผวนมาก ผมมองว่าคุณภาพจะค่อนข้างต่ำ

ผู้บริหาร : ความซื่อสัตย์ , ความขยัน , ความเก่ง (ต้องระวังผู้บริหารที่ขี้โม้เก่งนิดนึง เพราะเราอาจจะคิดว่าฝีมือดีทั้งที่จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้เรื่องเลยก็ได้)

โครงสร้างการเงินของบริษัท : หนี้สินเทียบกับส่วนทุน , หนี้สินเทียบกับกำไร , เงินสดที่เหลืออยู่หักด้วยหนี้สิน 

ฯลฯ

จากปัจจัยต่างๆข้างต้นที่เป็นตัววัดคุณภาพ ลองพยายามประเมินออกมาให้ได้ว่าหุ้นที่เราวิเคราะห์นั้นอยู่ในกลุ่มไหน แล้วลองเอามาเทียบกับหุ้น 5 กลุ่มข้างล่างที่ผมเขียนเอาไว้

หุ้นที่มีคุณภาพแย่ (หุ้นเกรด F) กิจการที่ขาดทุน หนี้สินเยอะๆ หรือกำไรเอาแน่เอานอนไม่ได้ ปีนึงกำไร ปีนึงขาดทุน หรือพวกที่ผู้บริหารไว้ใจไม่ได้ พวกนี้ไม่ต้องประเมิน pe หรอกครับอย่าไปซื้อมันเลยดีกว่า

หุ้นที่มีคุณภาพกลางๆ (หุ้นเกรด C)
หนี้สินกลางๆ รายได้และกำไรไม่ค่อยเติบโต หรือเติบโตช้าไม่เกิน 5% ต่อปี pe ควรจะอยู่แถวๆ 5-6

หุ้นคุณภาพดีพอใช้ (หุ้นเกรด B)
หนี้ไม่มาก รายได้ไม่ผันผวนโตอย่างสม่ำเสมอ กำไรในอนาคตเติบโตระดับ 5-15% ต่อปี pe น่าจะประมาณ 6-9

หุ้นคุณภาพดี (เกรด A) หนี้น้อย หรือไม่มีเลย รายได้โตอย่างต่อเนื่อง กำไรในอนาคตคาดว่าจะโตในระดับ 15% ขึ้นไป pe เหมาะสมประมาณ 9-12

หุ้นสุดยอด (Super stock) หนี้น้อยหรือไม่มี รายได้มั่นคงมากและโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอ กำไรโตขึ้นในระดับ 20-30% ผู้บริหารเก่ง ขยัน ซื่อสัตย์ แนวโน้มธุรกิจดี มีอำนาจในการต่อรองต่อ supplier สูง อยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่แข่งขันกันเรื่องราคาเป็นหลัก สามารถผลักภาระให้ลูกค้าได้ ฯลฯ พวกหุ้นชั้นยอดพวกนี้ pe ตั้งแต่ 12 ขึ้นไปจนถึง 20

ตัวเลขที่แสดงเป็นเพียงแค่ Guideline คร่าวๆเท่านั้นนะครับ อย่าไปคิดว่าเป็นสูตรตายตัวอะไร ที่แบ่งออกมาเป็นกลุ่มแบบนี้ผมว่าเข้าใจง่ายดี อ่าน Blog วันนี้แล้วจำเกรดของหุ้นไว้ด้วยก็ดีนะครับ เผื่อในอนาคตผมอาจจะยกเกรดเหล่านี้มาใช้ในสื่อสารให้เข้าใจได้ตรงกัน

ปล.ตามการประเมินมูลค่าหุ้นด้วย pe ก็ยังมีข้อจำกัด และข้อควรระวังหลายประการ ซึ่งจะเอามาพูดกันต่อในคราวหน้านะครับ

####

ข้อจำกัดของการใช้ pe

ที่บอกไปวันก่อนนะครับว่าการใช้ pe ประเมินราคาหุ้นยังมีข้อจำกัดอยู่บางกรณี ผมจะขอยกตัวอย่างให้ดูกันนะครับ

