การทำใจในการลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถ้ารักจะเป็น Value Investor แล้ว จะต้องรู้จัก “ทำใจ” ในหลายๆเรื่อง ใหม่ๆอาจจะรู้สึกกระวนกระวายใจและอาจทำไม่สำเร็จ แต่ถ้าฝึกไปเรื่อยๆก็จะทำได้เองและจะทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ และผลดีก็จะตามมา ต่อไปนี้เป็นบางสิ่งบางอย่างที่ผมคิดว่านักลงทุนควรจะฝึก “ทำใจ”
.
เรื่องแรกก็คือ อย่าตื่นเต้นหรือดีใจเกินไปเวลาหุ้นวิ่งขึ้นไปรวดเร็วและรุนแรง เช่นเดียวกับที่อย่าตกใจขวัญเสียเวลาหุ้นตกหนักในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะทำให้เราตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นบ่อย และที่สำคัญก็คือ ผิดเวลา ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นรับประกันว่าจะทำให้เรากระเป๋าฉีกแน่นอน
.
ใกล้เคียงกับข้อแรกก็คือ อย่าเฝ้าจอหุ้นหรือติดตามราคาหุ้นใกล้ชิดเกินไป เพราะจะทำให้เราตาลายและสับสน เช่นเดียวกัน เราไม่ควรฟังข่าว ทั้งที่เป็นข่าวจริงหรือข่าวลือในห้องค้าเกินความจำเป็น เพราะหูจะอื้อ และเมื่อเราหูอื้อและตาลายพร้อมกัน ก็มีโอกาสสูงที่เราจะทำอะไรโดยไม่ได้คิดได้ง่าย ซึ่งการลงทุนที่ไม่ได้คิดอย่างรอบคอบนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับนักมวยที่เมาหมัด เดินเข้าหาคู่ต่อสู้โดยไม่ได้ป้องกันตัว
.
เรื่องที่ควรทำใจข้อสามก็คือ การยอมรับว่าเราไม่สามารถคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นได้ และไม่มีใครสามารถทำได้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นการลงทุนโดยอิงกับการคาดการณ์ภาวะตลาดจึงไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ การทำใจในเรื่องนี้บางทีก็เป็นเรื่องยาก เพราะเรามักจะคิด “เข้าข้างตัวเอง” ว่าเรารู้และคาดได้ถูกมากกว่าผิด เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าเวลาคาดถูก เรามักจะภูมิใจ ดีใจ และจดจำ ส่วนเวลาที่คาดผิด เรามักจะเสียใจและพยายามลืม ซึ่งทำให้สมองเราเก็บสถิติที่ผิดพลาดนึกว่าเราแน่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่
.
เรื่องที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจและติดตามกันมากในช่วงนี้ก็คือ การซื้อหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศซึ่งซื้อติดต่อกันมาหลายเดือนนับได้เกือบแสนล้านบาทเข้าไปแล้ว (2548) แต่ผมกลับคิดว่า Value Investor ควรจะทำใจไม่ให้สนใจกับเรื่องนี้ เพราะการซื้อหุ้นสุทธิของ “ฝรั่ง” นั้น ถึงแม้ว่ามักจะทำให้ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้น แต่ปัญหาก็คือ เราไม่รู้ว่าวันไหนฝรั่งจะซื้อหรือขายมากน้อยแค่ไหน เรารู้ต่อเมื่อเขาซื้อหรือขายเรียบร้อยแล้ว เรามักจะซื้อทีหลังและขายทีหลัง
.
ทุกครั้งที่สถาบันลงทุนชื่อดังจากต่างประเทศให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนใจตลาดหุ้นไทย และจะเพิ่มน้ำหนักการลงทุนนั้น เชื่อผมเถอะครับว่าเขาซื้อไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราลงทุนโดยดูการซื้อขายของเขา เราน่าจะเป็น “เหยื่อ” มากกว่าที่จะเป็นคนตกปลา
.
เรื่องที่ห้าสำหรับ Value Investor ที่ควรจะทำใจ ก็คือ การลงทุนหุ้นนั้นจะให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีในระยะยาว 4-5 ปีขึ้นไป แต่ในระยะสั้นแล้วอาจจะเลวร้ายหรือดีเยี่ยมก็ได้ แต่ไม่ว่าในกรณีใด การลงทุนในหุ้นไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้คนรวยในชั่วข้ามคืน ถ้าอยากจะรวยด้วยหุ้นแบบปลอดภัย ผมคิดว่าต้องศึกษาการลงทุนมาเป็นอย่างดี และต้องลงทุนต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบๆปีขึ้นไป การคิดหวังรวยทางลัดในตลาดหุ้นนั้นผมคิดว่าร้อยละ 99 ขาดทุนและเสียหายหนัก
.
