กฏของการลงทุน : วิบูลย์ พึงประเสริฐ

ตลาดหุ้นในรอบปีที่ผ่านมา จากจุดต่ำสุดในช่วงเดือนตุลาคมเมื่อปีที่แล้วจนถึงจุดสูงสุด 726 จุดในเวลานี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ค่อนข้างสับสนว่าตลาดหุ้นจะไปทิศทางไหนต่อไป บ้างคิดว่าตลาดหุ้นจะตก จึงขายหุ้นออกไปก่อนแต่ปรากฏว่าดัชนีกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเวลาของความผันผวนเช่นนี้ บทความของ บล.อเบอร์ดีน ได้กล่าวถึงกฏของการลงทุนไว้หลายข้อที่น่าสนใจดังนี้

– มองการณ์ไกล ราคาหุ้นมีส่วนประกอบสองส่วนคือ ความผันผวนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และผลลัพธ์จากผลประกอบการของบริษัท ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆตามความผันผวนของตลาด แต่ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นมักเป็นไปตามผลประกอบการของบริษัท นักลงทุนควรมีระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม ถ้าคิดว่าโรงงานของบริษัทสามารถทำผลตอบแทนได้ภายในสิบปี การลงทุนในหุ้นควรจะใช้ระยะเวลาเท่าๆกัน

– แยกให้ออกระหว่างการพนันและการลงทุน บางครั้งเราอยากจะสนุกสนานบ้างเป็นครั้งคราว การเล่นพนันอาจเป็นข้ออ้างที่ดีสำหรับวันหยุด แต่ถ้าคุณเล่นหุ้นแบบการพนัน คุณอาจจะประสบปัญหาได้ การลงทุนให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด และบางครั้งอาจจะดูน่าเบื่อเสียด้วยซ้ำไป การลงทุนต้องอาศัยทั้งวินัยและการศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นกว่าการลุ้นโชคจากการพนัน แต่สำหรับการลงทุนแล้ว จำไว้ว่าเจ้าของคาสิโนมักทำกำไรได้มากกว่าคนเล่นเสมอ

– ต้องกล้าสวนกระแส คนเรามักชอบคิดและทำสิ่งที่เหมือนกับคนอื่นๆ มันทำให้เรารู้สึกดีและไม่แตกต่าง แต่บางครั้งพฤติกรรมเช่นนี้อาจทำให้เราตกอยู่ในอันตรายได้ เช่นการวิ่งหนีออกทางประตูฉุกเฉินพร้อมๆกับฝูงชนอาจทำให้คุณถูกเหยียบตายได้ ในตลาดหุ้นก็เช่นเดียวกัน การซื้อหรือขายหุ้นทีหลังคนอื่นๆเป็นสิ่งที่สร้างผลตอบแทนได้แย่มาก วอร์เรน บัฟเฟต ถึงบอกว่า “ให้กลัวเมื่อคนอื่นกำลังโลภ และให้โลภเมื่อคนอื่นกำลังกลัว”

– หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่เข้าใจ โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยความซับซ้อน บางครั้งเราอาจสับสนในเทคโนโลยีหรือไม่ก็พบกับอะไรที่ยุ่งยากเกินความเข้าใจ ในการลงทุน สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงสิ่งที่คุณซื้อ อย่างน้อยสิ่งนั้นควรทำให้คุณนอนหลับสนิท ให้คิดว่าหุ้นก็เหมือนกับหนังสือที่คุณอ่าน ถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มนั้นไม่เข้าใจก็วางมันลงซะ  ปีเตอร์ ลินซ์ บอกว่า ถ้าคุณลงทุนในบริษัทใดแต่คุณไม่สามารถอธิบายบริษัทนั้นได้ด้วยประโยคสองสามประโยค แสดงว่าคุณไม่เข้าใจมันดีพอ

– รู้ความแตกต่างระหว่างราคาและมูลค่า ในโลกรอบตัวเรา ความแตกต่างระหว่างราคาและมูลค่าอาจสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น รถยนต์ราคาคันละหนึ่งล้านบาทเมื่อเทียบกับเสื้อผ้าชุดละหนึ่งล้านบาท ในกรณีนี้รถยนต์มีมูลค่ามากกว่าแน่ๆ แต่ในโลกของการลงทุน ความแตกต่างของราคาและมูลค่าไม่ได้ชัดเจนเช่นนี้ การวัดมูลค่าทางเศรษฐศาตร์หรือมูลค่าของกิจการบริษัทบางครั้งอาจต้องประเมินทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนที่ขึ้นกับผู้ประเมินแต่ละคนว่าจะมีความคิดเห็นเช่นไร ฟิลิป ฟิชเชอร์ นักลงทุนระดับตำนานท่านหนึ่งกล่าวว่า ในตลาดหุ้นเต็มไปด้วยผู้คนที่รู้จักราคาของทุกสิ่ง แต่กลับไม่รู้มูลค่าของสิ่งไหนเลย

– ยอมรับเถอะว่าตลาดหุ้นฉลาดกว่าเรา ความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปอาจเป็นผลเสียในการลงทุน คุณอาจคิดว่าคุณมีความสามารถในการทำนายทิศทางของตลาดหรือราคาหุ้นใดหุ้นหนึ่งได้ แต่อย่าลืมว่ามีคนอีกเป็นแสนเป็นล้านที่ทำแบบเดียวกันอยู่ ให้ถามตัวเองว่าเราฉลาดกว่าคนเหล่านั้นจริงๆหรือ จอห์น เมย์นาด เคนส์ บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ยังบอกว่า “การลงทุนให้ประสบความสำเร็จคือการทำนายความคาดหวังของผู้อื่น”

จะเห็นว่ากฏต่างๆเหล่านี้ยังใช้ได้ดีกับทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม

กฏของการลงทุน
วิบูลย์ พึงประเสริฐ
Value Way
วันที่ 5 ตุลาคม 2552

Author: admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.