มีอยู่ช่วงนึงที่หุ้นกลุ่มเดือนเรือวิ่งขึ้นกันกระจาย ตอนนั้นเองผมก็เล่นไปกับเค้าด้วย แต่ตอนนั้นยอมรับครับว่าไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ อาศัยเล่นตามๆเค้าไป เห็นเค้าบอกว่าค่าระวางเรืออยู่ในช่วงขาขึ้น psl หุ้นเรือเทกอง วิ่งจากประมาณ 6 (ปรับการแตกหุ้นแล้ว) ไปถึง 50 กว่าบาท หุ้น tta วึ่งจาก 10 บาทไป 40 บาท ตอนนั้นผลประกอบการของกลุ่มเรือออกมาดีจนน่าใจหาย กำไรพุ่งพรวดเป็นประวัติการณ์ แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปพักนึง ค่าระวางเรือเริ่มไหลจากจุดสูงสุดลงมาเรื่อยๆ ราคาของหุ้นเดินเรือก็ไหลลงตามเช่นเดียวกัน psl ไหลจาก 50 ลงมา เหลือ 30 กว่าๆ (ผมขายไปแถว 35-38 บาท) tta ก็ไหลลงมาเหลือ 20 กว่าๆ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าอนาคตของกลุ่มเดินเรือจะไม่หรูหราเหมือนงบที่ประกาศออกมาอีกแล้ว

เรื่องที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเดินเรือข้างต้น ก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดในตลาดหุ้นที่ธุรกิจก็มีขึ้นมีลง ราคาหุ้นก็มีขึ้นมีลง เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่คนเล่นหุ้นอย่างเราต้องยอมรับกันแต่มีเรื่องที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เราสามารถใช้ pe ในการวิเคราะห์หุ้นเรือได้รึเปล่า?

เนื่องจากค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนั้นทำให้ผลประกอบการที่ผ่านมาของกลุ่มเรือสูงมาก การใช้ pe ที่คำนวณจากผลประกอบการในอดีต (ที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์) จะทำให้หุ้นกลุ่มนี้มี pe ต่ำมากๆ บางตัวอาจจะมี pe เพียงแค่ 3-4 เท่านั้น แต่หุ้นเรือนี้ราคาถูกจริงรึเปล่า? ผมว่าเนื่องจากความเป็นวัฏจักรของธุรกิจเดินเรือที่จะมีช่วงที่ ค่าระวางเพิ่มขึ้นสูงจนกำไรดีมาก และช่วงที่ค่าระวางลดลงจนถึงกับทำให้บริษัทเหล่านี้ขาดทุนได้ง่ายๆ ถ้าค่าระวางเรือเป็นขาลง ผลกำไรของกลุ่มจะลดลง จนทำให้ e ที่ใช้คำนวณนั้นลดลง ถ้าหุ้นราคาไม่ลง pe ก็จะทำให้ pe นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากหุ้นก็จะมีถูกอีกต่อไป ใครซื้อเข้าไปตอน pe ต่ำๆก็อาจจะขาดทุนได้ง่ายๆเหมือนกัน

โดยสรุปแล้วจะเห็นว่าหุ้นที่เป็นวัฏจักรรายได้มีช่วงขาขึ้นและขาลง การใช้ pe ประเมินราคาไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมนัก เพราะหุ้นที่ดูเหมือนราคาถูกอาจจะกลายที่ราคาแพงขึ้นมาได้ทันทีที่ผลกำไรของบริษัทลดลงตามวัฏจักร

ปล. ผมไม่ได้บอกว่าหุ้นเรือไม่ดีนะครับ เพราะที่ผ่านมาหุ้นก็วิ่งขึ้นลงตามดัชนีค่าระวางเรือที่ผันผวนมาตลอด การจะทำกำไรจากหุ้นเรือได้คงต้องเข้าใจธุรกิจนี้เป็นอย่างมากพอที่บอกได้ว่าค่าระวางเรือจะเป็นอย่างไหรในอนาคต (ซึงยากเอามากๆ) อย่าลืมนะครับ สำหรับหุ้นที่เป็นวัฏจักร (พวกเรือ เคมี ปิโตรเลียม ฯลฯ) อย่าเผลอไปใช้ pe ในการประเมินราคา ไม่งั้นเดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน

การวัดราคาหุ้นด้วย P/E ratio

Yoyo’s Value Investing Way

โดย สันติ สิงหวังชา

Author: admin

2 thoughts on “การวัดราคาหุ้นด้วย P/E Ratio : สันติ สิงหวังชา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.