นอกจากทำใจว่า การลงทุนหุ้นไม่สามารถจะรวยได้เร็วเหมือนการเก็งกำไรหรือการพนันอย่างอื่นแล้ว ควรทำใจว่าผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของเราน่าจะอยู่ในระดับไม่เกิน 10-15% โดยไม่ต้องสนใจว่าคนเล่นหุ้นหรือนักลงทุนคนอื่นจะได้กำไรมหาศาลแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงสั้นๆไม่เกินปีหรือสองปี เพราะการพยายามไปเปรียบเทียบกับคนที่กำลังประสบความสำเร็จในช่วงสั้นๆ จะทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าวิธีการของเราผิดและวิธีการของเขาถูก ซึ่งอาจจะไม่ใช่
.
ถ้าจะให้สรุปสำหรับข้อห้าและหกก็คือ นักลงทุนควรจะทำใจให้รู้จักกับความพอใจและเพียงพอในการลงทุน ไม่โลภหวังรวยโดยการเสี่ยงหรือเก็งกำไรในสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนพอ
.
อย่างไรก็ตาม การทำใจในเรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าผลตอบแทนของเราไม่มีทางที่จะดีเลิศได้เลย เพราะในความเป็นจริงนั้น มหัศจรรย์สามารถเกิดขึ้นได้กับพอร์ตการลงทุนที่เจ้าของยึดหลักความพอเพียง เท่าๆกับพอร์ตที่เน้นการลงทุนแบบหวังรวยเร็วเหมือนกัน
.
การทำใจที่สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งสำหรับ Value Investor ก็คือ การเชื่อว่าราคาหุ้นที่เราลงทุนไว้นั้นในระยะยาวจะขึ้นหรือลงตามกำไรของกิจการ ผลตอบแทนของการลงทุนของเราจะดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุน ถ้าเราทำใจในเรื่องนี้ได้ เราก็จะไม่กระวนกระวายหรือเสียใจเวลาที่ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไปแรง ในขณะที่พอร์ตหุ้นของเราไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม เช่นเดียวกัน เราก็จะไม่เห็นเหตุผลหรือรู้สึกว่าจะต้องปรับพอร์ตตามภาวะตลาด
.
ต่อเนื่องจากเรื่องของกำไรกับราคาหุ้นก็คือ เราควรทำใจให้ได้ว่า การลงทุนซื้อหุ้นในตลาดนั้นก็คือการลงทุนในธุรกิจ เราซื้อหุ้นก็คือการซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะมีค่ามากขึ้นมากมายในเวลาไม่กี่วัน เช่นเดียวกัน เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะมีค่าตกต่ำลงมากมายในชั่วข้ามคืน ดังนั้น การซื้อหรือขายธุรกิจโดยอิงกับความผันผวนของราคาหุ้นในช่วงสั้นๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล
.
การทำใจเรื่องที่เก้าก็คือ การทำใจไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นที่ดูเหมือนจะสามารถทำกำไรได้ง่ายในระยะเวลาอันสั้น แต่หุ้นนั้นพิจารณาจากพื้นฐานแล้วไม่มีความคุ้มค่าที่จะซื้อเลย นี่ก็คือหุ้นที่อาจจะกำลังมี “ข่าวดี” หรือกำลังจะมี “คนเล่น” หรืออะไรก็แล้วแต่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อดใจได้ยาก แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าที่จะทำ บางครั้งเราอาจจะได้กำไรมากกว่าขาดทุน แต่มันจะไม่เปลี่ยนแปลงขนาดของพอร์ตอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถ้าเราทำบ่อยๆ เราจะ “หลงทาง” และหลุดจากเป้าหมายหลักของการสร้างพอร์ตในระยะยาว
.
สุดท้ายแต่ไม่ใช่เรื่องสุดท้ายที่จะต้องทำใจก็คือ เมื่อเราประสบความสำเร็จในการลงทุนมา 2-3 ปี ก็อย่าเพิ่งเชื่อว่าเราจะชนะต่อไปเรื่อยๆด้วยวิธีการลงทุนที่ทำอยู่ เรามีโอกาสที่จะประสบกับความเลวร้ายเสมอและวันหนึ่งเราก็จะเจอ อย่าเชื่อว่าวิธีการที่ทำอยู่จะถูกต้อง จนกว่าคุณจะใช้มาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีขึ้นไป และมันสร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจมาอย่างสม่ำเสมอ
.
การทำใจในการลงทุน
.
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
.
25 มกราคม 2548
Author: admin

1 thought on “การทำใจในการลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.